อัตราการเกิดต่ำ ทำเศรษฐกิจชะลอตัว จากสหรัฐฯ มาญี่ปุ่น ถึงไทย

เศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกากำลังจะพบกับหายนะเหมือนกัน เพราะอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ญี่ปุ่นและไทยนำหน้าไปก่อนแล้ว แถมยังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ช้า

Photo: Pixabay

อัตราการเกิดต่ำ ทำแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่แน่

อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลการควบคุมโรคในสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการเจริญพันธุ์ในสหรัฐฯ มีระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2016 มีอัตราการเกิดต่ำกว่าปี 2015 ถึง 1% ตัวเลขอาจดูน้อยแต่ถ้าดูที่จำนวนผู้หญิงในวัย 15 – 44 ปี พบว่า ในจำนวนนี้มีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 62 คน ต่อ 1,000 คนเท่านั้น

อัตราการเกิดที่ต่ำลงนี้ เป็นสัญญาณถึงเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะชะลอตัว ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวโน้มทางประชากรศาสตร์ ถึงกับบอกว่า “อัตราการเกิดที่ลดลงนี้เป็นสัญญาณถึงจุดเริ่มต้นของหายนะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่”

ทีนี้ พอไปดูที่คนรุ่นใหม่หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม Millennials ในสหรัฐฯ ก็พบว่า คนกลุ่มนี้เลือกจำเป็นต้องเลือกที่จะทำงานมากกว่าจะสร้างครอบครัวและมีลูกเหมือนในอดีต นั่นเพราะว่า มีภาระที่ต้องแบกรับไม่ว่าจะเป็นความต้องการในความก้าวหน้าของอาชีพ หรือหนี้ที่มาจากการกู้ยืมเรียนในมหาวิทยาลัย ด้วยภาระเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ไม่สามารถเลือกทำทั้ง 2 อย่างคือ มีลูกและทำงานหาเงิน แต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และแน่นอนด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ย่อมมาก่อนปัจจัยอื่นทั้งปวง

Photo: Pixabay

ทางออกก็ไม่ใช่อะไรอื่น นักประชากรศาสตร์ ระบุว่า “รัฐเพียงต้องส่งนโยบายที่เหมาะกับการสร้างครอบครัวมากขึ้น หากต้องการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์”

Richard Jackson ประธานกลุ่สถาบันวิจัยไม่แสวงหาผลกำไร บอกไว้ว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเรื่องการงานและครอบครัว คือการปรับบทบาทของผู้หญิง ถ้าเป็นแม่ก็สามารถทำงานได้ด้วย ประเทศที่ทำสิ่งเหล่านี้มีอัตราการเจริญพันธุ์สูงขึ้น เพราะผู้หญิงสามารถทำงานได้มากขึ้นนั่นเอง

ขยายความกันอีกสักนิดคือ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างในสหรัฐอเมริกา ทางออกของปัญหานี้จึงต้องเป็นการให้สิทธิพิเศษบางอย่างกับผู้หญิงที่ต้องการมีลูก เช่น สิทธิการลางานไปเลี้ยงลูก สิทธิการลาคลอดที่เหมาะสม หรือในขณะเดียวกัน ในแง่นี้ก็รวมถึงผู้ชายด้วย หากผู้ชายต้องการปรับบทบาทไปเป็น “พ่อบ้านเลี้ยงลูก” ก็ต้องสามารถทำได้ในโลกศตวรรษที่ 21 แต่สิ่งสำคัญคือ รัฐต้องมองให้เห็นปัญหาการงานและการมีลูกของคนรุ่นใหม่ตรงนี้เสียก่อน

Photo: Pixabay

ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น-ไทยนำมาก่อน แต่ไทยดูท่าจะแย่กว่า

ในญี่ปุ่นก็คล้ายกับไทยคือ กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ฉะนั้นเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากการผลิตที่ต่ำลงแน่นอนอยู่แล้ว เพราะผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ในขณะที่อัตราการเกิดน้อยลง นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า แนวโน้มประชากรในญี่ปุ่นลักษณะนี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลาและจะส่งผลไปในยังประเทศข้างเคียงอย่างแน่นอน

สำหรับประเทศไทย เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า อัตราการเกิดที่ต่ำของไทยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความจำเป็นเศรษฐกิจ ทำให้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ (อาจจะระยะยาวด้วย) เราจะขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่ในหลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต แต่ตอนนี้สิ่งที่รัฐไทยกำลังทำคือ “กีดกันแรงงานต่างชาติ” เป็นต้นว่า พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 จนล่าสุดต้องออกมาใช้ ม. 44 ในการชะลอการใช้กฎหมายนี้ไป 120 วัน

สิ่งนี้สะท้อนว่ารัฐไทยมีสายตาที่สั้นและคับแคบ เพราะยังมองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการ(กำลังจะ)ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตจากอย่างน้อยสองปัจจัยคือ อัตราการเกิดต่ำและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ถ้ารัฐไทยยังเดินหน้ากีดกันแรงงานต่างชาติ

เชื่อว่า ประชาชนชาวไทยน่าจะพอมองเห็นอนาคตของตัวเองกันแล้วใช่ไหม?

อ้างอิง – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา