ttb analytics หวังปี 2567 ‘ไทยเที่ยวไทย’ พลิกฟื้นกลับมาสร้างเม็ดเงินทะลุ 1 ล้านล้านบาท พร้อม 3 ข้อแนะนำเร่งรัฐพัฒนา

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวในประเทศจากนักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจ เพราะสร้างการส่งผ่านเม็ดเงินจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า ในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การท่องเที่ยวในประเทศสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้สูงกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

ไร่เลย์

ทว่าเมื่อเกิด COVID-19 ส่งผลให้การท่องเที่ยวในประเทศหยุดชะงักกระทันหันโดยรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศในปี 2564 หดตัวลงเหลือเพียง 0.22 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามปี 2566 นี้สัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวกลับมาชัดเจน โดยคาดว่าทั้งปี 2566 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจะขยับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 254.4 ล้านคน-ครั้ง แต่เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนและต้นทุนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้คน ท่องเที่ยวในระยะเวลาที่สั้นลง หรือเที่ยวในจังหวัดข้างเคียง จึงทำให้รายจ่ายต่อทริปลดลงส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศมีการเติบโตไม่สอดคล้องกันราว 0.8 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ในปี 2567 นี้ ttb analytics คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยของจะอยู่ระดับสูงที่ 292.1 ล้านคน-ครั้ง แม้รายจ่ายต่อทริปที่ลดลง แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศสามารถสร้างมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทได้อีกครั้ง (เหมือนตอนปี 2564)

ทั้งนี้ ปัจจัยท้าทายของการท่องเที่ยว ‘ไทยเที่ยวไทย’ คือ ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไทยขับเคลื่อนผ่านสิ่งดึงดูดที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติในแต่และพื้นที่ แต่มักไม่ต่อยอดพัฒนาให้มีแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับไปท่องเที่ยวซ้ำ ขณะเดียวกันด้านปัจจัยเชิงโครงสร้าง พบว่าในปี 2567 นี้ อาจเป็นจุดสูงสุดจากโครงสร้างอายุของประชากรวัยท่องเที่ยว (25 ปี – 65 ปี) เข้าสู่ระยะแรกของการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่อาจส่งผลต่อข้อจำกัดเรื่องการเพิ่มขึ้นของจำนวนการท่องเที่ยวระยะถัดไป 

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งปรับแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดย ttb analytics มี 3 เสนอแนะเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ 

  1. เชื่อมโยงสิ่งดึงดูดการท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อต่อยอดและยกระดับสิ่งดึงดูดเดิมที่มีอยู่ เช่น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม เพื่อสร้างเรื่องราว (Journey) ที่น่าสนใจ
  2. สร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Attraction) ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สะท้อนวิถีชีวิตที่มีความต่างกันไปในแต่ละสังคม อาจรวมถึงวัฒนธรรมทางจิตใจที่สะท้อนผ่านความเชื่อ เช่น การสักการะเพื่อความเป็นศิริมงคล 
  3. เชื่อมโยงวัตถุประสงค์อื่นให้ผนวกเข้ากับการท่องเที่ยว อาทิ การผนวกเข้ากับความสนใจพิเศษอื่น (Special Interest Tourism) เช่น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism), ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา, การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย หรือ การท่องเที่ยวที่เป็นการอาศัยพักแรมระยะยาวที่สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี 

ที่มา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา