จากสงครามการค้า สู่สงครามทางเทคโนโลยี มีผลกระทบกับไทยแค่ไหน

สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แม้ว่าจะผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ในระหว่างทางนั้นมีประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่น กรณีของ Huawei ล่าสุดผู้นำทั้ง 2 ประเทศยังหาทางลงจากเรื่องนี้ไม่ได้ ซึ่งคาดว่าจะพูดคุยเรื่องนี้ในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น

Trade War

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางสงครามการค้า และยังเป็นประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของ 2 มหาอำนาจด้วย แล้วทางออกของประเทศไทยอยู่ที่ไหน

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย และ KVision ได้จัดงานสัมมนา U.S.-China: Trade War to Tech War ด้วยหัวข้อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่พัฒนาไปเป็น สงครามทางเทคโนโลยีที่ดูจะไม่สิ้นสุดลงอย่างง่ายๆ จากประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมากมายที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเข้าส่งออก ตลาดหุ้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยงานครั้งนี้จะจัดขึ้นโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขามาเข้าร่วม

Brand Inside สรุปประเด็นสำคัญๆ ในงานมาฝาก

ดร. ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จีนจะเป็นฝูงแกะท่ามกลางหมาป่าหรือไม่

คุณศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ฉายภาพคร่าวๆ ของสงครามการค้าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เปรียบได้เหมือนกับจีนจะเป็นฝูงแกะท่ามกลางหมาป่าหรือไม่ ที่ผ่านมาทรัมป์ได้พยายามยกเลิกความสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ถอนตัวออกจาก TPP กดดันเม็กซิโกและแคนาดาให้ทำข้อตกลงทางการค้าใหม่แทน NAFTA เป็นต้น ขณะที่จีนพยายามเปิดเสรีมากขึ้น แต่ปัญหาจริงๆ อยู่เรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของ AI ปัจจุบันสหรัฐนำเรื่องนี้อยู่ แต่จีนพยายามลงทุนในด้านนี้เยอะมาก

ช่วงที่ผ่านมาการซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐจากประเทศจีนเติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี 2017 ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ รวมไปถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐปัดตกการซื้อกิจการจากจีน ไปถึง 59% นอกจากนี้สหรัฐยังพยายามลดบทบาทบริษัทเทคโนโลยีจีน ไม่ว่าจะเป็น ZTE หรือล่าสุดคือ Huawei

ขณะเดียวกันข้อมูลจาก RCP Poll ทรัมป์เองก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ถ้าหากทรัมป์ชนะจะกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับจีนทันที โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสงครามการค้ากระทบกับ GDP ของสหรัฐประมาณ 0.5% ถึง 0.8% ขณะที่จีนกระทบมากถึง 0.7% สูงสุด 0.9% สำหรับประเทศไทยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าหากอิงอัตราภาษีในปัจจุบัน และ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐถ้าหากสหรัฐขึ้นภาษีจากจีนอีกรอบ

ผลกระทบสำหรับธุรกิจไทยมีทั้งผลบวกและลบ โดยผลด้านลบคือสินค้าประเภทวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์บางประเภทที่ไทยเคยส่งออกไปจีน เพื่อให้จีนส่งออกไปสหรัฐจะได้รับผลกระทบ ค่อนข้างมาก เช่น ฮาร์ดดิสก์ และวงจรรวม สำหรับผลด้านดีคือไทยส่งออกสินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ให้กับจีนและสหรัฐได้มากขึ้น

คุณวัลลภ ว่องจิตต์วุฒิไกร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ช่วงที่ 2 Panel Discussion มี 3 ประเด็นร้อนๆ ที่ต้องพูดถึงคือ เรื่องสงครามการค้า ประเด็นของ Huawei และความสัมพันธ์สหรัฐกับจีนในอนาคต และเรื่องของไทย

ประเด็นสงครามการค้า

คุณวัลลภ ว่องจิตต์วุฒิไกร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองว่า “ไทยได้เปรียบจากเรื่องนี้ เนื่องจากจีนได้ย้ายการลงทุนสำคัญมาไทย” โดยเฉพาะสินค้าหรืออุปกรณ์สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ยางรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นประเทศผลิตยางพาราได้เยอะ แต่ผลิตยางรถยนต์ไม่ได้ นอกจากนี้คุณวัลลภยังมองว่าระยะยาวเราจะได้ประโยชน์อีกด้วย เพราะอุตสาหกรรมไฮเทคขั้นสูงน่าจะย้ายมาที่ไทยเพิ่มขึ้น

คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร อธิบดีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพานิชย์ มองถึงเรื่องนี้ว่า ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าแทนจีนได้ เช่น อาหารแช่เแข็ง ยาง สินค้าอื่นๆ นอกจากนี้ยังมองว่าแม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่การผลิต แต่สินค้าอย่างอื่นส่งออกไปฮ่องกง หรือไต้หวัน เกาหลีไต้ เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการลงทุนของจีนในไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในบางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่มองว่าไทยต้องการการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ ไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน คุณพิมพ์ชนก ยังมองอีกว่าสหรัฐยังต้องการไทย และอาเซียน อย่างไรก็ดีแม้ว่าอาเซียนจะยังไม่อยู่ในมุมมองของทรัมป์ในเรื่องการย้ายฐานการผลิต ก็ควรต้องจับตามองนโยบายและการเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด

คุณสุปรีชา ลิมปิกาญนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

เรื่องของ Huawei

คุณสุปรีชา ลิมปิกาญนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองว่ากรณีของ Huawei จะไม่กระทบมากเท่าไหร่ในระยะสั้นกับกลาง เนื่องจากยังใช้เทคโนโลยีซีพียูของ ARM V8 ได้ และ Hongmeng OS ซึ่ง Huawei เป็นคนคิดค้นขึ้นมาเองนั้น ก็ยังสามารถทำให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถใช้ Application สัญชาติจีน ต่างๆ บน Smartphone Android ของ Huawei ต่อไปได้ แต่ปัญหาที่จะพบคือถ้าหากนโยบายแบน Huawei ถูกอนุมัติใช้ จะทำให้ Smartphone Android ของ Huawei นอกประเทศจีนไม่สามารถเข้าถึง Application บน Google Play และบริการ Google Service ต่างๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับ Google โดยตรงทันที

เนื่องจากปัจจุบันจากที่ได้สอบถามมาคือมีผู้ใช้โทรศัพท์ของ Huawei อยู่ในไทยสัดส่วนประมาณ 10% รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่มีผู้บริโภคใช้ Smartphone ของ Huawei อยู่

ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า Huawei แข็งแกร่งก็จริง
แต่ก็ยังมีจุดที่ควรเฝ้าระวัง หลายอย่างยังพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาอยู่ ถ้าหาก Tech War บานปลาย ก็อาจเป็นชนวนให้จีนกลับมา Focus ยกระดับศักยภาพด้านนี้ของตน เพื่อจะลดการพึ่งพาจากสหรัฐ มองว่าในอนาคตจะเกิดโลกเทคโนโลยี 2 โลกคือ สหรัฐ กับ จีน

นอกจากนี้ ดร.อาร์ม คิดว่าทรัมป์น่าจะใช้เรื่องนี้กดดันจีน และจีนน่าจะแลกเปลี่ยนพูดคุยในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันในมุมบริษัทสหรัฐ เช่น Qualcomm, Intel ฯลฯ น่าจะพยายามล็อบบี้สหรัฐกันอยู่ เพราะประเทศจีนเป็นตลาดที่สำคัญ ที่ไม่สามารถทิ้งไปได้

ขณะเดียวกันคุณพิมพ์ชนก เห็นด้วยกับ ดร.อาร์ม มองด้วยว่าจีนในองค์การการค้าโลกในปี 2001 กับปีนี้ไม่เหมือนกัน คิดว่าจะพึ่งพาตัวเองในอนาคตมากขึ้น และมองว่าโลกอินเตอร์เน็ตในอนาคตอาจแยกระบบด้วยซ้ำ

คุณสุปรีชา ได้กล่าวว่าสมัยเคยทำงานที่ AIS และอุปกรณ์ของ Huawei ดีขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันอุปกรณ์โทรคมนาคมของ Huawei มีสัดส่วนทางการตลาดมากถึง 30% ขณะที่อุปกรณ์โทรคมนาคม 5G ของ Huawei มีสิทธิบัตรเยอะมาก นอกจากนี้ Huawei ยังพยายามที่จะให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในนานาประเทศใช้อุปกรณ์ Huawei

“ปัจจุบันถ้าหากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ใช้อุปกรณ์ Huawei ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 25-30% มั่นใจว่าประเทศเล็กๆ อาจเดินตามสหรัฐ แต่ประเทศใหญ่ๆ ไม่น่าจะเดินตาม” คุณสุปรีชากล่าว

อาร์ม ตั้งนิรันดร
ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน และเรื่องของไทย

ดร.อาร์ม มองว่า 2 ประเทศมีเศรษฐกิจเชื่อมกันอย่างลึกซึ้ง แต่ทรัมป์และทีมงานมองว่าเศรษฐกิจเชื่อมกันทำให้เสียเปรียบ นอกจากนี้มองว่าวิสัยทัศน์ของแต่ละผู้นำตอนนี้ไม่เหมือนกันด้วย นอกจากนี้ ดร.อาร์ม มองว่าต้องรอดูเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 มองว่าพรรคเดโมแครตน่าจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้ และน่าจะมีการกลับมาเจรจาการค้า โดยถ้าไม่เจรจาการค้าตอนนี้ สหรัฐเสียเปรียบด้วยซ้ำ ตอนนี้จีนเลยเริ่มคุยในเรื่องนี้แล้ว คิดว่าอาจประนีประนอมในการประชุม G20 แต่เรื่องนี้ไม่จบแน่นอน อนาคตหลังจากนี้ขึ้นอยู่ว่าใครเป็นประธานาธิบดี

คุณวัลลภ มองว่า “จีนตอนนี้เข้ามาไทยเยอะมาก เม็ดเงินของจีนเป็นส่วนหนึ่งจองเศรษฐกิจขาขึ้นของไทยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้าจาก SME ไทย ไชน่าทาวน์คนจีนเยอะมาก อสังหาไทยจีนซื้อมาก นี่ขนาดอยู่ในช่วงสงครามการค้า แต่หลังจากนี้น่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน “ตอนนี้เราพึ่งจีนมาก GDP ไทยโตมาจากคนจีน ในอนาคตเราจะพึ่งกับจีนเยอะมาก คนจีนอพยพทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิม การเกษตรไทยดี อนาคตอุตสาหกรรมอาหารไทยดี แต่อุตสาหกรรมบางอย่างของไทยต้องปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันที่ทยอยเข้ามาจากจีน” คุณวัลลภกล่าว

คุณพิมพ์ชนก มองว่า ปัจจุบันสงครามการค้าไม่ใช่แค่เพียงการค้าของสหรัฐและจีน แต่เป็นชนวนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เช่น กรณีของ Huawei ความมั่นคงระหว่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นขัอขัดแย้งระยะยาวแต่ก็ไม่คิดว่าเป็นปัญหาโดยตรงของไทย

ขณะเดียวกัน คุณพิมพ์ชนก มองว่าขณะที่ทุกคนพูดกันเรื่องอุตสาหกรรม แต่เธอมองว่าภาคการผลิตโดน Disrupt แน่นอน และย้ายกลับสหรัฐ เพราะใช้คนน้อยลงใช้เครื่องจักร หรือ Automation มากขึ้น

ขณะที่ระยะกลางไทยทำอะไรได้บ้างเธอมองว่าอนาคตคือภาคบริการ การท่องเที่ยว และไทยได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ หรือเรื่องภาคบริการที่เกี่ยวกับการผลิต เช่น โฆษณา ออกแบบ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ การขนส่ง และเธอไม่ห่วงเรื่องของทรัมป์

พิมพ์ชนก วอนขอพร
คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร อธิบดีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพานิชย์

สรุป

ประเด็นที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป คาดว่าการเจรจาในการประชุมผู้นำ G20 อาจเป็นแค่หยุดศึกชั่วคราวเท่านั้น ขณะเดียวกันประเทศไทยเราอาจได้ประโยชน์จากสงครามการค้าในอนาคต รวมไปถึงอนาคตของประเทศไทยคือภาคบริการต่างๆ เนื่องจากไทยเราเป็นเลิศในด้านนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ