บทวิเคราะห์: ความสัมพันธ์ สหรัฐ-จีน ยังคุกรุ่นต่อไป ไบเดนแข็งกร้าวกับจีนไม่ต่างจากทรัมป์

biden xi

หลายคนเคยเชื่อว่านโยบายต่อจีนยุคไบเดนจะต่างไปจากทรัมป์

หลายคนมองว่าโลกในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน น่าจะเปลี่ยนไปไม่น้อยจากยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายไม่ยอมใครแม้แต่พันธมิตรตัวเอง หากเขาประเมินแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันส่งผลร้ายมากกว่าดี 

ประเทศที่โดนหนักที่สุดก็เห็นจะเป็นจีน ที่โดนทั้งกำแพงภาษี โดยแบนแอพพลิเคชั่น โดนถอดชื่อบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ ไปจนถึงการจัดทำบัญชีดำบริษัทจีนโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

แต่ล่าสุด ไบเดนสร้างความแปลกใจให้กับโลกได้ไม่น้อย เพราะเขาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐจะดำเนินนโยบายระหว่างประเทศแบบแข็งกร้าวต่อไปแบบไม่น้อยหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ และในบางแง่มุมก็ดำเนินนโยบายที่เข้มข้นกว่าทรัมป์ แถมมาในรูปแบบที่อำพรางแนบเนียนกว่า ไม่ได้เบามือเรื่องจีนอย่างที่หลายคนคาดไว้

ผลลัพธ์ก็คือ ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐตอนนี้ยังคงคุกรุ่นไม่ต่างไปจากยุคของทรัมป์แม้แต่น้อย ยังคงถูกขวางกั้นด้วยกำแพงทางการค้าและท่าทีที่ยังคงเย็นชาระหว่างกัน

ดูจากทีมของไบเดนแล้ว นี่ไม่ใช่อเมริกาจะที่ยอมอ่อนข้อให้จีน

จริงๆ แล้วรายชื่อทีมทำงานของไบเดนค่อนข้างจะส่อเค้าว่านโยบายต่อจีนในยุคของเขาจะคงความเป็นปฏิปักษ์เอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแต่ละคนมีภูมิหลังที่แสดงให้เห็นว่าแม้จะโอบรับความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่หากอีกฝ่ายคือจีน ท่าทีก็จะเปลี่ยนไปราวกับหนังคนละม้วน

President Joe Biden and Vice President Kamala Harris, joined by the Presidential Cabinet members, pose for a Cabinet portrait Thursday, April 1, 2021, in the Grand Foyer of the White House. (Official White House Photo by Adam Schultz)

เริ่มจาก Kurt Campbell ผู้ประสานงานกิจการอินโด-แปซิฟิก ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ เขาเป็นเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศในกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในสมัยประธานาธิบดีโอบามา เคยมีบทบาทในนโยบายจีนมาก่อน

เขาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับจีนไว้อย่างชัดเจน ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ว่าหลังจากนี้ระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีเพียงแค่การแข่งขันเท่านั้น เพราะยุคสมัยของความร่วมมือกันของจีนและสหรัฐมาถึงตอนจบแล้ว 

ชัดเจนว่าผู้ที่มีหน้าที่หลักในการกำกับทิศทางนโยบายเกี่ยวกับเอเชียคือผู้ที่มองว่าความสัมพันธ์กับจีนหลังจากนี้จะเป็นไปในรูปแบบอื่นไม่ได้อีกแล้วนอกจากการแข่งขันกัน

Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติก็มีท่าทีในทิศทางเดียวกัน เขาเคยกล่าวตั้งแต่ช่วงเริ่มสมัยของประธานาธิบดีคนปัจจุบันว่า แม้ไบเดนจะยังมีท่าทีไม่แน่นอนเรื่องการยกเลิกกำแพงภาษีกับจีน แต่สหรัฐจะคงท่าทีต่อต้านจีนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากสมัยของทรัมป์ 

ลองขยับมาดูฝ่ายการค้ากันบ้าง

Gina Raimondo รัฐมนตรีพาณิชย์ก็มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนเช่นกัน เธอกล่าวต่อสภาสูงตั้งแต่สมัยเข้าพิธีรับฟังเพื่อยืนยันการแต่งตั้งว่า เธอพร้อมใช้เครื่องมือทางการค้าทุกรูปแบบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกันและพันธมิตรจากการแทรกแซงของประเทศจีน 

เธอกล่าวว่า ยังไม่เห็นเหตุผลที่ควรถอดรายชื่อบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพจีนออกจาก บัญชีดำ เพราะสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐฯ 

ภูมิหลังและความเห็นของบุคลากรในทีมของไบเดนพอที่จะฉายภาพแนวทางต่อจีนในยุคไบเดนให้เราเห็น ที่สำคัญ ภาพเหล่านั้นก็เริ่มกลายเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่รัฐบาลปัจจุบันเริ่มออกนโยบายหลายอย่างมาให้เห็น

เมื่อ Buy American ท้าทายจีนโดยตรง

นโยบาย Buy American เป็นหนึ่งในนโยบายที่ โจ ไบเดน ชูธงตั้งแต่สมัยหาเสียง เป็นชุดนโยบายที่เน้นให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าในอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงสินค้าจากต่างชาติ โดยใช้นโยบายช่วยเหลือทางการเงินและภาษีไปจนถึงการจัดซื้อของภาครัฐ

นี่คือหนึ่งในนโยบายที่เป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูว่าจะเป็นนโยบายที่บ่อนทำลายการค้า ทั้งกับคู่ปรับอย่างจีนไปจนถึงประเทศพันธมิตร ซึ่งในแง่หนึ่งแล้วก็อาจจะใช่ เพราะจะทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการค้าการลงทุนมากขึ้น เช่น หากต้องการขายสินค้าให้ภาครัฐ สินค้าต้องมีส่วนประกอบที่ผลิตในอเมริกามากกว่า 51% เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคนที่ได้รับผลกระทบอาจไม่ใช่ประเทศพันธมิตรเพราะมีการ ระบุ ไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “เป้าหมายของนโยบายไม่ใช่การผลิตเพื่อพึ่งพาการผลิตภายในโดยสมบูรณ์ แต่เพื่อสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจ” 

พูดง่ายๆ ก็คือป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่สำคัญ ไม่ได้ต้องการตัดขาดจากการค้าเสรีโดยสมบูรณ์

กรณีที่แสดงให้เห็นผลร้ายของการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งในการผลิต เช่น การที่สหรัฐขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในจีนเป็นส่วนใหญ่ในช่วงแรกของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

และในกรณีล่าสุด ก็เกิดการขาดแคลนชิปเซ็ตซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าเทคโนโลยีอย่าง โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญสินค้าเหล่านี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันในระดับโลกที่สูงมากการขาดแคลนชิปจึงหมายถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

Buy American ที่ไม่ได้ 100% Made in America

สหรัฐทราบดีว่า ลำพังตัวเองประเทศเดียว ไม่สามารถจัดการสายพานการผลิตสินค้าได้ตั้งแต่ต้นสายไปจนถึงปลายสาย ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-สหภาพยุโรป ล่าสุด จึงมีการริเริ่มคณะกรรมการด้านการค้าและเทคโนโลยีเพื่อผลักดันความร่วมมือเรื่องการพัฒนา 5G การพัฒนาชิปเซ็ต ไปจนถึงการจัดการสายพานการผลิตเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมผลิตชิปเซ็ตมีสายพานการผลิตซับซ้อน ต้องพึ่งพิงหลายประเทศ ลำพังสหรัฐประเทศเดียวไม่สามารถจัดการได้อย่างครอบคลุม ต้องร่วมมือกับประเทศที่เป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้อย่างเกาหลีใต้และไต้หวันซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐ

ภาพจาก Samsung เกาหลีใต้

ในแถลงการณ์เกี่ยวกับนโยบาย Buy American มีข้อความสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า “จะมีการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อปกป้องการถูกผูกขาดสายพานการผลิตจากประเทศอย่างจีน

ความน่าสนใจคือข้อความนี้มีนัยอย่างน้อยสามอย่าง

  1. จีนอยู่วงนอกของความร่วมมือครั้งนี้ เพราะการพึ่งพาจีนมากไปทำให้ถูกจีนผูกขาดสายพานการผลิต
  2. สหรัฐโอบรับประเทศพันธมิตรให้เข้ามามีส่วนร่วมใน Buy American
  3. Buy American ไม่ใช่นโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง ไม่ได้ต้องการผลิตแบบ 100% Made in American

ในท้ายที่สุดแล้ว Buy American ในทางปฏิบัติจึงมีช่องทางในการจำกัดผลกระทบมากกว่าที่คิด และจะกระทบประเทศพันธมิตรน้อยกว่าที่คิด เพราะที่แน่ๆ ยิ่งอุตสาหกรรมทันสมัยมากเท่าไหร่ ซัพพลายเชนก็ยิ่งซับซ้อนและต้องพึ่งพาประเทศอื่นมากเท่านั้น

ปัจจุบันเราเลือกที่จะไม่ผลิตร่วมกับประเทศอื่นไม่ได้อีกต่อไป แต่เราเลือกได้ว่าจะผลิตกับประเทศไหน
และที่แน่ๆ สหรัฐเลือกที่จะร่วมมือกับพันธมิตรและโดดเดี่ยวจีน

กำแพงการค้าที่ยังคงตั้งตระหง่านต่อไป

ชัดเจนแล้วว่า โจ ไบเดน จะยังคงกำแพงการค้าในรูปแบบเดียวกับทรัมป์เอาไว้ เพราะทำเนียบขาวออกมาประกาศเองว่าจะ แบนการลงทุนในบริษัทจีนเพิ่มเป็น 59 บริษัท มากกว่าที่ทรัมป์เคยแบนถึงเท่าตัว 

joe biden tiktok wechat

แถมคำสั่งดังกล่าวยังย้ายโอนอำนาจในการจัดทำบัญชีในการแบนบริษัทจากมือของกระทรวงกลาโหมไปยังกระทรวงพาณิชย์การแบนหลังจากนี้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นการแบนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการทหารอีกต่อไป

เท่านั้นไม่พอ โจ ไบเดน ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร จัดทำมาตรการตรวจสอบแอพพลิเคชั่นจีนที่เข้าข่ายละเมิดความมั่นคงสหรัฐที่เข้มข้นขึ้นกว่ายุคทรัมป์ เพราะในสมัยของทรัมป์เคยมีปัญหาในขณะที่ฝ่ายบริหารส่งเรื่องแบนแอพพลิเคชั่นจีนไปยังชั้นศาล

สรุป

ไม่แปลกที่ผู้คนจะไม่คาดคิดว่าไบเดนจะยังคงความแข็งกร้าวต่อจีนเอาไว้ไม่ต่างจากทรัมป์ เพราะในด้านหนึ่งสหรัฐในยุคไบเดนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศตั้งแต่ยังไม่ขึ้นดำรงตำแหน่ง เช่น การออกตัวชัดเจนในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก 

นอกจากนี้นโยบาย Buy American ยังมีความคลุมเครือตรงที่ไม่ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นนโยบายปราบจีน เพราะในแง่หนึ่งนโยบาย Buy American มีหน้าตาเหมือนนโยบายภายในประเทศ โฟกัสที่การยกระดับชีวิตชนชั้นแรงงานที่มักกระจุกตัวในอุตสาหกรรมการผลิต มากกว่าจะเป็นนโยบายระหว่างประเทศที่เกิดมาเพื่อโดดเดี่ยวจีนออกจากห่วงโซ่การผลิตของพันธมิตรสหรัฐ

แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดทั้งประกาศแบนการลงทุนในบริษัทจีนและการแบนแอพพลิเคชั่นจีนซึ่งเป็นนโยบายแบบเดียวกับทรัมป์แถมยังมีความรุนแรงกว่า ทำให้ผู้คนได้เห็นภาพนโยบายต่อจีนของไบเดนมากขึ้น และเมื่อกลับไปทบทวนนโยบายก่อนหน้า หรืออาจย้อนดูไปถึงการจัดวางบุคลากรในทีมทำงาน 

เห็นได้ชัดว่า โจ ไบเดน จงใจเล่นแรงกับจีนตั้งแต่แรก แต่มาในรูปแบบที่แนบเนียนกว่า

อ้างอิง – SCMP, FT, Reuters, joebiden.com (1)(2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา