TCP เดินเกมรักษ์โลกด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% ในปี 2024 ทั้งดึงหลายฝ่ายไป Carbon Neutral

ตอนนี้แผนรักษ์โลกกลายเป็นสิ่งจำเป็นของหลายองค์กร ไม่ใช่แค่เป็นสีสัน หรือทำตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ เพราะด้วยปัญหาโลกร้อนที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ กลุ่มลูกค้าของบริษัทเหล่านั้นก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน

กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ของไทย เป็นเจ้าของแบรนด์ เช่น กระทิงแดง, สปอนเซอร์ และแมนซั่ม เป็นต้น ได้เพิ่มความจริงจังเรื่องแผนรักษ์โลก โดยเฉพาะเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ต้องรีไซเคิลได้ 100%

แผนดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไร และกลุ่มธุรกิจ TCP เตรียมเดินหน้ากลยุทธ์รักษ์โลกในเรื่องอื่นหรือไม่ สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้อธิบายให้ฟังอย่างน่าสนใจดังนี้

TCP
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

บรรจุภัณฑ์ต้องรีไซเคิล 100%

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เล่าให้ฟังว่า กลุ่มตั้งเป้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2024 ทั้งลดความหนาของกระป๋องอะลูมิเนียม การลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและขวดพลาสติกเพื่อลดการใช้ทรัพยากร

สัดส่วนการใช้งานบรรจุภัณฑ์ของสินค้ากลุ่ม TCP แบ่งเป็นกระป๋องอะลูมิเนียม 60%, แก้ว 35% และขวดพลาสติก (PET) 5% ซึ่งทั้งหมดนี้แทบจะรีไซเคิลได้ 100% แต่ติดปัญหาเล็กน้อย เช่น ขวดพลาสติกสี รีไซเคิลค่อนข้างยาก แต่บริษัทพร้อมปรับเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้”

“เชื่อว่าขวดสีอะไรก็ไม่น่าเกี่ยวกับเรื่องความอร่อย และมองว่าถ้าหน่วยงานรัฐออกมาบังคับห้ามใช้ขวดพลาสติกสีทุกอย่างก็จบ แต่ฝั่งผู้บริโภคเองต้องมีความเข้าใจในเรื่องแยกขยะเช่นกัน ไม่เช่นนั้นการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ก็เกิดได้ลำบาก ซึ่งเรา และบริษัทอื่น ๆ พยายามช่วยสื่อสารเรื่องนี้อย่างเต็มที่”

ร่วมมือกับทุกฝ่ายผลิตบรรจุภัณฑ์

ถึงจะทำให้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% แต่ปัญหาต่าง ๆ ของบรรจุภัณฑ์ยังคงอยู่ เช่น ขวดแก้วมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ส่งผลต่อการขนส่งที่ย่อมเกิดมลพิษมากกว่า หรือกระป๋องอะลูมิเนียมที่ต้องใช้อุตสาหกรรมเหมืองในการผลิต และปล่อยมลพิษออกมามากเช่นกัน ทำให้บริษัทต้องเร่งแก้ปัญหานี้ด้วย

“เราทำคนเดียวไม่มีทางได้ เพราะบริษัทไม่ได้ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ส่วนต่าง ๆ จึงจำเป็น เช่น การเข้าไปหารือกับโรงแก้วเพื่อช่วยกันลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และหลังจากนี้จะมีโครงการอื่นเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว”

อย่างไรก็ตามการเดินหน้าแผนความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP จะดำเนินไปควบคู่กับตัวเลขทางการเงิน เพราะหากรักษ์โลกเพียงอย่างเดียวแล้วบริษัทขาดทุนก็คงไม่ได้ แต่ในมุมของการลดต้นทุนผ่านการเดินหน้าเรื่องความยั่งยืนนั้นเริ่มเห็นผลมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ

TCP
การเดินหน้าแผนรักษ์โลกของ TCP

อัดงบปีละ 100 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน

ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจ TCP ยังใช้งบประมาณส่วน Sustainability Budget ราว 100 ล้านบาท/ปี เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน และแผนรักษ์โลก แม้ทางกลุ่มจะไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่เรื่องนี้มีความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ

นอกจากเรื่องบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% กลุ่มธุรกิจ TCP ยังตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 จากทุกกระบวนการทำงานทั้งธุรกิจใน และต่างประเทศ รวมถึงเดินหน้าลดการใช้ทรัพยากรน้ำ พร้อมนำน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติมากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตภายในปี 2030

“ความท้าทายในตอนนี้คือเราทำงานแข่งกับเวลา และอยากทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย แม้ปัจจุบันคนในองค์กรเราอาจไม่ได้รู้สึกร่วมไปกับกลยุทธ์นี้ แต่เราก็ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ว่าบางคนทำเพราะใจรัก บางคนทำเพราะเข้าใจ เช่นเดียวกับฝั่งซัพพลายเออร์ที่เราต้องเร่งสื่อสารเรื่องนี้ด้วย”

มองผู้บริโภคใส่ใจ แต่ไม่มากขนาดนั้น

สราวุฒิ มองว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยเริ่มใส่ใจ และร่วมมือเรื่องโลกร้อนมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเวลาไปถึงร้านจำหน่ายสินค้า พวกเขากลับไม่ได้คิดเรื่องนี้มากขนาดนั้น อาจมองเรื่องความจำเป็นมากกว่า แต่หลังจากนี้ตัวแปรเรื่องบรรจุภัณฑ์ หรือเป็นสินค้ารักษ์โลกจะเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อมากกว่าเดิม

เช่นเดียวกับฝั่งซัพพลายเออร์ที่บริษัทต้องเข้าไปเจรจาทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อรับรู้กระบวนการผลิตวัตถุดิบ และการทำธุรกิจ เพื่อให้พวกเขาเดินหน้าธุรกิจล้อไปกับกลยุทธ์รักษ์โลกของบริษัท และเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันทั้งในฝั่งธุรกิจ และการรักษ์โลก

“เราต้องทำตัวเองให้ดีที่สุด เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าสิ่งต่าง ๆ ที่มาช่วยเดินหน้ากลยุทธ์รักษ์โลกนั้นรักษ์โลกจริงหรือไม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งก็ไม่รู้ว่าแหล่งไฟฟ้าที่ได้มานั้นเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ หรือการหันไปขายออนไลน์ก็เกิดมลพิษจากการขนส่งอยู่ดี”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา