เทียบสไตล์การทำงาน Google กับ Amazon 2 บริษัทเทคฯ ที่วัฒนธรรมองค์กรต่างกันสุดขั้ว

เปรียบเทียบสไตล์การบริหารของ Google และ Amazon 2 บริษัทเทคโนโลยี ที่มีวิธีการทำงานต่างกันสุดขั้ว ตั้งแต่การสัมภาษณ์งาน ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร

Google และ Amazon 2 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีคนอยากร่วมงานด้วยมากที่แห่งหนึ่ง แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทนี้จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่า “ทรงอิทธิพล” ต่อคนทั้งโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าในมุมการทำงาน และการบริหาร กลับมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Richard Russell ผู้ที่เคยเป็นอดีตพนักงานของทั้ง Google และ Amazon บริษัทละ 8 ปี เล่าให้ฟังถึงความแตกต่างของทั้งสองบริษัท ว่ามีความแตกต่างกันแทบจะทุกอย่าง เหมือนขั้วตรงข้าม ตั้งแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน การบริหาร ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร เรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่ Google และ Amazon เหมือนกันเลย

Google vs. Amazon ต่างกันตั้งแต่วิธีสัมภาษณ์งาน

Richard Russell เริ่มเล่าถึงความแตกต่างระหว่าง Google และ Amazon ตั้งแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานก่อนที่จะเข้าไปเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งคำถามในการสัมภาษณ์งานกับ Google ที่ทุกคนต้องเจอคือ “คุณเก่งแค่ไหน?”

เพราะ Google เป็นบริษัทที่ต้องการคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน เมื่อเข้ามาทำงานแล้วก็จะให้สวัสดิการที่ดีมาก ให้อิสระกับการทำงาน และหวังว่าพนักงานจะสร้างผลงานดีๆ ออกมา

แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ Google ได้กลับไม่ใช่คนเก่ง เพราะดันได้คนที่ทำงานหนักเข้ามาแทน แต่คนเหล่านี้กลับไม่รู้ว่าตัวเองเก่งอย่างไร ไม่สามารถอธิบายความเก่งของตัวเองได้

ส่วน Amazon มีคำถามพื้นฐานในการสัมภาษณ์งานที่ทุกคนต้องเจอคือ “คุณเคยทำอะไรมาบ้าง?” เพราะสิ่งที่ Amazon ต้องการ คือคนที่เคยผ่านการทำงานมาเยอะ เมื่อเข้ามาทำงานแล้วต้องมาเจอกับการทำงานที่เป็นขั้นตอน มีปัญหาการทำงานที่ยาก และหวังว่าพนักงานจะทำงานออกมาได้ ผลสุดท้ายสิ่งที่ Aamzon ได้ คือคนที่เก่ง แต่อาจจะไม่ใช่คนที่ทำงานให้เสร็จได้ตามที่ Amazon ต้องการ

แม้ทั้งสองบริษัทจะมีรูปแบบการสัมภาษณ์งานที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานกับบริษัทด้วยค่าตอบแทนมหาศาล และความสำเร็จในการได้ทำงานกับ Google และ Amazon

google
ภาพจาก Google

เรื่องสวัสดิการ Google ป๋า ให้เยอะกว่า Amazon

เมื่อพูดถึงเรื่องค่าตอนแทน ก็ต้องพูดถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่พนักงานต้องเจอ Richard Russell เปรียบเทียบว่า Google เหมือนบริษัทที่ได้กำไรมาก แต่คิดว่าตัวเองเป็นคนประหยัด ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ประหยัดแต่อย่างใด

Google ขึ้นชื่อเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และมีสวัสดิการที่ดีมาก แม้แต่อาหารก็มีการเตรียมไว้ให้พนักงานกิน แม้ว่าในบางครั้งหลายบริษัทอาจมองว่าการเตรียมอาหารให้พนักงานเป็นสิ่งสิ้นเปลือง แต่ข้อดีคือพนักงานไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาข้าวกินข้างนอกในช่วงเวลาพัก พนักงานได้พูดคุย และปรึกษากันระหว่างกินข้าว

ในทางตรงกันข้าม Amazon ไม่ได้เตรียมอาหารไว้ให้พนักงานเป็นสวัสดิการ แม้จะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า แต่ความจริงแล้ว พนักงานก็อาจไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกัน รวมถึงต้องเสียเวลาออกไปหาอะไรกินข้างนอกบริษัทช่วงพักเที่ยงด้วย

วิธีการทำงาน Google ปล่อยสบายๆ Amazon ทุกอย่างเป็นขั้นตอน

ส่วนด้านวิธีการทำงาน ทั้งสองบริษัทก็มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกัน โดย Google จะเน้นความเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่วิศวกรมีบทบาทสำคัญ ส่วนคนอื่นๆ ก็สร้างรายได้จากสิ่งที่วิศวกรสร้างขึ้น

วิธีการทำงานแบบ Google จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบใหญ่ๆ ได้ ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ไม่มีการทำงานทับซ้อนกัน เน้นการทำงานแบบตามคำสั่งจากบนลงล่าง และไม่ได้ทำงานกันแบบ Agile ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Richard Russell จึงเปรียบเทียบวิธีการทำงานแบบ Google ว่า ทำงานกันแบบหน่วยงานราชการที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง

ในขณะที่ Amazon มีวิธีการทำงานที่ตรงข้ามกับ Google คือ สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ได้เร็ว เพราะการตัดสินใจอยู่ที่พนักงานทั่วไป ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น แต่การทำงานแบบนี้ก็ทำให้บางครั้งเกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานเช่นกัน

Richard Russell จึงเปรียบเทียบการทำงานแบบ Amazon ว่า ทำงานกันแบบทุนนิยมที่ไม่มีการวางแผนจากส่วนกลาง

แต่หากพูดถึงเรื่องไอเดียใหม่ๆ จะกลายเป็นหนังคนละม้วน เพราะ Google ไม่ได้มีขั้นตอนอะไรจัดการกับไอเดียใหม่ๆ เลย พนักงานอยากทำอะไรก็แค่ลองทำ แล้วสุดท้ายรอดูผลว่าจะสำเร็จหรือไม่ ต่างจาก Amazon ที่มีระเบียบ แบบแผน การจัดการกับไอเดียใหม่ๆ มากกว่า

Google + Amazon = การทำงานที่ลงตัว?

จากวิธีการทำงานทั้งของ Google และ Amazon ที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว คงไม่สามารถบอกได้ว่าบริษัทไหนมีวิธีการทำงานที่ดีกว่ากัน ในมุมมองของพนักงานก็ต้องบอกว่า Google คงสามารถดึงดูดพนักงานได้ดีกว่า ด้วยสวัสดิการระดับท็อปของวงการเทคโนโลยี ส่วน Amazon ทำงานกันเป็นแบบแผนมากกว่า ซึ่ง Richard Russell ได้ให้ความเห็นไว้ว่าวิธีการทำงานแบบ Amazon สามารถนำไปใช้ได้กับหลายบริษัททั่วโลก แต่วิธีการทำงานแบบ Google ใช้ได้กับบริษัทที่มีทรัพยากรจำนวนมหาศาลในระดับเดียวกับ Google เท่านั้น

ที่มา – inc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา