Pandora ธุรกิจเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดในโลกประกาศใช้โลหะเงินและทองคำรีไซเคิล 100%

วงการเครื่องประดับยังรักษ์สิ่งแวดล้อม Pandora ประกาศไม่ขุดโลหะเงินและทองคำจากแหล่งใหม่มาทำเครื่องประดับแต่จะใช้การรีไซเคิล

Pandora ธุรกิจเครื่องประดับสัญชาติเดนมาร์กที่ทำยอดขายได้สูงที่สุดในโลกประกาศว่า บริษัทจะใช้โลหะเงินและทองคำที่ผ่านการรีไซเคิล 100% สำหรับคอลเลคชันเครื่องประดับต่อ ๆ ไป

Pandora ยืนยันว่าจะไม่ทำเหมืองขุดแร่เงินและแร่ทองให้ลึกลงไปกว่าเดิมเพื่อหาโลหะใหม่เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำเหมืองที่ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรมากกว่าการรีไซเคิล รวมทั้งทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารปรอท 

บริษัทวางแผนว่าในแต่ละปีจะใช้งบประมาณราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีสำหรับการซื้อโลหะรีไซเคิล มากกว่างบประมาณที่ใช้จากการซื้อโลหะที่ขุดใหม่ต่อปีที่เคยใช้

ในประกาศปี 2020 Pandora อ้างอิงข้อมูลจาก World Gold Council และองค์กรอื่น ๆ ระบุว่า การรีไซเคิลทองคำช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 99% เมื่อเทียบกับการทำเหมืองแร่ ขณะที่การรีไซเคิลเงินช่วยลดการปล่อยก๊าซได้ราว 66% เมื่อเทียบกับการทำเหมือง

แบรนด์แฟชั่นอื่นอย่าง Prada และ Monica Vinader เองก็เริ่มที่จะใช้โลหะจากการรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ออกมาเตือนว่าโลกะจากการรีไซเคิลอาจฟังดูดีกว่าความเป็นจริงก็ได้ อย่างเช่น Tiffany Stevens ซีอีโอของ Jewelers Vigilance Committee องค์กรด้านจริยธรรมของอุตสาหกรรมเครื่องประดับก็มองว่าคำว่า “ความยั่งยืน” และ “รีไซเคิล” มีความหมายไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับการตีความซึ่งตรงนี้เองที่อาจเป็นปัญหา

Tiffany Stevens มองว่า การใช้คำว่า “รีไซเคิล” อาจทำให้สินค้าดูเป็นเครื่องประดับที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่การใช้คำแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้คำตอบกับคนทั่วไปว่าแล้วธุรกิจจะใช้แร่ที่มาจากที่ไหนกันแน่ ทำให้องค์กรได้ยื่นเรื่องไปที่ FTC หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สั่งห้ามใช้คำว่า “รีไซเคิล” ในการอธิบายคุณสมบัติของเครื่องประดับที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา 

ประเด็นเรื่องการใช้คำว่ารีไซเคิลถูกพูดถึงในแนวทางการตลาดด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกโด FTC ปัจจุบันกำหนดว่า หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาจากวัสดุที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่หรือผ่านกระบวนการมาจากสิ่งที่เป็นขยะ การพูดว่าเป็นการรีไซเคิลทั้งทางตรงและทางอ้อมถือว่าเป็นการหลอกลวง โดยแร่ที่มีมูลค่าโดยทั่วไปแล้วไม่ได้ถูกมองว่าเป็นขยะเพราะถือว่าเป็นการนำไปละลายและนำกลับมาใช้ใหม่โดยที่ยังไม่สูญเสียมูลค่าเดิม

นอกจากนี้ การใช้คำว่ารีไซเคิลอาจเป็นการหลบหลีกปัญหาเรื่องที่มาของโลหะซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก หรือมีที่มาจากกิจกรรมอื่นที่ผิดกฎหมาย จะเป็นการฟอกขาวให้โลหะเหล่านี้ถูกหลักทางจริยธรรม

Alliance For Responsible Mining องค์กรที่ขับเคลื่อนด้านการทำเหมืองแร่ได้ส่งเสริมวิธีอื่นที่จะทำให้ซัพพลายของอุตสาหกรรมเครื่องประดับดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเช่นการให้ธุรกิจส่งเสริมโครงการจากองค์กรอย่าง Better Gold Association ที่ทำงานร่วมกับเหมืองแร่รายย่อยในการขุดเจาะแร่อย่างมีความรับผิดชอบ

Patrick Schein นักขุดเจาะเหมืองแร่และสมาชิกกรรมการบริหาร Alliance For Responsible Mining กล่าวว่า การที่ Pandora เปลี่ยนไปใช้แค่โลหะรีไซเคิล 100% เป็นการมองปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลกระทบที่อาจเกิดกับคนงานในเหมืองแร่รายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตปรอท 2 ใน 5 ส่วนของโลกตามรายงานในปี 2018 ขององค์การสหประชาชาติ

แม้ว่าแนวทางใหม่ของ Pandora จะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่การทำเหมืองทองคำและเงินยังไม่ได้ชะลอตัวลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการที่บริษัทต่าง ๆ ให้ความสนใจกับโลหะรีไซเคิลช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ที่มา – Straits Times

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา