ปัญหาใหญ่ของ SME ญี่ปุ่นตอนนี้คือ “ไม่มีคนสืบทอดกิจการ” ถ้าเรื้อรัง GDP หล่น คนตกงานเพียบ

หลายธุรกิจในญี่ปุ่น โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก กำลังประสบปัญหา “ไม่มีคนสืบทอดกิจการ” ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเร่งแก้ไข เพราะถ้าปล่อยไปจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจภาพรวมแน่นอน

Photo: flickr.com by Ilias Katsouras

ไม่มีคนสืบทอดกิจการคือปัญหาใหญ่ของ SME ญี่ปุ่น

ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในญี่ปุ่นกว่า 1.27 ล้านรายกำลังเสี่ยงต่อปัญหา “ไม่มีคนสืบทอดกิจการ” กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ระบุว่า ประมาณ 60% ของ SME ญี่ปุ่น มีผู้จัดการธุรกิจที่เป็นผู้สูงอายุ คาดว่าในปี 2025 หลายกิจการจะมีผู้จัดการที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปีหรือมากกว่านั้น ที่สำคัญคือในจำนวนนี้ 70% ไม่มีคนสืบทอดกิจการ

จากการสำรวจของ Tokyo Shoko Research เปิดเผยว่า ในปี 2016 มี SME ขนาดกลางและขนาดเล็กในญี่ปุ่นปิดตัวไป 29,583 ราย หนึ่งในเหตุผลหลักๆ มาจากปัญหาประชากรที่ลดลงและสังคมผู้สูงอายุ ไม่มีคนสืบทอดกิจการ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ที่มีการปิดกิจการไปประมาณ 21,000 ราย

ในปีนี้ก็ไม่ต่างไปจากเดิม หลายกิจการจะทยอยปิดตัว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าแนวโน้มยังเป็นแบบนี้ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในทศวรรษนี้อย่างแน่นอน ศาสตราจารย์ Iichiro Uesugi จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัย Hitotsubashi บอกว่า การปิดตัวของกิจการหลายแห่งที่บริหารขาดทุน เป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรมภาพรวม เป็นเรื่องปกติ แต่บางธุรกิจที่มีกำไร สร้างผลผลิตตลอด แต่ดันมาติดที่ปัญหา “ไม่มีคนสืบทอด” ตรงนี้เองที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยรวมในไม่ช้า

Photo: flickr.com by /\ltus

ถ้าไม่รีบแก้ปัญหา ผลเสียที่ตามมาคือ ตกงาน-เศรษฐกิจแย่

ปัญหา “ไม่มีคนสืบทอดกิจการ” จำเป็นต้องเร่งแก้ไข มีการคาดการณ์ว่าถ้าญี่ปุ่นแก้ปัญหานี้ไม่ทัน จะทำให้คนตกงานกว่า 6.5 ล้านคน และสูญเสีย GDP ไปกว่า 194,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2025

การแก้ปัญหาของภาครัฐญี่ปุ่นตอนนี้คือ กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มาสืบทอดกิจการด้วยการออกกฎหมายลดภาษีในการซื้อหรือควบรวมกิจการ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือการส่งนโยบายกู้เงินดอกเบี้ยต่ำที่จะจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากลงทุนในธุรกิจของครอบครัวต่อไป

ส่วนประเทศไทยเอง ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือปัญหาเหล่านี้ เพราะบางปัญหาเราก็มีคล้ายกับญี่ปุ่น ทั้งปัญหาอัตราการเกิดต่ำ หรือสังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัวขึ้นทุกวัน แน่นอนว่าถึงที่สุดไทยก็ต้องการการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เพื่อให้รองรับได้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา