หลุดบันทึกภายใน Amazon บอกวิธีกำจัดจุดอ่อนปลดพนักงานที่เก่งน้อย ตั้งเป้าหมาย 6% ต่อปี

หลุดเอกสารภายใน Amazon บอกวิธีกำจัดจุดอ่อน ไล่คนออกจากบริษัท ตั้งเป้าหมายปีละ 6% ของพนักงานทั้งหมด ถ้าปีไหนทำไม่ได้ต้องยกยอดชดเชยไปปีถัดไปด้วย

Amazon บริษัท e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เชื่อว่าหลายๆ คนทั่วโลกคงจะไฝ่ฝันที่จะได้เข้าไปทำงานในบริษัทระดับโลกแบบนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ Brand Inside เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับวิธีคัดเลือกคนเข้าทำงานของ Jeff Bezos ไปแล้ว

รวมถึงในยุคที่โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศสหรัฐอเมริกา Amazon ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ไม่ปลดพนักงานออก แต่กลับจ้างพนักงานเพิ่มจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้า และพนักงานในโกดัง เพื่อรองรับความต้องการในธุรกิจ e-Commerce ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานั้น

Jeff Bezos
SEATTLE, WA – JUNE 18: Amazon.com founder and CEO Jeff Bezos presents the company’s first smartphone, the Fire Phone, on June 18, 2014 in Seattle, Washington. The much-anticipated device is available for pre-order today and is available exclusively with AT&T service. (Photo by David Ryder/Getty Images)

อย่างไรก็ตาม แม้ Amazon จะจ้างพนักงานเพิ่มในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Amazon จะดูแลพนักงานดีเสมอไป เพราะก่อนหน้านี้ ส.ส. สหรัฐฯ ได้แฉว่า “พนักงาน Amazon ถูกบังคับด้วยเวลาจนต้องปัสสาวะใส่ขวดพลาสติก” กันเลยทีเดียว รวมถึงประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์การปฎิบัติกับพนักงานในโกดัง และพนักงานขนส่งสินค้าที่ไม่ดีนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง Jeff Bezos ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในจดหมายประจำปีถึงผู้ถือหุ้นในปี 2021 นี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนที่ Andy Jassy จะขึ้นมารับตำแหน่ง CEO แทน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

หลุดบันทึกภายใน Amazon ตั้งเป้าปลดพนักงานปีละ 6%

รวมถึงประเด็นล่าสุด ที่บันทึกภายในของ Amazon เพิ่งจะหลุดออกมา โดยบันทึกนี้ว่าด้วยวิธีการปลดพนักงานออกจากบริษัทตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ในแต่ละปี หากทำตามเป้าหมายไม่ได้ในปีนี้ ปีหน้าต้องยกยอดไปชดเชยด้วย ซึ่งหมายถึงการปลดพนักงานออกด้วยจำนวนที่มากขึ้นในปีถัดๆ ไป ซึ่งโดยปกติแล้ว Amazon ตั้งเป้าหมายที่จะปลดพนักงานออกปีละ 6%

กำจัดจุดอ่อนด้วยโครงการ Focus ใครปรับตัวได้ ก็อยู่รอดต่อไป

ในบันทึกภายในที่หลุดออกมา กล่าวถึงโครงการ Focus ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่มีประสิทธิภาพการทำงานไม่ดี หากประสิทธิภาพการทำงานยังไม่ดีขึ้น พนักงานคนนั้นก็จะต้องเข้าโครงการถัดไปที่มีชื่อว่า Pivot ซึ่งจะให้พนักงานเลือกได้ว่าจะลาออกจาก Amazon หรือจะเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานอีกครั้ง

พนักงานที่ต้องเข้าโครงการ Focus จะเป็นพนักงานที่ได้รับคะแนนประเมินประสิทธิภาพการทำงานต่ำ จะถูกส่งเข้าโครงการนี้โดยอัตโนมัติ และจะออกจากโครงการนี้ได้ต้องอาศัยการพิจารณาอย่างใกล้ชิดของพนักงานระดับ Vice President

จัดพนักงานเป็น Tier ตามความเก่ง

สำหรับการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน Amazon จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน คือ Top Tier (TT) จำนวน 20%, Highly Valued (HA) จำนวน 75% และ Least Effective (LE) จำนวน 5% เรียงลำดับตามประสิทธิภาพการทำงานมากที่สุดไปน้อยที่สุด

พนักงานที่ได้รับการประเมินว่ามีประสิทธิภาพการทำงานไม่ดี จะต้องเข้าสู่โครงการ Focus เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น หากยังทำไม่ได้ ก็ต้องถูกปลดออกในที่สุด หรือเรียกง่ายๆ เหมือนการกำจัดจุดอ่อนออกจากองค์กรนั่นเอง

นอกจากนี้ Amazon ยังกำหนดเป้าหมายที่จะปลดพนักงานออกจากบริษัทไว้ที่ 6% ต่อปีสำหรับเกือบทุกแผนกของบริษัท โดยเรียกเป้าหมายนี้ว่า Unregretted Attrition Rate หรือ URA ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงคอยดูเป้าหมายนี้อย่างใกล้ชิด

ภาพสำนักงานของ Amazon – ภาพจาก Amazon

ปลดคนออกตามเป้าหมาย ถ้าทำไม่ได้ปีหน้าต้องปลดคนมากกว่าเป็นการชดเชย

เป้าหมาย URA นี้ หากไม่สามารถทำได้ในปีนั้น ปีถัดไปต้องชดเชยการปลดคนออกให้ได้ตามเป้าหมายด้วย เช่น หากมีเป้าหมายปลดคนออก 6% แต่แผนกหนึ่งทำได้เพียง 3% เท่านั้น แสดงว่าปีถัดไปแผนกนั้นต้องปลดคนออก 6+3=9% เพื่อชดเชยเป้าหมายที่ไม่สามารถทำได้ในปีก่อน

แม้ว่า Amazon จะปฎิเสธว่าโครงการ Focus ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับพนักงานที่ได้รับการประเมินประสิทธิภาพการทำงานตำ่แต่อย่างใด แต่ Business Insider ก็ได้ทำการคุยกับพนักงาน Amazon หลายสิบคนเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน Amazon ใช้ระบบการประเมินพนักงานโดยแบ่งเป็น Tier จริง แม้ Amazon จะปฎิเสธว่าไม่ได้ประเมินพนักงานแบบนั้น

เมื่อทุกคนเก่งเหมือนกันหมด คนที่เก่งน้อยกว่าจึงอยู่ไม่รอด

ส่วนผู้จัดการรายหนึ่งที่ให้ข้อมูลกับ Business Insider ว่า รู้สึกกดดันกับการต้องให้พนักงานคนหนึ่งได้รับประสิทธิภาพการทำงานใน Tier ต่ำ แม้ว่าจะรู้สึกว่าพนักงานคนนั้นทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่านั้น และควรได้อยู่  Tier ที่สูงกว่า ผู้จัดการบางคนก็รู้สึกกดดันที่ต้องให้พนักงานคนหนึ่งออกจากบริษัทตามเป้าหมาย URA “เหมือนเป็นการปลดพนักงานที่เก่งน้อยที่สุดออก” หรือ “เหมือนการไล่คนที่ได้เกรด A- ออก เพราะคนที่เหลือในห้องเรียนได้เกรด A กันหมด”

ที่มา – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา