ไม่มีบริษัทจีนติด Top 10 บริษัทมูลค่าสูงที่สุดในโลก แม้แต่ Tencent และ Alibaba ก็ยังหลุดโผ เหตุรัฐบาลคุมเอกชนเข้ม ความขัดแย้งสหรัฐ ทำเติบโตจำกัด
ไม่มีจีนใน Top 10 แม้แต่บริษัทเดียว
ต้องยอมรับบริษัทโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีจากจีนสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ดูเหมือนว่าปี 2021 อาจจะไม่ใช่ปีทองของบริษัทจีนสักเท่าไหร่ เพราะในปี 2021 ไม่มีบริษัทจีนที่ติด Top 10 บริษัทที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) สูงที่สุดในโลก
ทั้งนี้ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่เป็นความหวังในการต่อกรกับประเทศอื่นๆ ในสนามเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง Tencent Holdings และ Alibaba Group ก็ล้วนร่วงลงมาจาก 10 อันดับแรก ของบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุด จากข้อมูลของ QUICK-FactSet เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2021
เมื่อปลายปี 2020 ทั้ง 2 บริษัทเคยติด Top 10 มาก่อน ก่อนจะหลุด 10 อันดับแรกในปีนี้
- Tencent Holdings เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดอันดับ 7 ปี 2020
- Alibaba Group เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดอันดับ 9 ปี 2020
บริษัทสหรัฐครองเกือบหมด-มี TSMC
ทั้งนี้ 10 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในปี 2021 ได้แก่
- Apple (สหรัฐฯ)
- Microsoft (สหรัฐฯ)
- Alphabet บริษัทแม่ของ Google (สหรัฐฯ)
- Saudi Aramco (ซาอุดิอาระเบีย)
- Amazon.com (สหรัฐฯ)
- Tesla (สหรัฐฯ)
- Meta หรือ Facebook (สหรัฐฯ)
- Nvidia (สหรัฐฯ)
- Berkshire Hathaway (สหรัฐฯ)
- TSMC (ไต้หวัน)
สังเกตุได้ว่า บริษัทจากสหรัฐฯ เข้ามายึดตำแหน่ง Top 10 ได้ถึง 8 อันดับ และมี TSMC บริษัทผู้ครองตลาดเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันเข้ามาร่วมแจมใน 10 อันดับแรกของบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในปี 2021
ไม่บ่อยครั้งที่จีนจะหลุดโผ นับตั้งแต่ 2007
ที่จริงแล้ว บริษัทจากจีนเคยทำได้ดีในแง่ของ Market Cap. เมื่อปี 2007 ในขณะที่ดัชนี Shanghai Composite Index แตะระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ บริษัทจีนสามารถยึด 4 จาก 10 อันดับแรกของบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในปีนั้น แถม 3 ใน 5 อันดับแรก ล้วนเป็นบริษัทจากจีนทั้งสิ้น
โดยบริษัทจีนที่ติดอันดับ ได้แก่ Petro China (อันดับ 1), China Mobile (อันดับ 4), Industrial and Commercial Bank of China (อันดับ 5), Sinopec (อันดับ 10)
ที่สำคัญก็คือ หลังจากนั้นมา บริษัทจากจีนก็สามารถต่อกรกับบริษัทจากประเทศอื่นๆ ได้อย่างสูสีมาโดยตลอดในแง่ของ Market Capitalization ของบริษัท
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด คือ การควบคุมเอกชนเข้มงวดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (เริ่มตั้งแต่กรณีล้มดีล IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ Alibaba) และ ความขัดแย้งที่นำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ
พรรคคอมมิวนิสต์จีนคุมเข้ม
การแผ่ขยายบทบาทควบคุมบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีน เริ่มต้นเมื่อช่วงปลายปี 2020 ตั้งแต่ที่รัฐบาลประกาศให้การ IPO ในตลาดเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงของ Alibaba ไม่ผ่านเงื่อนไขด้านการกำกับดูแลบางประการ
และหลังจากนั้นเป็นต้นมา มหากาพย์ของการทุบบรรดาบริษัทเทคก็ได้เริ่มต้นขึ้น ไล่ไปตั้งแต่กรณีของ Tencent, Didi, TikTok ลามไปจนถึงการปฏิรูปครั้งใหญ่ในธุรกิจสอนพิเศษ และวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจเกม
ความขัดแย้งกับสหรัฐสูง
นอกจากเคราะห์ซ้ำ บริษัทจีนยังต้องมาเจอกรรมซัด เพราะตั้งแต่ที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในช่วงหลัง จีนก็ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่แข็งกร้าวขึ้น กระทบกระทั่งกับมหาอำนาจเบอร์ 1 อย่างสหรัฐฯ มาตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลากยาวมาถึงสมัยของโจ ไบเดน โดยไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน
ล่าสุด สหรัฐฯ เพิ่งจะผ่านกฎหมาย Uyghur Forced Labor Prevention Act แบนธุรกิจที่มีส่วนพัวพันกับค่ายกักกันในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งบริษัทโดรนเจ้าดังอย่าง DJI ก็โดนหางเลขไปเต็มๆ
แถมก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งจะสั่งแบนการระดมทุนของบริษัทจีนในตลาดสหรัฐกว่า 59 บริษัท รวมถึง Hikvision บริษัทเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย และ SMIC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เจ้าดังของจีน และยังได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร มอบอำนาจในการตรวจสอบแอปพลิเคชันจีนที่เข้มข้นกว่าเดิมให้กับกระทรวงพาณิชย์
และในแง่นโยบายระหว่างประเทศ โจ ไบเดน ประกาศนโยบาย Buy American กระจายความเสี่ยงของสายพานการผลิตออกจากจีน อุดหนุนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เช่น พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเตอร์ ของผู้ผลิตสัญชาติสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การตัดขาดจากพันธมิตร ในแถลงการณ์เกี่ยวกับนโยบาย Buy American มีข้อความสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่า “จะมีการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อปกป้องการถูกผูกขาดสายพานการผลิตจากประเทศอย่างจีน”
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา