ชานม “ฉุน ชุ่ย เฮอ” ภารกิจใหม่ของเถ้าแก่น้อย ในวันที่ไม่ได้มีแค่สาหร่ายอบกรอบอีกต่อไป

“เถ้าแก่น้อย” แบรนด์ที่มีเบื้องหลังความสำเร็จจากการลงมือทำของ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ โดยมีสินค้าที่รู้จักกันมานานอย่างขนมสาหร่ายอบกรอบ กำลังก้าวข้ามความเป็นบริษัทผู้ผลิตขนม ไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เราได้เห็นกันแล้วคือชานม

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

ที่ผ่านมาเรามักคุ้นเคยกับแบรนด์เถ้าแก่น้อยจากขนมสาหร่ายอบกรอบในรสชาติต่างๆ ที่วางขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ และเรื่องราวความสำเร็จของ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เถ้าแก่น้อย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

โดยขนมสาหร่ายอบกรอบเถ้าแก่น้อย นับว่าเป็นขนมที่เป็นของฝากยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนต้องซื้อกลับไป ติดอันดับ Top 3 แต่เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวที่มีปีละเกือบ 30 ล้านคน กลายเป็นศูนย์ คำถามที่เกิดขึ้นคือเถ้าแก่น้อยจะทำอย่างไรในฐานะแบรนด์ที่ผลิตขนมสาหร่ายอบกรอบที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อิทธิพัทธ์ เล่ากลยุทธ์ของเถ้าแก่น้อยที่จะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ว่าจะต้องใช้กลยุทธ์ 3 Go คือ

    1. Go Firm การทำให้องค์กรเฟิร์ม และปรับตัวอย่างรวดเร็ว
    2. Go Broad ขยายสินค้าให้กว้าง ไม่ได้มีแค่สาหร่ายอบกรอบเพียงอย่างเดียว
    3. Go Global คิดในระดับโลก มองโอกาสในตลาดโลก ไม่ได้คิดแค่ให้บริการในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว

เถ้าแก่น้อยที่ไม่ได้มีแค่สาหร่ายอบกรอบอีกต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้แล้วจากกลยุทธ์ 3 Go คือ เถ้าแก่น้อยพยายามลบภาพแบบเดิมๆ ที่มีเพียงขนมสาหร่ายอบกรอบเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สามารถเติบโตไปสู่บริษัทในระดับโลกอย่างที่ตั้งใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้มูลค่าตลาดของขนมอบกรอบลดลงราว 3-4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยิ่งขนมสาหร่ายอบกรอบยิ่งมีมูลค่าตลาดที่ลดลงมากกว่า เพราะฐานลูกค้าสำคัญคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมซื้อเป็นของฝาก

การเปิดตัว ฉุน ชุ่ย เฮอ หรือ Just Drink นมพาสเจอร์ไรส์รสชานม จึงเป็นความพยายามใหม่ของเถ้าแก่น้อยที่จะหวังพึ่งพาเพียงขนมสาหร่ายเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเถ้าแก่น้อยกับ ไต้หวัน บิฟิโด ฟู้ด นำสูตรและวัตถุดิบมาจากไต้หวันมาผลิตที่ประเทศไทย โดยนับว่าเป็นการผลิตที่ประเทศอื่นนอกไต้หวันเป็นครั้งแรกของฉุน ชุ่ย เฮอ เพราะก่อนหน้านี้แม้ฉุน ชุ่ย เฮอ จะเริ่มจำหน่ายที่ฮ่องกง และสิงคโปร์มาแล้ว แต่ก็เป็นการนำเข้าสินค้าจากไต้หวันทั้งสิ้น

สาเหตุหนึ่งที่เถ้าแก่น้อยลงมาเล่นในตลาด “ชานม” เป็นเพราะในปัจจุบันตลาดการบริโภคชานมในประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ที่มีมูลค่า 16,000 ล้านบาท ในปี 2563

ฉุน ชุ่ย เฮอ ชานมที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ

แม้ว่า ฉุน ชุ่ย เฮอ จะเป็นเครื่องดื่มนมพาสเจอร์ไรส์รสชานม ที่ขายในร้าน 7-11 ทั่วประเทศ ไม่ใช่คู่แข่งกับร้านขายชานมใส่แก้วชื่อดังหลายๆ ร้าน แต่อิทธิพัทธ์จะใช้การขายผ่าน 7-11 ทั่วประเทศเป็นจุดแข่งขัน ในฐานะชานมที่มีสาขามากที่ในประเทศ โดยขณะนี้ฉุน ชุ่ย เฮอ วางขายแล้วใน 7-11 6,000 สาขาทั่วประเทศ และจะขยายให้ครบ 12,000 สาขาในอนาคต เพราะจะต้องคำนึงถึงกำลังการผลิตที่สามารถทำได้ด้วย โดยในช่วงแรกหลังการเปิดตัว ฉุน ชุ่ย เฮอ มียอดขายราว 30,000 ขวดต่อวัน

ช่องว่างในตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ที่ทำให้เถ้าแก่น้อยเห็นโอกาสที่จะเข้ามาในตลาดคือ ความไม่หลากหลายของผลิตภัณฑ์นม ที่ไม่ได้มีความแปลกใหม่มากนัก ผู้ผลิตนมในท้องตลาดมีแต่นมรสชาติทั่วไป ส่วนนมรสชานมมี แต่ยังคงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้มีความ Mass เถ้าแก่น้อยจึงมองเห็นโอกาสที่ ฉุน ชุ่ย เฮอ จะเติบโตได้

ในขณะนี้ ฉุน ชุ่ย เฮอ มีให้เลือกเพียงรสชาติเดียวเท่านั้น ซึ่งในปีหน้านี้เถ้าแก่น้อยวางแผนที่จะนำรสชาติอื่นๆ เข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยต่อไป รวมถึงรสชาติที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อรับกับกระแสการรักสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ โดย ฉุน ชุ่ย เฮอ ในไต้หวันมีให้เลือกเกือบ 20 รสชาติ ทั้งรสชาติพื้นฐานที่เป็นที่นิยม และรสชาติพิเศษที่หมุนเวียนตามเทศกาล

เถ้าแก่น้อยแลนด์ยังอยู่ รอวันนักท่องเที่ยวกลับมา

อีกหนึ่งธุรกิจหนึ่งของเถ้าแก่น้อย คือ เถ้าแก่น้อยแลนด์ ที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เคยมีสาขามากถึง 17 สาขา แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 5 สาขาเท่านั้นที่ยังเปิดให้บริการอยู่ แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้เลย แต่อิทธิพัทธ์ ยังคงมองในแง่ดีโดยเลือกที่จะยังเก็บเถ้าแก่น้อยแลนด์เอาไว้ เพราะในอนาคตหากนักท่องเที่ยวกลับมา จะทำให้คู่แข่งของเถ้าแก่น้อยแลนด์หายไปทันที

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา