2 วันติด! รัฐบาลไทย เจรจาหัวเว่ยลงทุนดิจิทัล ชวนไมโครซอฟท์ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคในไทย

รัฐบาลไทย เดินหน้าจูงใจบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกสำเร็จ หลัง หัวเว่ย ยืนยันลงทุนในไทยต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ด้าน ไมโครซอฟท์ ประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคในประเทศไทยในวันที่ 1 พ.ค. แต่ยังไม่บอกงบลงทุน การจ้างงาน และช่วงเวลาเปิดให้บริการ

หัวเว่ย
ภาพจาก รัฐบาลไทย

รัฐบาลไทย ดึงบริษัทเทคฯ ระดับโลกลงทุนในไทย

ไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริษัท หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าพบนายกรัฐมนตรีประเทศไทย พร้อมแจ้งว่า บริษัทร่วมมือกับไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบ Cloud ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และปลอดภัย พัฒนาบุคลากรในภาคการศึกษา รวมถึงพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

“หัวเว่ย ยืนยันให้ความสำคัญกับประเทศไทย และจะยังคงลงทุนในไทยต่อเนื่อง พร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล ทั้งเรื่องรัฐบาลดิจิทัล การนำเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการพัฒนาเมือง และการท่องเที่ยว อย่างอัจฉริยะและปลอดภัย” ไซมอน หลิน กล่าวเมื่อพบเจอนายกรัฐมนตรีวันที่ 30 เม.ย. 2024

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประเทศไทย เสริมว่า รัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญของบริษัทหัวเว่ย และเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของบริษัท พร้อม ขอบคุณในความเชื่อมั่นที่บริษัทมีต่อรัฐบาล และยืนยันการขยายการลงทุน และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคต

ไมโครซอฟท์
ภาพจาก ไมโครซอฟท์

ต่อมา (วันที่ 1 พ.ค. 2024) สัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการ และซีอีโอของไมโครซอฟท์ เดินทางมาประเทศไทย พร้อมแจ้งว่า ประเทศไทยมีศักยภาพโดดเด่น และโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล และ AI จึงเตรียมเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

แผนงานของไมโครซอฟท์ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครอบคลุมถึงการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์ในสเกลใหญ่ของไมโครซอฟท์ให้กว้างขวาง และทั่วถึงยิ่งขึ้น ทั้งยังรองรับมาตรฐานของประเทศไทยด้านการจัดเก็บ และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วน

ไมโครซอฟท์
ภาพจาก รัฐบาลไทย

แผนการขยายโครงสร้างพื้นฐานนี้ สอดรับกับแนวโน้มความต้องการใช้งานบริการคลาวด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ทั้งจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และหน่วยงานของภาครัฐ และยังจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คู่ไปกับการเสริมประสิทธิภาพการใช้งาน AI

ทั้งนี้แผนงานด้านการเสริมทักษะของไมโครซอฟท์ในระยะแรกจะช่วยยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน ภายในปี 2025 และปี ปี 2023 มีนักพัฒนาในประเทศไทยรวมกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน

เดือน พ.ย. 2023 รัฐบาลไทย และไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา