วิเคราะห์ เมื่อสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยืดเยื้อกว่าที่คาด และ 2 มหาอำนาจยังหาทางออกไม่ได้

Brand Inside จะพาไปมองย้อนอดีตในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และมองไปถึงอนาคตและประเด็นปัญหาของเรื่องนี้

Donald Trump Xi Jinping
การเจรจาของ 2 ผู้นำอาจไม่มีทางกลับมาชื่นมื่นได้? – ภาพจาก Flickr ของทำเนียบขาว

หลังจากการประกาศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนอีก 10% มูลค่ากว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทรัมป์เองได้กล่าวว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นเพียงจำนวนเงินเล็กน้อยเท่านั้น รวมไปถึงการขึ้นภาษี 10% นี้อาจเป็นแค่ชั่วคราว ขึ้นอยู่กับว่าการเจรจาการค้ากับประเทศจีนออกมาในรูปแบบใด

นอกจากนี้ทรัมป์เองยังได้กล่าวว่าเขายังมองเห็นการเจรจาในด้านบวกกับประเทศจีนอยู่ หลังจากที่สหรัฐได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับทางด้านของจีนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ว่าสหรัฐเองจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าก็ตาม อย่างไรก็ดีเราจะเห็นว่าเกมการเจรจาการค้า การตอบโต้ไปมาอย่างดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ กลับทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปอีก

แล้วเรื่องราวของ 2 มหาอำนาจทั้งพญาอินทรีและพญามังกรจะจบลงอย่างไร

ย้อนอดีตเล็กน้อย

ต้องขอย้อนกลับไปเล่าถึงการเจรจาการค้าในช่วงเดือนเมษายนถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเล็กน้อย ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการเจรจาการค้าของทั้งสหรัฐและจีน แต่กลับกลายเป็นว่าสหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน 25% มูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐได้กล่าวว่าจีนเป็นคนที่ล้มโต๊ะการเจรจาในครั้งนั้น ในขณะที่คณะผู้แทนเจรจาการค้าของประเทศจีนยังอยู่ที่สหรัฐอีกด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ทรัมป์เองได้กล่าวในตอนนั้นว่าเขาเองอาจเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ากว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งคือก้อนปัจจุบัน) ทำให้จีนได้ตอบโต้สหรัฐโดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอีกประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไม่เพียงแค่นั้นเกิดเหตุการณ์ระหว่างทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีของหัวเว่ยที่สหรัฐประกาศว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมจากหัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคง ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐไม่สามารถดำเนินธุรกิจกับยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากจีนได้ รวมไปถึงการแบนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนมเช่น กล้อง CCTV ฯลฯ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะมณฑลซินเจียง กรณีของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์

สำหรับการตอบโต้จากจีนก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน เช่น การจำกัดการส่งออกแร่หายาก รวมไปถึงการที่ทางการจีนจัดทำบัญชีดำ บุคคล-บริษัทต่างชาติ ที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยบริษัทสหรัฐที่โดนสังเวยคราวนั้นคือ FedEx ยักษ์ใหญ่ในการขนส่ง

มีความหวังใน G20

ความหวังของการเจรจาการค้ากลับมาอีกรอบเมื่อคาดกันว่าจะมีการเจรจาการค้ากันใหม่ระหว่าง 2 ผู้นำในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ประธานาธิบดีทรัมป์เองยังได้ออกมาขู่ด้วยว่า ถ้าหากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เบี้ยวไม่มาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ เขาจะขึ้นภาษี 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐทันที

อย่างไรก็ดีทั้ง 2 ผู้นำก็พบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเงื่อนไขที่ว่าสหรัฐจะไม่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้สหรัฐยังเปิดทางให้บริษัทเอกชนสามารถซื้อขายสินค้ากับหัวเว่ยได้ด้วย ขณะที่ประเทศจีนได้รับปากว่าจะซื้อสินค้าทางเกษตรจากสหรัฐเพิ่มเติม

จนเกิดเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

Chinese President Xi Jinping
สี จิ้นผิง อาจใช้วิธีดึงเกมยาว เพราะผู้นำจีนอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้เรื่อยๆ – ภาพจาก Shutterstock

ทำไมถึงต้องขึ้นภาษีนำเข้า

สำหรับสาเหตุที่สหรัฐอเมริกาประกาศที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนอีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐมองว่า หลังจากการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศแทบจะไม่มีความคืบหน้า โดยสหรัฐได้ส่งผู้แทนไปเจรจาการค้าที่ประเทศจีนในวันที่ 30 กรกฏาคมที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย สตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และโรเบิร์ต ไลท์ไธเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ

เหตุผลหลักที่ทรัมป์ต้องขึ้นภาษีคือจีนยังไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสหรัฐได้แก่ เรื่องของการซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐด้วยปริมาณมหาศาล เช่น ถั่วเหลือง ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนกลับไม่ได้ซื้อสินค้าเหล่านี้ด้วยซ้ำ

ไม่เพียงแค่นั้น ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังได้กล่าวถึง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้รับปากในเรื่องของการงดขายสาร Fentanyl ที่เป็นสารตั้งต้นของยาแก้ปวด ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนอเมริกันหลายพันคนต่อปีเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพราะใช้ยาเกินขนาด จากสารโอปิดอยด์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

คาดว่าอีกเหตุผลที่สหรัฐยังใช้มาตรการนี้บีบจีนต่อไปคือ GDP ในไตรมาส 1 ยังไม่ออกอาการแย่ และ สหรัฐยังมีช่องว่างนโยบายทางการเงินอยู่บ้าง แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐจะมีปัญหากับ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่ขัดใจหลายๆ ครั้งในช่วงที่ผ่านมา

แล้วสหรัฐต้องการอะไร?

การเจรจาที่สหรัฐเน้นย้ำมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมาคือมี 3 เรื่องใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย

  1. เคารพเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาจีนมีปัญหาในเรื่องนี้อย่างมาก เช่น กรณีของหัวเว่ย ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของซิสโก้ในอดีต
  2. ควบคุมค่าเงินหยวนให้มีเสถียรภาพ สหรัฐมองว่ารัฐบาลจีนสามารถกำหนดให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าและแข็งค่าได้ ทำให้ประเทศส่งออกอื่นๆ เสียเปรียบทันที
  3. เปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน สหรัฐมองว่าในขณะที่ประเทศจีนสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แม้แต่สหรัฐได้เสรี แต่ในทางกลับกันประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐกลับไม่สามารถเข้าไปลงทุนหรือค้าขายในจีนได้อย่างเสรี

สอดคล้องกับถ้อยคำแถลงของ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้แถลงสุนทรพจน์ที่สยามสมาคม หลังจากเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่ประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาเติบโตน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะที่สหรัฐยังถือว่าแข็งแกร่ง นอกจากนี้ จีนมีนโยบายทางการค้าที่เอาเปรียบ และถ้าหากต้องการจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐ ก็ควรจะลงมาเล่นในระดับเดียวกัน ไม่ใช่แค่สหรัฐที่ได้ประโยชน์แต่ทุกคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ รวมไปถึงเรื่องของการค้าทั่วโลกด้วย”

นอกจากนี้เราจะเห็นว่านโยบายของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาอีกเรื่องคือ การจัดการปัญหาการได้ดุลการค้าที่มากเกินไป ซึ่งเราจะเห็นได้จากการไล่บีบประเทศอื่นๆ ให้มาเจรจาการค้าใหม่ เช่น กรณีของเม็กซิโก แคนาดา ที่เจรจาการค้าฉบับใหม่ไป รวมไปถึงกรณีของยุโรปในอุตสาหกรรมรถยนต์ ล่าสุดคือกรณีเวียดนามที่ผู้แทนการค้าสหรัฐเริ่มจับตามอง

ขณะที่จีนมองว่าสิ่งที่สหรัฐต้องการเป็นเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจจีนซึ่งไม่สามารถอ่อนข้อให้กับสหรัฐได้ โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นกรณีตัวแทนของจีน เช่น หวัง หยาง ซึ่งเป็น 1 ใน สมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเรียกย่อๆ ว่า โปลิตบูโร ได้กล่าวว่า “เรื่องของสงครามการค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนอย่างแน่นอน” ยังรวมไปถึงเหตุผลของรัฐบาลจีนที่มองว่าทำไมต้องให้สหรัฐมากดดันจีนในเรื่องของนโยบายต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่เสียหน้าอย่างยิ่ง

ไม่เพียงแค่เรื่องหลักๆ ของด้านการค้าเท่านั้น ยังมีเรื่องยิบย่อยที่ 2 มหาอำนาจที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้อีก เช่น เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ กรณีของทะเลจีนใต้ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การจารกรรมข้อมูลต่างๆ ฯลฯ

Donald Trump โดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์ต้องลุ้นเป็นประธานาธิบดีต่อไป – ภาพจาก Shutterstock

ทางออกในเรื่องนี้ ณ เวลานี้ = ไม่มี

สำหรับฝั่งจีนแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นเหมือนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้คาดไว้แต่แรกคือ ถ้าหากเจรจาไม่สำเร็จจริงๆ จีนก็อาจใช้วิธีดึงเกมยาวไปจนถึงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปี 2020 แล้วค่อยมาลุ้นกันว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปต่อจากทรัมป์ ซึ่งถ้าหากเป็นทรัมป์คนเดิม จีนต้องเจอไม้แข็งด้านการค้าชุดใหญ่จากสหรัฐ ส่วนถ้าหากตัวแทนของพรรคเดโมแครตได้ จีนก็ยังเชื่อว่าการเจรจาก็อาจง่ายลงกว่าเดิม

ทางด้านฝั่งพญาอินทรีนั้น ต้องมารอลุ้นว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็อาจกลายเป็นประเด็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศไปแล้ว ซึ่งความไม่แน่นอนคือว่าถ้าหากเป็นคนของพรรคเดโมแครตขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแล้วจะใช้วิธีไหนในการเจรจากับจีนให้กลับเข้ามาในประเด็น 3 เรื่องใหญ่นี้ ที่ยังไม่นับประเด็นเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก

ส่วนประเทศที่เป็นคู่ค้าของทั้ง 2 ประเทศก็ต่างต้องเจ็บตัวไปพลางๆ จากเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ จนทำให้ GDP ของหลายๆ ประเทศย่ำแย่ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ฯลฯ จนกว่า 2 มหาอำนาจนี้จะเจอจุดตรงกลางของการเจรจา ขณะที่ผู้ประกอบการในจีนและประเทศอื่นๆ ก็ต่างย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน ส่วนใหญ่ใช้ประเทศในอาเซียนเป็นฐานการส่งออก เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย แต่ก็ไม่พ้นเวรกรรมที่สหรัฐตามมาไล่บี้ เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวไป

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญคือการส่งออก แน่นอนว่าเรื่องของ 2 มหาอำนาจยังไม่สามารถหาจุดตรงกลางของการเจรจาการค้าได้นั้น ย่อมเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ว่าจะหาทางออกจากเรื่องนี้ได้เช่นไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา