ย้ายไปประเทศไหน มีโอกาสทำงานแค่ 4 วัน/สัปดาห์? รวมประเทศที่เริ่มพูดเรื่องลดเวลางาน

ย้ายประเทศ ไปไหนดี? บทความนี้มีคำตอบ มาดูกันว่ามีประเทศไหนที่เริ่มพูดเรื่องลดเวลางานเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ แล้วบ้าง เพื่อเป็นอีก 1 ทางเลือกในการตัดสินใจย้ายประเทศ

ย้ายประเทศ

ย้ายประเทศ ไปไหนดี? ลองดูประเทศที่ทำงานกันแค่ 4 วัน/สัปดาห์ ไหม

หลังจากโควิด-19 ทำให้สังคมการทำงานเปลี่ยนไป จากที่ทำงานที่ออฟฟิศมีเวลาเข้าออกตายตัว เราหันมาสู่ work from home มีเวลาเข้าออกงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้นแต่งานก็สำเร็จออกมาได้ไม่ต่างจากเดิม

เราจึงได้รู้ว่าในท้ายที่สุดสิ่งสำคัญของการทำงานคือ ‘ผลลัพธ์’ ที่ทำได้ ไม่ใช่จำนวน ‘ชั่วโมง’ ที่ทำงาน 

สังคมจึงเคลื่อนตัวไปสู่อีก 1 สเต็ปของการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น นั่นคือ การลดเวลาทำงานเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ ที่หลายๆ ประเทศกำลังทดลองอยู่ตอนนี้ ถ้าคุณกำลังอยาก ย้ายประเทศ เก็บชื่อประเทศเหล่านี้ไว้ในลิสต์ก็อาจดีไม่น้อย

ย้ายประเทศ ไปประเทศเหล่านี้ ดียังไง?

หลายๆ ประเทศต่างก็ทดลองลดเวลาทำงานเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ ด้วยหลายๆ เหตุผล เช่น

  • ลดปัญหาสุขภาพจิตจากวัฒนธรรมเสพติดงานหนักที่มีอยู่ทั่วโลก (เช่น 996 ในจีน Karoshi ในญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐฯ) เปิดโอกาสให้ได้พักผ่อนมากขึ้น
  • ส่งเสริมสายสัมพันธ์ในสังคม ชุมชน ครอบครัว ไปจนถึงชีวิตรัก ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของมนุษย์ที่หายไปจากการทำงานหนัก
  • แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จากการลดปริมาณการเดินทาง

หรือถ้าจะพูดง่ายๆ การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ในแง่มุมอื่นๆ ที่หายไปเพราะการทำงาน

family
Photo by Nikola Saliba on Unsplash

ย้ายประเทศ ก็ไม่ต้องกลัว แม้ลดเวลาทำงานแต่เศรษฐกิจยังแกร่ง

หลายคนอาจกังวลในเรื่องผลิตภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงหลังลดเวลาการทำงานลง แต่การทดลองการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ที่เกิดขึ้นแล้วในบางประเทศ บางอุตสาหกรรม และ บางบริษัท บ่งชี้ว่าผลิตภาพการทำงานอาจเพิ่มขึ้นจากการทำงานน้อยลง เพราะคนมีเวลาได้ไปฟื้นฟูกายและใจ สะสางปัญหาส่วนตัว รวมถึงพัฒนาศักยภาพมากขึ้น

ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าเรายังต้องการการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเพราะนี่เป็นเพียงผลการทดลองในบางประเทศ บางอุตสาหกรรมเท่านั้น

ลดเวลาทำงานได้ เมื่อก่อนคนทำงานกัน 6-7 วัน/สัปดาห์

แม้สังคมจะมีข้อกังวล แต่เรามีตัวอย่างในภาพใหญ่ในอดีต ที่ยืนยันว่าการลดเวลาการทำงานลงอาจช่วยเพิ่มผลิตภาพได้ โดยย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

เดิมทีในช่วงเวลานั้น เราทำงานกัน 6 วัน/สัปดาห์ ไม่ใช่ 5 อย่างในปัจจุบัน แต่ Henry Ford หรือเจ้าของบริษัทยานยนต์ชื่อก้องโลกอย่าง Ford กล้าที่จะริเริ่มลดเวลาทำงานเหลือ 5 วัน 

และผลลัพธ์ที่ออกมาคือคนทำงานได้ดีขึ้น และทำสำคัญคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเนื่องจากมีเวลาใช้ชีวิตในแง่มุมอื่นๆ มากขึ้น จนกลายเป็นธรรมเนียมการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ถึงทุกวันนี้

Photo by Alex Kotliarskyi on Unsplash

แน่นอนว่าเมื่อการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้เช่นกันหากเราพบว่ารูปแบบการทำงานแบบอื่นให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า (ทั้งในด้านผลิตภาพการทำงาน สุขภาพจิต สังคม หรือสิ่งแวดล้อม) 

วันนี้เราเลยจะมาลองดูกันว่า แล้วมีประเทศไหนในโลกนี้ที่ตอนนี้กำลังทดลองหรือพูดถึงในวงกว้างเกี่ยวกับการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เผื่อว่าใครอยาก ย้ายประเทศ จะได้เก็บเรื่องนี้เอาไว้เป็น 1 (จากหลายๆ) ปัจจัยในการเลือกจุดหมายปลายทางที่อยากไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

7 ประเทศ ที่เริ่มพูดถึงการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์

1. ไอซ์แลนด์

ไอซ์แลนด์ คือ ประเทศแรกๆ ที่ทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ โดยไม่ลดเงินเดือน ซึ่งการทดลองนี้ริเริ่มโดยหน่วยงานปกครองเมือง Reykjavik (เมืองหลวงของไอซ์แลนด์) ทดลองกับคนกว่า 25,000 คน หรือ 1% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ในช่วงเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2015-2019

Iceland

ผลลัพธ์คือประสิทธิภาพการทำงานไม่ต่างจากเดิมและอาจดีกว่าในบางกรณี แต่สิ่งสำคัญคือความเครียด ความกังวล และภาวะหมดไฟของพนักงานลดลงอย่างมาก โดยที่ผู้ร่วมทดลองบอกเองว่าตนรู้สึกมี Work-Life Balance มากขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อโปรเจกต์เริ่มโดยภาครัฐและผลลัพธ์ก็ออกมาดี โอกาสที่เราจะได้เห็นการทำงานรูปแบบนี้ในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต

2. ญี่ปุ่น

ได้ยินไม่ผิด รัฐบาลญี่ปุ่นมาการเสนอให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จริงๆ 

แม้ว่าเราจะคุ้นกับภาพว่าคนญี่ปุ่นจงรักภักดีกับองค์กรและทุ่มทุกอย่างให้กับบริษัท แต่ทุกวันนี้ภาพนั้นเริ่มเปลี่ยนไปทีละน้อย เพราะมีรายงานว่าคนญี่ปุ่นสมัยใหม่ทำงานลดลงเรื่อยๆ ในปี 2020 คนญี่ปุ่นทำงานเพียง 1,811 ชั่วโมง/ปี ลดลงจากปี 2018 ถึง 116 ชั่วโมง ที่สำคัญยังลดลงมาถึง 3 ปี ติดต่อกัน

ญี่ปุ่น Japan
Image by Jason Goh from Pixabay

Karoshi หรือ การทำงานหนักจนตาย ในญี่ปุ่นคือหนึ่งสิ่งที่ทำให้ รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอให้มีการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ 

แต่นอกเหนือจากนั้น รัฐบาลยังมองว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จะช่วยให้พนักงานสามารถเติมเต็มด้านอื่นๆ ในชีวิต (เช่น ครอบครัว) และช่วยลดปัญหาสังคมสูงวัยและการเกิดที่ลดลงจากการที่ประชากรวัยหนุ่มสาวได้ออกมาพบปะกัน

3. ฟินแลนด์

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Sanna Marin นายกรัฐมนตรีหญิงของฟินแลนด์นำเสนอนโยบายการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ วันละ 6 ชั่วโมง ให้กับประชาชนร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก

เธอให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์จะเป็นการยกระดับการทำงานของชาวฟินแลนด์ไปอีกขึ้น และยังระบุต่อไปว่า ผู้คนควรมีเวลากับครอบครัว คนรัก งานอดิเรก และการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างแง่มุมอื่นๆ ของชีวิต เช่น ด้านวัฒนธรรม

น่าสนใจว่าข้อเสนอลดเวลาทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ กลายเป็นที่พูดถึงในการเมืองกระแสหลักของฟินแลนด์เป็นที่เรียบร้อย ดังนั้น หลังจากนี้ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นความก้าวหน้าในประเด็นนี้ต่อไป

4. สเปน

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลสเปนอนุมัติให้มีการนำร่องทดลองลดเวลาทำงานลงเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ ในสเกลใหญ่ระดับประเทศเป็นระยะเวลา 3 ปี ร่วมกับบริษัทต่างๆ ที่สนใจ 

โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า มีบริษัทนับร้อยตั้งใจจะเข้าร่วมการทดลองนี้

อย่างไรก็ตาม กระแสนี้เป็นที่พูดถึงมาแล้วสักพักในสเปน ก่อนหน้านี้ พรรค Más País ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายในสเปนเคยมีการเสนอให้ทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด 

โดยพรรค Más País ก็ได้ออกมาย้ำอีกครั้งในภายหลัง ว่าการปรับตัวหลังการระบาดในโลกของการทำงาน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราสามารถยืดหยุ่นได้มากแค่ไหนในการทำงาน

5. เยอรมนี

เชื่อว่าหลายๆ คนชอบไปและอยากไปเยอรมนี เพราะนี่คือประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ต่ำสุดในยุโรป โดยชาวเยอรมันทำงานแค่ 34.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือพูดง่ายๆ คือ 1 วัน ทำงานไม่ถึง 7 ชั่วโมง

และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เยอรมนีก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการถกเถียงเรื่องการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ อย่างในปี 2020 IG Metall สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีมีการเรียกร้องให้ลดเวลาการทำงานลงเหลือ 4 วัน/สัปดาห์

(Photo by Sean Gallup/Getty Images)

ด้วยเหตุผลที่ว่าโควิดทำให้บริษัทจำเป็นต้องลดการจ้างงานลง และการลดเวลาทำงานก็จะช่วยให้ลดการจ้างงานลง (ในแง่จำนวนเวลาที่จ้าง) ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการไล่ออก 

อย่างไรก็ตาม ในเยอรมนีความก้าวหน้าในเรื่องนี้หากเทียบกับประเทศอื่นก็ถือว่ายังน้อยกว่าจึงต้องจับตาดูกันต่อไป

6. สหราชอาณาจักร

ตอนนี้ในอังกฤษมีองค์กรขับเคลื่อนเรื่องการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ โดยเฉพาะ คือ 4 Day Week Campaign ซึ่งล่าสุดมีความร่วมมือกับ Platform London องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาผลกระทบเชิงบวกของการลดเวลาทำงานที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

London ลอนดอน สหราชอาณาจักร อังกฤษ UK England
ภาพจาก Shutterstock

การศึกษาดังกล่าวระบุว่า หากเริ่มต้นการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ได้ภายในปี 2025 จะช่วยลดการใช้พลังงานในออฟฟิศและระบบขนส่งได้มหาศาล ตีเป็นตัวเลขคือลดคาร์บอนได้กว่า 127 ล้านตัน

หรือพูดง่ายๆ คือ 20% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด เทียบเท่ากับการยกเลิกการใช้รถยนต์ส่วนตัวทั้งหมดในอังกฤษ

นอกจากจะมีความเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษหลายคนสนับสนุนประเด็นนี้เช่นกัน โดยพวกเขาพยายามชี้ให้สังคมเห็นว่าการทำงาน 4 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีประโยชน์หลายด้าน

Caroline Lucas สส. อังกฤษจากพรรคกรีนกล่าวว่า การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมาก ช่วยพัฒนาสุขภาพ (ทั้งกายและใจ) ของผู้คน แถมยังทำให้คนได้กลับไปสู่สังคมและชุมชนมากขึ้น  

7. สกอตแลนด์

นี่คือรายล่าสุดที่มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ โดยรัฐบาลสกอตแลนด์เพิ่งจะอนุมัติงบประมาณกว่า 10 ล้านปอนด์ (445 ล้านบาท) ด้วยแรงสนับสนุน 9/10 เพื่อทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ โดยไม่ลดเงินเดือน ร่วมกับบริษัทต่างๆ

เงินจำนวน 10 ล้านปอนด์ จะถูกใช้ไปกับการศึกษาประโยชน์และต้นทุนสำหรับการย้ายไปทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลสกอตแลนด์ต้องทดลองลดวันทำงาน เพราะในช่วงการระบาดทุกคนก็แสดงให้เห็นแล้วว่าหากคิดจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจริงๆ (เปลี่ยนมา work from home) ก็สามารถทำได้ การเปลี่ยนมาทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้เช่นกัน

สถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายสาธารณะ (IPPR) ในสกอตแลนด์ ยังบอกอีกว่า ผู้คนกว่า 80% เชื่อว่าการลดวันทำงานลงโดยไม่ลดเงินเดือนน่าจะช่วยให้ความเป็นอยู่ของคนทำงานดีขึ้น

นอกจากนี้ กว่า 65% ยังเชื่อว่าหากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้น ผลิตภาพทางเศรษฐกิจของสกอตแลนด์จะดีขึ้น ทั้งนี้เพราะปัจจุบันเราเริ่มเปิดกว้างกันว่าผลงานที่ดีไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักเท่านั้นแต่เริ่มต้นจากสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย

ที่มา – DW, The Guardian

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา