เปิดเบื้องหลังล้มดีล Ant Group: เมื่อ “สี จิ้นผิง” ไม่พอใจ “แจ๊ค หม่า”

Jack Ma, Ant Group
SEATTLE, WA – SEPTEMBER 23: Jack Ma, CEO of Alibaba listens as Chinese President Xi Jinping speaks at a U.S.-China business roundtable, comprised of U.S. and Chinese CEOs on September 23, 2015, in Seattle, Washington. The Paulson Institute, in partnership with the China Council for the Promotion of International Trade, co-hosted the event. (Photo by Elaine Thompson-Pool/Getty Images)

Ant Group ดีล IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ล้มไม่เป็นท่า

เป็นข่าวใหญ่โต เมื่อ IPO ของ Ant Group ที่คาดกันว่าจะเป็นดีลขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่ระดับ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 ล้านล้านบาทถูกยกเลิกไป

ส่วนเหตุผลที่ดีล Ant Group ล้ม ตอนแรกสาธารณะรับรู้เพียงว่า “ดีลนี้ไม่ผ่านเงื่อนไขด้านการกำกับดูแลบางอย่าง”

แต่ทว่าผ่านไปไม่กี่วัน มีรายงานที่อ้างอิงแหล่งข่าวภายในของรัฐบาลจีนว่า เอาเข้าจริงแล้ว ที่ดีล Ant Group ไม่ผ่านเป็นเพราะผู้นำสูงสุดจีนไม่พอใจแจ๊ค หม่า

เมื่อผู้นำสูงสุดไม่ปลื้ม

เหตุที่ทำให้สี จิ้นผิง ไม่พอใจแจ๊ค หม่ามาจากการพูดในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาสำคัญที่ทำให้เขาประสบปัญหากับทางการจีนมีหลายส่วน ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าหน่วยงานที่ดูแลกำกับด้านการเงินเป็นตัวฉุดรั้งนวัตกรรม รวมทั้งบอกว่า สถาบันทางการเงินจีนไม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจรายเล็กรายย่อย นั่นก็เป็นเพราะ “หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีนมุ่งเป้าไปที่ความเสี่ยงมากจนเกินไป และละเลยที่จะมองไปที่การพัฒนา” และหม่าก็บอกอีกว่า “เอาจริงๆ ระบบการเงินของจีนไม่มีการจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ หรือพูดอีกอย่างคือ ระบบการเงินของจีนไม่มีระบบนั่นเอง”

แน่นอนว่า การพูดของหม่าในที่สาธารณะครั้งนี้ถึงหูของผู้มีอำนาจในรัฐบาลจีน และรวมถึงผู้นำสูงสุดอย่างสี จิ้นผิง

แหล่งข่าวภายในของทางการจีน บอกว่า ไม่ใช่แค่สีเท่านั้นที่โกรธในสิ่งที่หม่าพูด แต่รวมถึงผู้นำระดับสูงหลายคนก็ไม่พอใจเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่หม่าพูดเป็นการให้ร้าย-ทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีน และในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวเองดูดี

และนี่เองที่เป็นที่มาซึ่งทำให้ดีล Ant Group ล้มไม่เป็นท่า

Presidnet Xi Jinping Meets Visiting Armenian President Serzh Sargsyan
Chinese President Xi Jinping (L) meets Armenian President Serzh Sargsyan (R) at the Great Hall of the People on March 25, 2015 in Beijing, China. (Photo by Feng Li – Pool/Getty Images)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หม่าวิจารณ์สถาบันทางการเงินจีน

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เป็นเพราะหม่าเกษียณแล้ว จึงออกมาวิจารณ์ได้มากขึ้นหรือเปล่า?

คำตอบคือ ไม่ใช่

เพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในปี 2008 หม่าเคยพูดว่า ธนาคารในจีนหลายแห่งไม่สนใจคนทำธุรกิจเลย แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้า “ธนาคารไม่ยอมเปลี่ยน เราก็จะเปลี่ยนธนาคารเอง” พร้อมทั้งได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า จะสร้างระบบการกู้ยืมเงินที่ครบวงจรและเป็นประโยชน์กับคนทำธุรกิจตัวเล็กๆ

ในปี 2013 หม่าซัดเหล่าบรรดาคนทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินว่า “อันที่จริงจีนไม่ได้ขาดนวัตกรรมทางการเงินอะไรหรอก แต่สิ่งที่จีนขาดจริงๆ คือสถาบันทางการเงินที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษหน้าต่างหาก” และหลังจากนั้นไม่นาน ในปีเดียวกัน Alipay ก็ได้ทำระบบกองทุนตลาดเงินออนไลน์ (online money-market mutual fund) เพื่อช่วยเหลือผู้คนในการลงทุน และให้เก็บเงินในไว้แพลตฟอร์มของ Alipay ได้ ซึ่งหลังจากที่มีระบบนี้ขึ้นมาปรากฏว่า คนจีนจำนวนมากเอาเงินออกจากธนาคารแบบดั้งเดิม แล้วหันมาเก็บเงิน-ลงทุนใน Alipay แทน

หรืออย่างในรอบนี้ปี 2020 ที่หม่าวิจารณ์ระบบการเงินจีนอีกครั้ง ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีในโลกออนไลน์ หลายคนแสดงความคิดเห็นขอบคุณที่หม่ากล้าออกมาพูดในประเด็นนี้

นี่คือการท้าทายรัฐบาลจีน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และที่สำคัญ ต้องอย่าลืมว่า Ant Group ที่มีบริการ Alipay เป็นตัวชูโรงนั้นสามารถเข้าถึงประชากรจีนได้เกือบ 70% ทั่วประเทศ แถมปล่อยเงินกู้ให้กับบุคคลทั่วไป 500 ล้านคน รวมถึงธุรกิจรายเล็กรายย่อยอีกกว่า 20 ล้านราย

นี่คือพลังของ Ant Group ที่มีเบื้องหลังคือผู้ทรงอิทธิพลอย่างแจ๊ค หม่า และเมื่อวันหนึ่งกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลจีน แน่นอนว่า ผู้มีอำนาจย่อมต้องทำอะไรสักอย่าง

เพราะถึงที่สุดแล้ว “สีไม่สนใจว่าคุณจะทำอะไรจนร่ำรวยขึ้นมาได้ สิ่งที่เขาสนใจ คือสิ่งที่คุณทำหลังร่ำรวยแล้วต่างหาก เขาจะดูว่าคุณได้ปรับผลประโยชน์ของตัวเอง ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศหรือไม่” แหล่งข่าวของรัฐบาลจีนให้ข้อมูล

อ้างอิง – The Wall Street Journal, Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา