[ภาคต่อทำงานญี่ปุ่น] อะไรคือ “โอกาส” และ “ปัญหา” เมื่อแรงงานต่างชาติจะได้ค่าแรงและสวัสดิการเทียบเท่าคนญี่ปุ่น

หลังจากที่ Brand Inside นำเสนอข่าวญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานต่างชาติ ถ้าทักษะดี-ฝีมือสูง รัฐบาลญี่ปุ่นชวนอยู่ยาว และเอาครอบครัวมาอยู่ได้

  • บทความนี้เป็นภาคต่อ โดยจะพาไปสำรวจว่าอะไรคือ “โอกาส” และ “ปัญหา” เมื่อแรงงานต่างชาติจะได้ค่าแรงและสวัสดิการเทียบเท่าคนญี่ปุ่น
ทำงาน ญี่ปุ่น Japan
ญี่ปุ่น Photo: Shutterstock

นโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติ คือการทุ่มครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นน่าเป็นห่วง เพราะสืบเนื่องมาจากปัญหาใหญ่ 2 ประการคือ

  1. อัตราการเกิดต่ำ: อัตราการเกิดของประชากรเด็กในญี่ปุ่นลดต่ำลง 1.7 แสนคนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ปัจจุบันประชากรเด็กในประเทศเหลือเพียง 15.53 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 68 ปี ซึ่งปัญหานี้ส่งผลตั้งแต่ระดับ SME ที่ไม่มีคนสืบทอดกิจการ ไปจนถึงปัญหาใหญ่อย่างการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
  2. ปัญหาสังคมผู้สูงวัย: ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดย 1 ใน 5 ของประชากรมีอายุเกิน 70 ปี ส่งผลต่อตลาดภาคแรงงานและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

ทางออกของปัญหานี้ ภายใต้รัฐบาลญี่ปุ่นที่นำโดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ล่าสุด ได้ผ่านกฎหมายเปิดรับแรงงานต่างชาติโดยสภาแล้ว ส่วนการออกวีซ่าให้แรงงานต่างชาติตามกฎหมายฉบับนี้ จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายนปี 2019 เป็นต้นไป

ใจความสำคัญของกฎหมายเปิดรับแรงงานต่างชาติฉบับนี้คือวีซ่า 2 ประเภท โดยประเภทแรกคือวีซ่าสำหรับแรงงานทักษะไม่สูง อยู่ได้นาน 5 ปี ส่วนวีซ่าประเภทสองจะให้กับแรงงานทักษะดี-ฝีมือสูง โดยหากผ่านเกณฑ์จะอยู่ได้ตลอดชีพและสามารถนำครอบครัวมาอยู่ด้วยได้

การทุ่มนโยบายเปิดประเทศรับแรงงานต่างชาติครั้งนี้ของรัฐบาลอาเบะเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย เพราะกฎหมายนี้ได้สร้างข้อถกเถียงในสังคมญี่ปุ่นเป็นวงกว้าง อย่างน้อยที่สุดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก็มีการประท้วงที่โตเกียวโดยกลุ่มต่อต้านผู้อพยพ (anti-immigrant group) โดยท้ายที่สุดอาเบะต้องออกมาบอกว่า “กฎหมายฉบับนี้เป็นการเปิดรับเฉพาะแรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานในบางสาขาอาชีพ และเริ่มงานได้ทันทีเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานเท่านั้น” พูดง่ายๆ ก็คือ นี่ไม่ใช่กฎหมายอนุญาตให้มีการอพยพเข้ามาลงหลักปักฐานในสังคมญี่ปุ่นแต่อย่างใด

ไม่หมดเท่านั้น หลังการผ่านกฎหมายฉบับนี้ ล่าสุดฝ่ายค้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งคำถามไว้ว่า ภายใต้กฎหมายเปิดรับแรงงานฉบับนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ตามมาหรือไม่ เช่น ค่าแรงของคนญี่ปุ่นที่อาจต่ำลง รวมถึงเรื่องสวัสดิการทางสังคม เพราะแรงงานต่างชาติภายใต้กฎหมายนี้จะได้รับค่าแรงและสวัสดิการเทียบเท่ากับคนญี่ปุ่น (ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกันกับคนญี่ปุ่นนั่นเอง)

  • ทีนี้ เราลองไปสำรวจกันดูว่า “โอกาส” และ “ปัญหา” จากการเดินหน้าเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีอะไรบ้าง?
ญี่ปุ่น ทำงาน แรงงานต่างชาติ
ญี่ปุ่น Photo: Shutterstock

โอกาสของญี่ปุ่นและแรงงานต่างชาติ

แน่นอนว่า โอกาสของญี่ปุ่นในการเปิดรับแรงงานต่างชาติ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (productivity) ของภาคตลาดแรงงาน ถือเป็นการแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ ทั้งอัตราการเกิดต่ำและสังคมสูงวัย ที่ทำให้ไม่มีแรงงานเพียงพอในตลาด

ส่วนโอกาสของแรงงานต่างชาติ คือการแสวงหาอนาคตใหม่ในดินแดนญี่ปุ่น เพราะสาขาอาชีพที่ญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบันมีถึง 14 สาขา เช่น การเกษตร การก่อสร้าง การพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ ไปจนถึงงานในด้านสายการบิน ฯลฯ

แม้กระแสก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะรับแรงงานต่างชาติถึง 500,000 คน แต่เอาเข้าจริงแล้ว จากข้อมูลที่ยืนยันได้ในขณะนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าออกวีซ่าตามกฎหมายเปิดรับแรงงานต่างชาติไว้เพียง 40,000 คนเท่านั้น

แต่ถึงอย่างไร โอกาสของแรงงานต่างชาติ (โดยเฉพาะแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา) ที่จะได้มาซึ่งวีซ่าทั้ง 2 ประเภทของญี่ปุ่นในครั้งนี้ จำเป็นต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะนอกจากทักษะที่จะเป็นตัวแบ่งประเภทวีซ่าแล้ว อีกหนึ่งใบเบิกทางที่สำคัญที่สุดก็คือ “ภาษาญี่ปุ่น” เนื่องจากจะมีการทดสอบอย่างจริงจัง

  • อธิบายก็คือ การรับรู้ภาษาญี่ปุ่นจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ชี้ว่า หากคุณมีทักษะดี-ฝีมือสูงในสาขาอาชีพนั้นๆ ภาษาญี่ปุ่นของคุณอยู่ในระดับใด ถ้าฟัง-พูด-อ่าน-เขียนได้คล่องแคล่ว โอกาสที่จะได้วีซ่าตลอดชีพจากรัฐบาลญี่ปุ่น และรวมถึงพาครอบครัวมาอยู่ด้วยนั้น ก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม

ปัญหาของญี่ปุ่นและแรงงานต่างชาติ

การเปิดรับแรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานในญี่ปุ่น ไม่ได้มีเพียงแค่โอกาสเท่านั้น เพราะยังมีปัญหาอีกมากที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตและต้องได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงที

ปัญหาที่ฝ่ายค้านของญี่ปุ่นเสนอไว้ คือค่าแรงของคนญี่ปุ่นที่อาจไม่เพิ่มสูงขึ้นไปอีกสักระยะ เนื่องจากการรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานและให้ค่าแรงเท่ากัน อาจทำให้อัตราการเติบโตของค่าแรงในญี่ปุ่นไม่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนั้นยังพูดถึงปัญหาทางสังคมอย่างเช่น แนวโน้มที่อัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีปัญหาเรื่องสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่น เช่น ปัญหาเรื่องระบบสุขภาพ การแพทย์ และการศึกษา เนื่องจากแรงงานต่างชาติจะได้รับสวัสดิการเทียบเท่าคนญี่ปุ่น ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสวัสดิการสังคมครั้งใหญ่เพื่อรองรับแรงงานต่างชาติและครอบครัวที่จะเข้ามาลงหลักปักฐานในอนาคต

ส่วนปัญหาเรื่องวัฒนธรรมที่เคยเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่สำหรับคนญี่ปุ่นและแรงงานต่างชาติ ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะผลสำรวจที่ถามถึงนโยบายการเปิดรับแรงงานต่างชาติ พบว่า คนรุ่นใหม่อายุ 18-29 ปี เห็นด้วยและมีใจเปิดรับ ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยไม่ค่อยเห็นดีเห็นงามด้วยเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตาม มีอีกผลสำรวจหนึ่งที่ไปสอบถามคนญี่ปุ่นจำนวน 2,000 คนในหัวข้อแรงงานต่างชาติ ผลปรากฏว่า คนญี่ปุ่น 56.3% พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นจากนี้แล้ว ส่วนคนญี่ปุ่นอีก 23.9% ระบุว่าต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น และคนญี่ปุ่นที่เหลืออีก 19.8% บอกว่า อยากเห็นแรงงานต่างชาติน้อยลงกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แต่นอกจากปัญหาของสังคมญี่ปุ่นแล้ว แรงงานต่างชาติเองก็อาจจะมีปัญหาในอนาคตเช่นกัน โดย Rupert Wingfield-Hayes ผู้สื่อข่าวของ BBC ในโตเกียว วิเคราะห์ว่า ปัญหาที่แรงงานต่างชาติอาจจะเจอในอนาคตคือ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างในญี่ปุ่น ทั้งค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมและชั่วโมงการทำงานที่กดขี่ อย่างเช่นในปัจจุบัน ผู้สื่อข่าวรายนี้ บอกว่า เขาได้พบกับหญิงสาวชาวเวียดนามคนหนึ่งที่ทำงานในโรงงานเสื้อผ้าวันละ 14 ชั่วโมง และในปีแรกของการทำงาน ทางบริษัทก็ไม่มีวันหยุดให้ เธอต้องทำเต็ม 7 วันต่อสัปดาห์

ถึงที่สุดแล้ว การเปิดรับแรงงานต่างชาติย่อมสร้างโอกาสให้กับตลาดแรงงานญี่ปุ่นและแรงงานต่างชาติ ส่วนปัญหาที่ตามมาเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข

หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อญี่ปุ่นออกวีซ่าให้แรงงานต่างชาติในเดือนเมษายนปีหน้า สถานการณ์ในญี่ปุ่นจะเป็นอย่างอย่างไร เพราะหากญี่ปุ่นทำสำเร็จ ประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายแห่ง (โดยเฉพาะในตะวันตก) ก็น่าลองศึกษาโมเดลนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาคลื่นผู้อพยพที่กำลังเกิดขึ้น และจะถาโถมแรงกว่านี้อีกมากในอนาคต

อ้างอิงข้อมูล – Japantimes 1SBSBBCNikkei Asian Review, JapantodayJapantimes 2

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา