SCB – IMF มองเศรษฐกิจไทยปี 67 ฟื้นตัวขึ้นกว่าปีก่อน จับตา 6 ปัจจัยท้าทาย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก โดยแมีรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น มาตรการลดค่าครองชีพ และโครงการ Easy e-receipt กระตุ้นการใช้จ่าย แต่ผลบวกของโครงการต่างๆ อาจไม่มากเท่าในอดีต เพราะเงื่อนไขจำกัดเฉพาะร้านที่ออก e-Tax Invoice ได้ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวและส่งออกยังกลับมาขยายตัวจึงคาดว่า GDP ไทยปีนี้จะอยู่ที่ 3.0% 

ทั้งนี้ มีปัจจัยบวก 2 ด้านหลัก ได้แก่

  1. การส่งออกฟื้นตัว จากแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น
  2. การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวดี ตามแนวโน้มยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน และนโยบายส่งเสริมภาครัฐ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องและตลาดแรงงานอ่อนแอลง อีกทั้ง ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้าน ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยง 6 ด้านหลัก ได้แก่

  1. เศรษฐกิจจีนชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง กระทบการฟื้นตัวของการส่งออกไทยและนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้ง จีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (Required Reserve Ratio : RRR) ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบปีนี้ 
  2. ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก (การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในบริเวณทะเลแดงและปัญหาน้ำแล้งในคลองปานามา)
  3. Climate risks ส่งผลต่อภาคเกษตรไทย 
  4. รายได้ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และหนี้สูง ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังน่ากังวล โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่อาจมีการพึ่งพาหนี้นอกระบบสูง และมีแนวโน้มติดอยู่ในวงจรหนี้อีกนาน จึงต้องอาศัยนโยบายระยะสั้น เพิ่มสภาพคล่องและแก้หนี้ให้กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ควบคู่กับนโยบายระยะยาว เพิ่มภูมิคุ้มกันคนไทย

    ที่มา SCB EIC
  5. การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 ที่ล่าช้ากดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก
  6. ความเสี่ยงในระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโบายที่อยู่ในระดับสูง แต่มองว่าธนาคารกลางหลักมีแนวโน้มจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2 จากเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลง 

ในส่วนของเงินเฟ้อไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน โดย SCB EIC ประเมินว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายตัวรายสินค้าเป็นวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก ในระยะต่อไป มองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลักกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้กลุ่มเปราะบางฟื้นช้า

ขณะเดียวกัน ปี 2567 นี้ SCB EIC คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ตลอดปีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสู่ศักยภาพและเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย อีกทั้ง ยังสื่อสารสนับสนุนให้ใช้มาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า 

ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงต้นปี เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าตามมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ลดดอกเบี้ยฯ ช้าลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนที่ยังไม่ค่อยดีนัก มุมมองเงินบาทในระยะต่อไปคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องได้สู่ระดับ 32.00-33.00 ณ สิ้นปีนี้

นอกจากนี้ ล่าสุดทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้ประเมินว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.4% ภายใต้สมมติฐานและผลจากมาตรการ Digital Wallet โดยมองว่าปัจจัยหนุนการฟื้นตัวจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง 

อีกทั้ง คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2567 จะอยู่ที่ 1.7% (เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ประมาณการไว้ราว 1.3%)

ที่มา ธนาคารไทยพาณิชย์, IMF

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา