เปิดอาณาจักร Neo Corporate จากผู้ริเริ่มโคโลญผู้หญิง Eversense สู่ธุรกิจ FMCG ระดับเอเชีย

ชื่อ Neo Corporate อาจไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่ถ้าบอกว่าชื่อนี้คือบริษัทจ้าของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG ชั้นนำของไทย เช่น Eversense, Tros, Fineline และ D-Nee เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยใช้ผลิตภัณฑ์ของ Neo Corporate กันมาบ้าง

วันนี้ Neo Corporate วางแผนเตรียม IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายธุรกิจ FMCG ระดับเอเชีย ถือเป็นอีกบริษัท FMCG เก่าแก่ของไทยอีกรายที่เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามรอย KCG เจ้าของแบรนด์คุกกี้กล่องแดง และ SNNP เจ้าของแบรนด์เยลลี่เจเล่ และปลาหมึกเบนโตะ

กว่าจะถึงจุดนี้ Neo Corporate ต้องผ่านอะไรมาบ้าง แบรนด์สินค้าของบริษัทแบ่งเป็นกี่กลุ่ม และกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัทหลัง IPO จะมีทิศทางเป็นอย่างไร สุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. นีโอ คอร์ปอเรท ได้อธิบายไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้

Neo Corporate

Neo Corporate โตเงียบด้วยสินค้าชื่อดัง

สุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. นีโอ คอร์ปอเรท เล่าให้ฟังว่า แม้ชื่อจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ในมุมชื่อของสินค้าที่บริษัททำตลาดนั้นเป็นที่จดจำของคนไทยแน่นอน โดยบริษัทเริ่มต้นทำตลาดสินค้า FMCG ด้วยแบรนด์ Eversense หรือโคโลญผู้หญิงแบรนด์แรกของไทยเมื่อปี 1989

“เดิมทีโคโลญเป็นสินค้า Unisex แต่ผมเชื่อว่าสินค้านี้สามารถทำตลาดให้ลูกค้าแต่ละเพศได้ เราจึงเริ่มด้วยแบรนด์ Eversense และเป็นที่จดจำ รวมถึงเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดในทันที และในปีถัดมา หรือ 1990 เราก็เริ่มทำตลาดโคโลญผู้ชายแบรนด์ Tros และเป็นอันดับ 1 ในตลาดเช่นเดียวกัน”

และจากจุดเริ่มต้นด้วยโคโลญของผู้ชาย และผู้หญิง จากนั้น Neo Corporate ได้ขยายสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับกลิ่น และความเนี้ยบของผู้บริโภค ไล่ตั้งแต่น้ำยารีดเรียบ Fineline รวมถึงผงซักฟอกสูตรน้ำ Smart และน้ำยาล้างห้องน้ำ Tomi, สบู่ BeNice, โรลออนสำหรับผู้หญิง Vivite และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก D-nee

Neo Corporate
สุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. นีโอ คอร์ปอเรท

จากแบรนด์ไทย ก้าวสู่ FMCG ระดับเอเชีย

จากการทำตลาดสินค้าข้างต้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ Household Products, Personal Care Products และ Baby and Kids Products ที่ทำตลาดแค่ในประเทศไทย แต่เมื่อราว 10 ปีก่อน Neo Corporate เริ่มทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในตะวันออกกลาง จนปัจจุบันมี 16 ประเทศที่ออกไปทำตลาด

“เราอยากเป็นบริษัท FMCG ระดับเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ผ่านการวิจัย พัฒนา และผลิตสินค้าเองทั้งหมด รวมถึงมีสินค้าที่ได้รับความนิยมในไทย เช่น Tros ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 70%, D-Nee ที่ครองตลาดสินค้าสำหรับเด็กเบ็ดเสร็จ และ BeNice ที่สามารถแข่งขันกับอินเตอร์แบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างสูสี”

สุทธิเดช ย้ำว่า แม้ Share of Voice ในแบรนด์ต่าง ๆ ของ Neo Corporate จะไม่ดัง แต่ Share of Market ของบริษัทไม่แพ้ใคร และพร้อมที่นำนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ มายกระดับสินค้าให้ดีขึ้นเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด

Neo Corporate

กางแผน IPO เพื่อติดเครื่องธุรกิจ

ล่าสุด บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธี IPO หลังวางแผนผ่านการดำเนินธุรกิจตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวมา 5-6 ปี โดยการระดมทุนดังกล่าวจะนำไปต่อยอดการทำธุรกิจของบริษัทที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 2.29 แสนตัน/ปี และมีคลังสินค้าที่เก็บได้ 35,000 พาเลต และอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน Neo Corporate ยังเปิดตัวสินค้าใหม่ 412 รายการ (SKUs) เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าพรีเมียมที่หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจที่จะใช้สินค้าที่ดีขึ้นเพื่อสุขภาพ และสุขอนามัยที่ดีขึ้นเช่นกัน

“เรามีการนำเสนอนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการปรับปรุงสินค้าเดิม และพัฒนาสินค้าไปที่กลุ่มพรีเมียมแมส กับพรีเมียมเพื่อรับกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งจากการทำแบบนี้จะช่วยให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าต่าง ๆ ที่บริษัททำตลาดมีมากขึ้นในอนาคต”

อ้างอิง // Neo Corporate

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา