เลิกงานเเต่ไม่เคยเลิกทำงาน เมื่อการทำงานสมัยใหม่ทำให้เราหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้

ไม่ว่าจะเริ่มต้นวันด้วยการปิดนาฬิกาปลุก ขับรถไปทำงาน แตะบัตรโดยสารรถไฟฟ้า หรือจัดตารางการประชุม ทุกขั้นตอนใน 1 วันมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนนอกจากการหา Work-Life Balance แล้ว เราอาจยังต้องมาหาวิธีสร้าง Tech-Life Balance ด้วยที่ตอนไหนควรใช้เทคโนโลยี ตอนไหนควรห่างกันสักพัก

เช่นเดียวกับการทำงาน หลายคนมองว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยเพิ่ม Productivity ให้คนทำงานน้อยลงและมีเวลาไปใช้ชีวิต แต่ในทางกลับกัน ก็เพราะเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อปหรือเปล่า? ที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องพร้อมทำงานทุกที่ทุกเวลาจนแม้แต่วันหยุดก็ยังไม่ได้พัก

Leslie Perlow เจ้าของหนังสือ “Sleeping with Your Smartphone” พูดถึง Cycle of Responsiveness หรือการที่เทคโนโลยีสร้างความสะดวกสบายในการสื่อสารจนทำให้พนักงานรู้สึกถึงความคาดหวังว่าจะต้องพร้อมตอบสนองต่องานตลอดเวลาว่าเป็นหัวใจของการเสพติดการทำงาน

Cycle of Responsiveness เริ่มจากการทำงานที่เข้าถึงได้ง่ายผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนจนสร้างความรู้สึกกดดันว่าเราจะต้องพร้อมตอบ พร้อมทำตลอดเวลา นำไปสู่ความพยายามและการปรับเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมกับการทำงานจนละเลยชีวิตด้านอื่นไป เช่น อยู่ทำงานดึกจนต้องล้มเลิกความคิดที่จะออกกำลังกายตอนเย็น หรือยกเลิกเเพลนไปเที่ยวเพราะมีงานด่วนเข้ามา

เมื่อเราตอบสนองได้ตลอดเวลาก็จะยิ่งทำให้เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าเกิดความคาดหวังและมาตรฐานใหม่ว่าถ้าทักปุ๊ป ก็ต้องตอบปั๊ปแน่นอนกลายวัฒนธรรมการทำงานตลอดเวลาที่ส่งต่อกันทุกหัวระแหงในที่ทำงาน

Leslie Perlow ยกงานวิจัยหลายชิ้นเพื่อชี้ให้เห็นว่าพนักงานที่ทำงานในองค์กรที่คาดหวังสูงในเรื่องการตอบสนองเรื่องงานมีความวิตกกังวลบ่อยกว่าเพราะคิดว่าเดี๋ยวเพื่อนร่วมงานจะต้องติดต่อมาหลังเวลาเลิกงานแน่นอน พวกเขายังมีสุขภาพแย่ลง เเละที่เเย่ก็คือเรื่องนี้ลามไปหาคู่สมรสที่วิตกกังวลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

จากผลเสียของการเสพติดการทำงานจากเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อง่ายขึ้น บริษัทและพนักงานจึงควรหยุด Cycle of Responsiveness ที่นำไปสู่การทำงานตลอดเวลาโดยเริ่มต้นได้ด้วยหลายวิธี

  • หยุดพักก่อนที่จะรู้สึกว่าต้องหยุด ในหนังสือ “Never Not Working” ของ Malissa Clark ผู้เขียนได้พูดถึงงานวิจัยด้านจิตวิทยาในองค์กรว่า การหยุดพักจากการทำงานเสียก่อนที่จะรู้สึกว่าต้องหยุดได้แล้วช่วยทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนฝั่งบริษัทก็อาจเพิ่มการแจ้งเตือนพนักงานเรื่องการทำงานเกินเวลาได้ เช่น ถ้ามีคนกดส่งอีเมลหลังเวลางาน อาจทำป๊อปอัพแจ้งเตือนด้วยข้อความอย่าง “แน่ใจว่าจะส่งอีเมลนี้จริงเหรอ เพราะตอนนี้เลยเวลางานแล้วนะ”
  • ฝึกสมาธิ หลายครั้งเมื่อถึงเวลาพักผ่อน เราเขวไปกับเสียงแจ้งเตือนงานที่ขึ้นมาไม่เว้นแม้แต่วันหยุด สิ่งที่ทำได้ คือ การฝึกสมาธิให้จดจ่อกับการพักผ่อน ปล่อยวางเรื่องงานในเวลาที่ไม่สมควรทำงาน ส่วนในมุมของบริษัท ในหนังสือ “ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน” ที่แปลมาจากหนังสือ “It Doesn’t Have to Be Crazy at Workของ Jason Fried และ David Heinemeier Hansson พูดถึงการที่บริษัทรบกวนสมาธิของพนักงานจากการประชุมที่กินเวลายาวนานหลายชั่วโมง จนทำให้พนักงานถูกขัดจังหวะการทำงานอยู่เป็นระยะ ๆ อาจลองลดเวลาประชุมที่ไม่จำเป็นลง แต่ใช้วิธีอื่นอย่างการเขียนอัปเดตแล้วค่อยให้พนักงานมาอ่านแทน
  • ปิดการแจ้งเตือน การปิดแจ้งเตือนในวันหยุดหรือหลังเวลางานช่วยให้ความวิตกกังวลและความเครียดจากการทำงานลดลง การเมินเฉยกับข้อความยังสามารถใช้ได้กับชีวิตประจำวันด้วยไม่เฉพาะกับเรื่องงาน ด้วยการเลือกตอบข้อความที่สำคัญแล้วเมินข้อความที่ทำให้ต้องกดดูโทรศัพท์โดยไม่จำเป็น วิธีนี้ยังรวมถึงการปิดการแจ้งเตือนจากแอปที่ไม่ได้ใช้ด้วย
  • ให้เวลากับกิจกรรมที่ชอบ ​​Alex Soojung-Kim Pang ผู้เขียนหนังสือ “Rest: Why You Get More Done When You Work Less” เสนอว่า การมีกิจกรรมยามว่างหรือการมีงานอดิเรกที่สนใจช่วยให้สมองได้พักจากเรื่องงาน และเติมพลังให้กับตัวเอง ง่าย ๆ ก็คือการเปลี่ยนโฟกัสไปยังของที่ตัวเองชอบจะเติมพลังให้เราได้เร็วขึ้นนั่นเอง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งานวิจัยชี้ว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเครียด เพิ่มพลังงาน และทำให้หาสมดุลของงานและชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น 

ที่มา – Forbes 1, Forbes 2

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา