SCBX เปิดผลกำไรครึ่งปีแรกปีนี้ 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8%

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ของปี 2023 จำนวน 11,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของฐานรายได้อย่างแข็งแกร่งและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2023 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ กลุ่ม SCBX ยังคงวางรากฐานในการเติบโตในระยะต่อไป ล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อร่วมขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาในประเทศไทย และแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดได้เปิดตัวธุรกิจบริการเรียกรถ (Ride Hailing) นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรก มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท 

ผลประกอบการของบริษัทฯ ครึ่งปีแรกของปี 2023 มีจุดสำคัญดังนี้

กำไรสุทธิอยู่ที่ 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ แม้จะมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ที่ 59,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ: NIM อยู่ที่ 3.58% จาก 3.13% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022)

รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ อยู่ที่ 21,950 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและค่าธรรมเนียมจากการขายประกันที่ลดลง

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 33,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร และการขยายสาขาของบริษัทย่อย

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 93,028 ล้านบาท ลดลง 9.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.25% ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 3.32% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2023

ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ของปี 2023 บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองในเชิงรุกจำนวน 12,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อรองรับการดำเนินงานของธุรกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกันภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเปราะบาง มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 170.6% 

ที่มา – SCBX, SET 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา