ถอดบทเรียน ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’: หนุนเยาวชนพัฒนาความรู้ เสริมทักษะใหม่ เปลี่ยนแปลงตัวเองสู่เวอร์ชั่นที่ดีที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ โดยหนึ่งในปัจจัยที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ นั่นก็คือการให้โอกาสทางการศึกษา มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาเห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน และนี่คือส่วนหนึ่งของการพยายามผลักดันโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ให้เกิดขึ้น

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ คือโครงการที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนหรือนักเรียนระดับมัธยมปลายได้มีองค์ความรู้จากการเรียนรู้ ฝึกฝน เพื่อทดลองลงมือทำธุรกิจจริง เป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนที่ต้องการเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการในวันข้างหน้า สามารถนำแนวคิดไปลงมือปฏิบัติจริงได้ องค์ความรู้ดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงที่มาจากความล้มเหลวเพราะความไม่รู้ได้ โครงการนี้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” 

PohPhanPanya

ความโดดเด่นของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ หาได้ยากจากโครงการอื่น

ความโดดเด่นของโครงการนี้ โดยเฉพาะแนวคิดที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำจริง เป็นการนำความรู้ด้านการทำธุรกิจสมัยใหม่ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ จากวิทยากรนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศและนักธุรกิจในจังหวัดน่านที่มาแบ่งปันประสบการณ์ผนวกกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนในรูปแบบใหม่ให้โจทย์เรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น ทำให้เป็นโครงการที่มีความแตกต่างที่สำคัญคือ

1) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ด้านธุรกิจที่เกิดจากการปฏิบัติจริงและทำธุรกิจจริง ไม่ใช่เพียงการคิดโครงงานหรือนำเสนอแผนงาน

2) เป็นการเรียนรู้ที่กระตุ้นไอเดียของเยาวชนให้มองเห็นถึงประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น สิ่งนี้ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนรู้สึกภูมิใจในบ้านเกิดของตนเอง และนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นมาทำให้เกิดจุดเด่นในตัวสินค้า

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นแรกเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายที่เคยผ่านกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาจาก 8 โรงเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดน่าน โรงเรียนละ 5 คน รวม 40 คน ได้เรียนรู้และทดลองทำธุรกิจจริงทุกขั้นตอน ผ่านการร่วมกิจกรรม 3 แคมป์ คือ แคมป์กล้าเรียน คือแคมป์ที่ปูพื้นฐานและแนวคิดด้านธุรกิจ จากนั้นคือแคมป์กล้าลุย ให้นำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาทดลองขายและพบปะกับลูกค้าตัวจริง เพื่อนำความเห็นของลูกค้าไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และแคมป์กล้าก้าว คือแคมป์ที่จะสรุปบทเรียนและนำเสนอผลประกอบการ

PohPhanPanya

สำหรับเยาวชนทั้ง 8 โรงเรียนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรหรือสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นและสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าต่อยอดเป็นธุรกิจได้น่าสนใจ ประกอบด้วย 

1) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน (คุกกี้ แบรนด์ Ten Bites) มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์แต่ละชาติพันธุ์ของน่าน รวมทั้งผ้าปักลายเฉพาะของแต่ละชนเผ่า หัตถกรรมท้องถิ่นในจังหวัดน่าน

2) โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม (กาแฟ พิซซ่าม้ง แบรนด์ มองเดอพี) กาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ แหล่งกาแฟที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และพิซซ่าม้งที่เป็นอาหารเฉพาะของชนเผ่าม้ง ทำทานในเทศกาลปีละครั้ง สามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงอาหารเฉพาะถิ่นในวงที่กว้างขึ้นได้

3) โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี (ข้าวแคบ แบรนด์ลินา) พัฒนาข้าวแคบให้มีรูปลักษณ์แตกต่างจากเดิมและมีรสชาติหลากหลาย เป็นแปลงอาหารทานเล่นที่ชุมชนรู้จักดี ให้มีรสชาติแปลกใหม่และทานง่าย

PohPhanPanya

4) โรงเรียนเชียงกลาง “ประชาพัฒนา” (น้ำพริก แบรนด์น้ำพริกสามช่า) เป็นน้ำพริกมะเขือเทศ เสิร์ฟพร้อมสาหร่ายไกยี สาหร่ายน้ำจืดที่มีประโยชน์จากแม่น้ำในพื้นที่จังหวัดน่าน

5) โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน (สแน็คบ็อกซ์พรีเมี่ยม แบรนด์ NALANA) เป็นการออกแบบสแน็คบ็อกซ์ที่ยกระดับ 6 ขนมของดังที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละอำเภอในจังหวัดน่าน บรรจุในแพคเกจลายพิเศษเพื่อเพิ่มมูลค่า

6) โรงเรียนสา (ข้าวหลามถอดเสื้อ แบรนด์หลามรวย) เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แก้ปัญหาข้าวหลามให้มีหีบห่อที่สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น ยืดอายุการจัดเก็บและขนส่งเพื่อจำหน่ายได้หลายวัน มีหลากรส และยังมีมะแขว่นพืชประจำถิ่นมาปรุงรสด้วย

7) โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม (น้ำสลัดอะโวคาโด แบรนด์ KADO) พัฒนาน้ำสลัดจากเนื้ออะโวคาโดแท้ ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน ทำให้อาหารคลีนมีรสชาติกลมกล่อมและยังมีการนำเกลือสินเธาว์จากจังหวัดน่านมาใช้ด้วย

8) โรงเรียนปัว (เนยถั่วมะมื่น แบรนด์มะมื่นบัตเตอร์) มะมื่นหรืออีกชื่อคืออัลมอนต์เมืองไทยยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก นำมาพัฒนาเป็นเนยถั่วที่ดีต่อสุขภาพและรสชาติดี สามารถเสิร์ฟพร้อมอาหารจากตะวันตกได้ดี

จากรายชื่อผลิตภัณฑ์จากทั้ง 8 โรงเรียนเผยให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นทรัพยากรหรือสิ่งที่โดดเด่นขึ้นชื่อที่มีเฉพาะท้องที่มาพัฒนาเป็นสินค้าที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้วิธีคิดในการทำธุรกิจจากการลงมือทำจริง ทำให้พวกเขาสามารถใช้โอกาสนี้ต่อยอดได้ จากสิ่งที่หาได้ง่ายในพื้นที่ของตนเอง เรามาดูการสรุปบทเรียนจากสิ่งที่เยาชนเหล่านี้ได้เรียนรู้จากการร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์นี้บ้าง ว่าพวกเขาได้อะไรไปบ้างจากกิจกรรมเหล่านี้

PohPhanPanya

ถอดบทเรียนจากเยาวชนวัยมัธยมปลาย กับการเรียนรู้ที่ได้รับจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์

เริ่มที่ทีมโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม (กาแฟ พิซซ่าม้ง แบรนด์ มองเดอพี) พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันระหว่างคนในทีม รู้จักยอมรับกันและกัน เรียนรู้ที่จะประชุมและพูดคุยหารือกัน เรียนรู้ที่จะรับฟังปัญหาและข้อจำกัดของสมาชิกในทีม จากแนวคิดแรกที่จะทำธุรกิจท่องเที่ยว แต่ด้วยอุปสรรคทั้งเรื่องไฟป่าและปัญหาหมอกควัน จึงทำให้ค่อยๆ ปรับแผน สุดท้ายพวกเขาก็ได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากการลงมือทำจริง เรียนรู้บทบาทการเป็นผู้นำ ความพร้อมที่จะปรับตัว เรียนรู้ว่าตัวเองพัฒนาสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น 

ทีมโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี (ข้าวแคบ แบรนด์ลินา) บทเรียนที่ทีมนี้ได้จากการทำงานร่วมกันผ่านโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ก็คือพวกเขาเรียนรู้ว่าการแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ที่แต่ละคนถนัดและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดจะทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้ ทีมนี้เรียนรู้ที่จะผลักดันให้สมาชิกในทีมแต่ละคนมีบทบาทที่โดดเด่น พร้อมทั้งชูจุดเด่นของสินค้าได้ดี เรียนรู้ที่จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ปรับกลยุทธ์เมื่อพบว่าสินค้าแบบไหนตอบโจทย์ลูกค้า เช่น การอบข้าวแคบทำให้เนื้อสัมผัสแข็งกระด้าง เปลี่ยนมาใช้ข้าวแคบทอด ผลตอบรับก็ดีขึ้น ตลอดจนรู้จักปรับกลยุทธ์เมื่อพบว่าพื้นที่จัดจำหน่ายบริเวณข่วงเมืองมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง ก็ปรับมาเจาะตลาดกลุ่มเล็กก่อน แล้วจึงค่อยๆ เรียนรู้ที่จะขายในชุมชนมากขึ้นโดยที่ค่าขนส่งไม่สูงเท่าเดิม เป็นต้น

PohPhanPanya

โรงเรียนเชียงกลาง “ประชาพัฒนา” (น้ำพริก แบรนด์น้ำพริกสามช่า) ทีมนี้เรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีมมากขึ้น เข้าใจตัวเองว่ายังแบ่งหน้าที่ไม่ดีพอ จนค่อยๆ ปรับและทำให้งานราบรื่นและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าช่วงแรก จากเดิมที่คิดว่าจะทำที่ข่วนเล็บแมวจากชานอ้อย แต่อุปสรรคสำคัญคือจังหวัดน่านไม่ใช่พื้นที่ปลูกอ้อย จึงทำให้หาชานอ้อยได้ยาก สุดท้ายจึงเปลี่ยนผลิตภัณฑ์มาเป็นขายน้ำพริก ทำไกแผ่นที่เป็นสาหร่ายเฉพาะถิ่นขาย ซึ่งมีผลตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี เนื่องจากประชุมทีมบ่อยขึ้นจึงทำให้เข้าใจกันมากขึ้น หลังร่วมกิจกรรมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ก็ทำให้เรียนรู้ในการทำธุรกิจและเข้าใจอุปสรรคในการทำธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ยังค้นหาตัวเองไม่พบ ก็รู้จักปรับตัวและเห็นหนทางที่จะเรียนต่อในสาขาที่สามารถพัฒนาความรู้ในอนาคตได้ดีขึ้น

โรงเรียนปัว (เนยถั่วมะมื่น แบรนด์มะมื่นบัตเตอร์) ทีมได้เรียนรู้ที่จะลงมือทำจริงมากกว่าเรียนรู้จากหน้าจอสไลด์ ได้ลองพัฒนาสินค้าจริง ลงตลาดจริงและลงมือขายจริง ทีมได้รู้จักกันมากขึ้นจากการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเม็ดมะมื่น รู้สึกดีที่สามารถทำให้วัตถุดิบพื้นบ้านท้องถิ่นที่ถูกลืม ให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น การเรียนรู้จากแคมป์ทำให้มีความคิดที่เป็นระบบและรอบคอบมากขึ้น ทำให้เห็นมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเป็นเหตุเป็นผล

จากบทสัมภาษณ์บางส่วนของกลุ่มนักเรียนที่ได้ผ่านโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ในครั้งนี้ พบว่าโครงการนี้ช่วยทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ระบบการทำงานเป็นทีมมากขึ้น ทำให้เรียนรู้ที่จะพัฒนาธุรกิจจากการลงมือทำจริง พร้อมผลักดันให้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ฟังเสียงสะท้อนการเรียนรู้จากมุมมองของฝั่งครู

นอกจากการสะท้อนมุมมองจากฝั่งนักเรียนแล้ว เรายังมีตัวอย่างบทสัมภาษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองครูที่ปรึกษาจากแต่ละโรงเรียนที่มีต่อพัฒนาการของนักเรียนผ่านโครงการ ดังนี้

โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โดยศิริลักษณ์ ทรายคำ และศาสตราพิพัฒน์ ศิริภาณุกุล ครูสะท้อนมุมมองว่าการเรียนรู้วิธีคิดในการทำธุรกิจนั้น ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนที่ได้เรียนรู้ แต่รวมถึงครูก็ได้เรียนรู้ด้วย เป็นกระบวนการเรียน การสอนที่ได้ลงมือทำจริง ทำให้เด็กกล้าคิด กล้าปฏิบัติ และคิดว่าสิ่งนี้น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ตลอดจนสามารถนำไปใช้ต่อในชีวิตจริงได้

โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม โดยณัฐพร ธรรมวงศ์ และกันตพงษ์ หมั่นดี ครูทั้งสองพบว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ เป็นโครงการที่สนับสนุนให้นักเรียนได้มีความคิดสร้างสรรค์ ลงมือทำจริงกับไอเดียทางธุรกิจที่พวกเขาได้เรียนรู้ เป็นประสบการณ์ชั้นเลิศที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง จากการติดตามพัฒนาการก็พบว่านักเรียนมีความกล้ามากขึ้น กล้าเรียน กล้าลุย มีวิธีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น มีวินัยสูงและรู้จักบริหารจัดการ เรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีมมากขึ้น

PohPhanPanya

สรุปผลโครงการและความคาดหวังจากมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

ดร. อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา สรุปผลของโครงการดังกล่าวว่า โครงการนี้ทำทั้งหมด 3 ค่าย เพื่อผลักดันให้นักเรียนระดับมัธยมปลายได้เรียนรู้ แคมป์กล้าเรียนคือแคมป์แรกที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ขณะที่แคมป์สองคือแคมป์กล้าลุย ทำให้นักเรียนรู้จักลงมือทำจริง และแคมป์ที่สามคือแคมป์กล้าก้าว เป็นแคมป์ที่เผยบทสรุปจากสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้และลงมือทำก่อนหน้านี้ ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาได้จากการเรียนรู้ ส่งผลอย่างไรบ้าง

จากการร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว พร้อมทั้งได้พูดคุยกับบรรดาครูที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ได้สะท้อนให้รู้ว่าเด็กมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ สามารถพัฒนาทักษะตัวเองและองค์ความรู้จนกลายเป็นตัวเองในแบบฉบับที่ดีที่สุดได้ ซึ่งก็เป็นไปตามที่มูลนิธิคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่บวกจากผู้เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งในสถานะนักเรียน ครู และสังคม

จากการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาดังกล่าว มูลนิธิคาดหวังว่าประโยชน์จากความรู้ผ่านการลงมือทำจริงจากการร่วมแคมป์ต่างๆ จะส่งผลให้ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงบ้างไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าโครงการดังกล่าวอาจแก้ปัญหาไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้ที่ได้โอกาสในการเข้าร่วมโครงการก็สามารถมีความรู้ได้ไม่น้อยไปกว่าคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ความรู้ที่เหนือจากหลักสูตรปกติทั่วไป อย่างน้อยโครงการก็ได้มีส่วนในการอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมบ้าง สำหรับปีต่อไป หลังจากได้เรียนรู้แล้วว่าเด็กต้องการใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านโครงการอย่างไร ก็จะทำให้โครงการสามารถพัฒนาหลักสูตรในการให้ความรู้และออกแบบกิจกรรมที่มีขึ้นต่อไปในอนาคตให้มีความเข้มข้นมากกว่าเดิมและสร้างประโยชน์ให้สังคมมากกว่าเดิมได้

ดร. อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

สรุป

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ที่ได้บ่มเพาะและหล่อหลอมเยาวชนจากจังหวัดน่านให้เติบโตขึ้นผ่านการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง ไม่เพียงเป็นการเพิ่มโอกาสในการเพิ่มทักษะให้แก่เยาวชนตลอดจนครูผู้สอนผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม แต่ยังถือเป็นอีกกลไกหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งในแง่ของการให้โอกาสเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชนบท ห่างไกลจากโอกาสในการสรรหาความรู้ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงในการทำธุรกิจ ตลอดจนความรู้จากการลงมือทำจริงซึ่งหาได้ยากจากโครงการอื่นๆ 

สิ่งที่เยาวชนระดับมัธยมปลาย ครูที่ปรึกษาจากแต่ละโรงเรียน ตลอดจนมูลนิธิผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดทำกิจกรรมได้เรียนรู้ คือการเพิ่มความรู้และทักษะผ่านการเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ต่างสะท้อนมุมมองที่เป็นสาระสำคัญจากโครงการตรงกันว่า เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 40 คนต่างมีพัฒนาการในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รู้จักทำงานเป็นทีมเรียนรู้ที่จะชูประโยชน์และทำให้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นโดดเด่นและมีความสำคัญมากขึ้น ตลอดจนหารายได้ให้กับชุนชนเพิ่มมากขึ้นด้วย อาจกล่าวได้ว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ไม่เพียงทำให้เยาวชนเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น แต่ยังได้พัฒนาความรู้และทักษะและสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยกระดับให้ตัวเองอยู่ในรูปแบบที่ดีที่สุดขึ้นได้จากการเข้าร่วมเรียนรู้และลงมือทำผ่านประสบการณ์จริง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา