“ซัมมิท ลีสซิ่ง” ชี้ปี 2562 ดอกเบี้ยกู้มอ’ไซค์ไม่ขึ้น เพราะตลาดแข่งแรง-ยอดขายรถโตแผ่ว

เมื่อวานธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาที่ 1.75% แล้ว นักวิเคราะห์หลายแบงก์เลยมองว่าสถาบันการเงินต้องขยับดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากขึ้นมากด้วย แต่สินเชื่อลีสซิ่งจะกรัทบไหม?

ปี 2562 มั่นใจเทรนด์ดอกเบี้ยกู้ซื้อมอ’ไซค์ไม่ขยับขึ้น

วิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด บอกว่า แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.75% และจนถึงสิ้นปีหน้า 2562 คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะขยับขึ้นรวม 0.50% อาจจะส่งผลกระมบต่อสถาบันการเงิน เช่น ต้องเข้มงวดนโยบายการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หรือบัตรเครดิตอาจจะให้สิทธิประโยชน์ได้น้อยลง

“แม้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยลีสซิ่งรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) จะไม่ขยับขึ้นเพราะการแข่งขันในตลาดสูงมาก การเพิ่มดอกเบี้ยอาจทำให้ลูกค้าลดลง และกระทบกับ Market Share ของบริษัทได้ ดังนั้นเราไม่ปรับเพิ่มดอกเบี้ย ปัจจุบันมีตั้งแต่เดือนละ 1.99% ต่อเดือนไปจนถึง 4% ต่อปี”

อย่างไรก็ตามรายได้ของบริษัทฯกว่า 80% มาจากรายได้ดอกเบี้ย และอีก 20% มาจากรายได้ค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตามองคือยอดขายรถจักรยานยนต์ ที่ปี 2561 จะหดตัวจากปี 2560 ที่ผ่านมา

ยอดขายมอ’ไซด์หดเพราะอะไร ปีหน้าถ้ามีการเลือกตั้งยอดขายจะดีขึ้นไหม?

ปี 2561 เป็นปีแรกที่ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ทั้งปีจะติดลบประมาณ 1% จากปี 2560 อยู่ที่ 1.8 ล้านคัน

“เมื่อปี 2016 ยอดขายมอ’ไซด์อยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ปี 2017 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.81 ล้านคัน และปี 2018 นี้อาจจะหดตัวเล็กน้อยผิดจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ายอดขายจะโต 3% จากปีก่อน”

แต่ปีหน้ายังมีความหวังว่ายอดขายรถมอเตอร์ไซค์จะกลับมาเติบโต 1-2% เพราะมีการเลือกตั้งของไทยที่ทำให้เกิดเม็ดเงินไหลสู่ประชาชนมากขึ้น และแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตชะลอตัวลงจีดีพีจะอยู่ที่ 4.0% (จากที่แบงก์ชาติมองว่าปี 2561 GDP ไทยอยู่ที่ 4.3%) แต่คนยังต้องซื้อมอเตอร์ไซค์เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต

ยอดขายมอ’ไซต์ตก สินเชื่อลีสซิ่งยังโตได้เพราะอะไร?

แม้ยอดขายมอเตอร์ไซค์จะตกลง แต่สถาบันการเงินยังมีช่องว่างในการเจาะตลาดอีกเยอะ เพราะสถาบันการเงินยังพยายามไปกินส่วนแบ่งการตลาดจาก ดีลเลอร์ท้องถิ่น เช่น ร้านขายมอเตอร์ไซค์ที่ทั้งขายรถและปล่อยกู้เอง

ดังนั้นจะเห็นว่าซัมมิทฯ ปีนี้สินเชื่อใหม่เติบโต 13% จากปีก่อน ด้านสินเชื่อคงค้างเติบโต 27% จากปีก่อน และมีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อลีสซิ่งในกลุ่มสถาบันการเงินประมาณ 22-23%

แผนงานปี 2562 ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มดีลเลอร์อีก 10% จากตอนนีมีอยู่ 900 แห่ง ตั้งเป้าหมายยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตที่ 19% ต่อเนื่องจากปีนี้ และคุมหนี้เสีย (NPL) ให้อยู่ที่ 1% จากปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 1%

“ปีหน้าแม้ว่ายอดขายรถมอเตอร์ไซค์จะโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ซัมมิทฯ คาดว่าแต่ละเดือนจะมียอดสินเชื่อใหม่ 12,000 คัน/เดือน และลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องทั้งการพัฒนาบริการ คัดกรองลูกค้าให้ความเสี่ยงลดลง และอนุมัติสินเชื่อเร็วขึ้น”

สรุป

ธุรกิจลีสซิ่งรถจักรยานยนต์ ยังมีช่องว่างการตลาดอีกมาก ทำให้สถาบันการเงินหันมาปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์มากขึ้น โดยจะเจาะตลาดผ่านความร่วมมือกับดีลเลอร์ท้องถิ่น ที่เปิดขายมอเตอร์ไซด์และให้สินเชื่อเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา