ยุคมืดวงการติวเตอร์จีน: ทางการออกกฎคุมเข้ม บริษัทต้องเลิกจ้างพนักงาน เลื่อนแผน IPO

หลังจากทางการจีนเริ่มทุบวงการการศึกษาในประเทศ ตั้งแต่ออกกฎห้ามรับนักเรียนที่เด็กเกินไป หรือการกำกับค่าเรียนก็ตาม ล่าสุดทางรัฐก็เริ่มควบคุมบริษัทจีนที่ต้องการ IPO ในสหรัฐอีกด้วย วงการที่กำไรมหาศาลนี้ก็เริ่มชะลอตัวลง

ทางการออกกฎระเบียบที่เคร่งครัดมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนมีมาตรการควบคุมวงการการศึกษาแค่ในเรื่องของการโฆษณา แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทางการก็มีท่าทีที่จริงจังมากขึ้น ตั้งแต่การเปลี่ยนกฎการป้องกันเยาวชน ห้ามสอนหลักสูตรประถมศึกษาแก่นักเรียนอนุบาล รวมถึงห้ามให้บริการติวเตอร์ในวันหยุดและวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น 

คนในวงการกำลังเตรียมรับมือกับกฎระเบียบใหม่ๆ ที่จะเข้ามากำกับการสอนนักเรียนวัย K-12 หรือตั้งแต่วัยอนุบาลจนจบมัธยมปลายในอนาคต อีกทั้งยังปรับหลายบริษัทที่ทำผิดกฎหมายอีกด้วย

กระทบวงการติวเตอร์ออนไลน์อย่างหนัก

การกำกับครั้งนี้ของรัฐบาลส่งผลกระทบโดยตรงแก่สตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมการศึกษาที่มาแรงอย่างยิ่งในปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่บังคับให้เด็กต้องเรียนออนไลน์

บางบริษัท เช่น Gaotu (จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก) ประกาศเลิกรับสมัครนักเรียนอายุ 3-6 ปี และเลิกจ้างพนักงานถึง 1 ใน 3 ส่วนด้าน VIPKid ที่ได้รับการสนับสนุนโดย Tencent ได้ประกาศเลื่อนการ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐออกไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนคาดว่าขนาดของอุตสาหกรรมติวเตอร์นอกเวลาเรียนจะลดลงถึง 30%

Andrea Previtera ที่ปรึกษาการลงทุนด้านอุตสาหกรรม EdTech ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีน นักลงทุนหลายรายหันไปลงทุนในตลาดที่บริการทางการศึกษากำลังเติบโตแทน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ไทย

อนาคตของลูกต้องมาก่อน

ด้วยสภาพสังคมสูงวัยและอัตราการเกิดที่น้อยลง ทำให้การศึกษาสูงสุดโดยเฉลี่ยของนักศึกษาจบใหม่สูงขึ้น กล่าวง่ายๆ คือ คนจบการศึกษาระดับปริญญามากขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศจีนประสบกับสถานการณ์แรงงานที่ไม่เพียงพอและนักศึกษาจบใหม่มีทักษะ (skill sets) ไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่งในระดับแนวหน้าของโลก เห็นได้จากอัตราว่างงานของประชากรอายุ 16-24 ที่ตอนนี้สูงถึง 14% เมื่อเทียบกับอัตราว่างงานของคนทั้งประเทศที่ 5%

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้กล่าวถึงวงการติวเตอร์เป็น “ปัญหาสังคม” และตำหนิว่าวงการนี้ “เติบโตมาแบบไร้แบบแผน” โดยต้องการลดแรงกดดันที่นักเรียนได้รับลง รวมถึงลดความแตกต่างของการศึกษาที่ได้เกี่ยวข้องกับรายได้อีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ของรัฐที่ต้องการส่งเสริมอาชีวศึกษามากขึ้น ด้วยการลดความสำคัญของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยลง ซึ่งสวนทางกับความต้องการของพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ที่มักจะต้องใช้ในการสมัครงานที่ต้องการ

สรุป

เมื่อทางการจีนต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจแต่ผู้ปกครองมองอนาคตของลูกสำคัญกว่า ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรม EdTech ที่กำลังเติบโตในจีน น่าจับตามองว่าบริษัทต่างๆ จะหาทางออกอย่างไร

ที่มา – Quartz, Fortune

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา