ลอรีอัล เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี ตลาดความงามยังคึกคัก ในไทยมุ่งเจาะตลาดกลุ่ม Gen Z และคนสูงวัย

ลอรีอัล กรุ๊ป เผยผลประกอบการทั่วโลกปีที่ผ่านมา เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปีที่ 11% ยอดขายอยู่ที่ 4.118 หมื่นล้านยูโรหรือราว 1.6 ล้านล้านบาท นับว่าเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องกัน 3 ปี

ส่วน ลอรีอัล ประเทศไทย เป็นตลาดหลักของภูมิภาค SAPMENA ซึ่งรวมเอเชียแปซิฟิกใต้ (SAP) ตะวันออกกลาง (ME) และแอฟริกาเหนือ (NA) และยังคงมีอัตราการเติบโตสองหลักอย่างต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของภูมิภาคที่อยู่ที่ 23.2%

ลอรีอัลเผยว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา ตลาดความงามทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่องที่ 8% เติบโตมากกว่าในช่วงหลังโควิด-19 ส่งสัญญาณบวกว่าในปีนี้ตลาดจะคึกคัก ส่วนภาพรวมตลาดความงามและ Personal Care ของประเทศไทยเติบโตอยู่ที่ 12% มีมูลค่าอยู่ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท เมื่อดูเฉพาะส่วนความงาม มีสัดส่วนรายได้ ดังนี้

  • ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (สกินแคร์และครีมกันแดด) มูลค่า 1.13 แสนล้านบาท
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท
  • ผลิตภัณฑ์เมคอัพ มูลค่า 2.27 หมื่นล้านบาท
  • ผลิตภัณฑ์น้ำหอม มูลค่า 1.02 หมื่นล้านบาท

ส่วนในปีนี้ คาดว่าตลาดความงามทั่วโลกจะเติบโตขึ้น 4-5% ส่วนตลาดความงามไทยคาดว่าจะเติบโตมากกว่าตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 8%

ในปัจจุบัน ธุรกิจของลอรีอัล ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 แผนกหลัก รวม 15 แบรนด์ คือ

  • แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค: L’Oreal Paris, Garnier, Maybelline New York
  • แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั่นสูง: Lancôme, Biotherm, Giorgio Armani, Kiehl’s, Shu Uemura, YSL, IT Cosmetics
  • แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ: L’Oréal Professionnel, Kérastase 
  • แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง: Vichy, Cerave, La Roche Posay

ลอรีอัล ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับ 3 แบรนด์ใหญ่ในประเทศไทย คือ L’Oréal Paris ที่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่สุดของลอรีอัล Garnier เป็นสกินแคร์อันดับ 1 ในประเทศไทย และ Maybelline New York ที่เป็นแบรนด์เมคอัพอันดับ 1 ในไทยและมีลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก

หากแบ่งอัตราการเติบโตตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตลาดที่เติบโตมากคือ เวชสำอางเกิดจากเทรนด์ดูแลสุขภาพหลังจากโควิด-19 ทั่วโลก และผลิตภัณฑ์เมคอัพจากการอั้นมาตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผู้บริโภคไม่ได้ออกจากบ้าน ส่วนพฤติกรรมในการซื้อสินค้า ในช่วงโควิด ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ยากจากการที่ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปิดสวนทางกับช่องทางออนไลน์เติบโตพุ่งสูง พอร้านกลับมาเปิดทำให้คนกลับมาซื้อหน้าร้านที่เป็นห้างสรรพสินค้าสูงมากในปี 2022-2023 

ปิดท้ายด้วยเป้าหมายและการคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมา ลาวและกัมพูชา เผยว่า แม้ว่าการคาดการณ์มองว่าตลาดความงามไทยจะเติบโตน้อยลง แต่ลอรีอัลคาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนจะเพิ่มแบรนด์ในไทย แต่การขยายแบรนด์เป็นความรับผิดชอบใหญ่จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพราะต้องมีการลงทุน ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่และจะนำเข้ามาภายในไทยในช่วงหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่งนี้  

เทรนด์ความงามในไทยปี 2024

แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมา ลาวและกัมพูชา อธิบายว่า ในปี 2024 นี้จะให้ความสนใจกับเทรนด์หลัก 3 อย่างในประเทศไทย

ชนชั้นกลางกำลังเติบโตขึ้น ทำให้มีกลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นผู้บริโภคของลอรีอัล 50 ล้านคนในปี 2030 ลอรีอัลจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับผู้บริโภคส่วนใหญ่ในระดับแบรนด์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น การโฆษณาบน TikTok, สื่อ Out of Home และ LINE@

เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ผ่านทางช่องทางดิจิทัล เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย

สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ลอรีอัลให้ความสนใจกับการสร้างความงามสำหรับคนสูงวัย โดยจะสื่อสารกับผู้บริโภคตามแนวทางของตลาดอื่นอย่างยุโรปและญี่ปุ่นที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกันและจะพยายามนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาใช้กับตลาดไทย รวมทั้งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เพื่อลดริ้วรอยอยู่แล้วและจะศึกษาเพิ่มในอนาคต 

แพทริค จีโร มองว่า ไทยเป็นตลาดหลักในภูมิภาค เพราะไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนอกเหนือจากอินเดียที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากกว่าไทย 20 เท่า นอกจากนี้ ไทยยังเป็นตลาดที่มีความซับซ้อนและก้าวหน้า ผู้บริโภคไทยใช้ผลิตภัณฑ์ความงามด้วยความละเอียดมากกว่าประเทศอื่น ๆ มีความรักสวยรักงาม รวมทั้งในเชิงประชากร ไทยยังเป็นตลาดที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากทำให้เป็นตลาดน่าสนใจ

ในเรื่องของกำลังซื้อ มองว่าชนขั้นกลางในประเทศไทยมีพฤติกรรมการซื้อที่รวมถึงสินค้าราคาสูงด้วยเพราะสินค้าความงามเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนม ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้หลากหลายและกลุ่มสินค้าราคาสูงมีกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะ

กลยุทธ์ One L’Oréal

ลอรีอัลจะดำเนินธุรกิจเพื่อผลักดันแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอทั้งในประเทศไทย  เมียนมา ลาวและกัมพูชา ผ่าน 3 ด้านด้วยกัน คือ

  • People ให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับแรก  สร้างเส้นทางการเติบโตและสร้างสิ่งแวดล้อมและวิธีการทำงานที่ดี
  • #1 Beauty Company มุ่งสร้างแบรนด์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคเป็นแบรนด์อันดับ 1  พัฒนานวัตกรรมและความรู้และทำการตลาดอย่างมีกลยุทธ์
  • One Loved Company ขับเคลื่อนองค์กรในด้านความยั่งยืน ลอรีอัลกำลังเน้นที่พัฒนาเรื่องการรีฟีลผลิตภัณฑ์และสื่อสารไปถึงผู้บริโภค
  • Fit for the Future ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทำให้ลอรีอัลเตรียมพร้อมและปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาทักษะขององค์กรในการใช้ข้อมูลและ AI 

L’Oréal for the Future เป้าหมายเรื่องความยั่งยืน

ลอรีอัลเผย เป้าหมายเรื่องความยั่งยืน 5 ข้อหลัก คือ 

  1. หน่วยงานของลอรีอัลทั่วโลกจะใช้พลังงานที่ทดแทนได้ 100% ภายในปี 2025 ในปีที่ผ่านมาทำได้แล้ว 91%
  2. น้ำที่ใช้จะมาจากการนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลผ่าน Waterloop ให้ได้ 100% ภายในปี 2030 ปีที่ผ่านมาทำได้แล้ว 14% 
  3. ส่วนประกอบทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์ลอรีอัลจะมาจากแหล่งที่ยั่งยืน ตรวจสอบย้อนกลับได้ และไม่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า 100% ภายในปี 2030 ปีที่ผ่านมาทำได้แล้ว 93% 
  4. 95% ของส่วนผสมจะต้องมาจากธรรมชาติ ถ้าเป็นแร่จะต้องมาจากแหล่งที่มีแร่จำนวนมาก หากแร่ใกล้หมดแล้วจะไม่นำมาใช้ภายในปี 2030 ปีที่ผ่านมาทำได้แล้ว 65%
  5. แพ็คเกจจิ้ง 100% ของพลาสติกจะต้องมาจากพลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพเป็นหลัก ภายในปี 2030 ปีที่ผ่านมาทำได้แล้ว 32% 

นอกจากนี้ ลอรีอัลยังเน้นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์รีฟีลที่ในปัจจุบันมีอยู่แล้ว 3 แบรนด์ คือ Lancôme, Kiehl’s และ YSL โดยยังสามารถคงความสวยงามของผลิตภัณฑ์ไว้ได้ ส่วนในปีนี้ La Roche Posay จะเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่มีผลิตภัณฑ์รีฟีล

ส่วนการสร้างผลกระทบเชิงบวกทางด้านสังคม L’Oréal Paris มีโครงการให้ความรู้เรื่องความรุนแรงและบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต มีการเปิดสอนทักษะการเสริมสวย รวทั้งโครงการจ้างงานผู้ด้อยโอกาสที่ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์

ในปีนี้จะมีอีก 3 แบรนด์ที่ทำงานร่วมกับสังคม โดยมี Cerave ที่จะทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อให้คนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการดูแลผิว เช่น โรคผิวหนัง สิว La Roche Posay จะดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ระหว่างการรักษามีปัญหาเรื่องการดูแลผิว และ Kiehl’s ที่เน้นความหลากหลาย ให้ความช่วยเหลือกลุ่ม LGBTQ+ โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ใช้งบประมาณในประเทศไทย มีกองทุน FUND FOR WOMEN เพื่อผู้หญิง ใน 4 ประเทศ

ที่มา – L’Oréal

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา