ปัญหาใหม่ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่น: คนสูงวัยเสียชีวิตนานแล้ว ไม่มีคนรู้ ไม่มีทายาทรับมรดก

Aging Society หรือสังคมสูงวัยเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่มีคนรับรู้เนิ่นนาน ไม่มีทายาทรับมรดก กำลังเป็นปัญหาใหม่ ปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่น

อย่างที่เรารู้กันดีว่า ปัญหาใหญ่ที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในญี่ปุ่นคือเรื่องสังคมสูงวัย ขณะเดียวกันคนเกิดใหม่ก็มีน้อยเหลือเกิน แต่ตอนนี้ปัญหาสืบเนื่องจากคนสูงวัยที่เริ่มมีมากขึ้นก็คือ เมื่อถึงคราวที่ผู้สูงวัยเสียชีวิตแล้ว นอกจากหาคนรับช่วงหรือสืบทอดต่อไม่ได้ ก็คือ ไม่มีคนรับมรดกที่เหลือไว้ของคนก่อนหน้า

Older Japanese, คนสูงวัย, ญี่ปุ่น

บทความจาก Japan Times เล่าถึงบรรยากาศการเคลียร์หรือการทำความสะอาดอพาร์ทเมนท์ขนาด 3 ห้องในญี่ปุ่น สิ่งที่ผู้เสียชีวิตทิ้งไว้หลังจากลาโลกไป มรดกหรือสิ่งของที่ทิ้งไว้ต่างหน้า คือบรรยากาศแห่งความเศร้า ความหดหู่ชนิดที่มีแต่ผู้ทำความสะอาดพื้นที่หลังผู้ตายจากไปหลายเดือนเท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสหรือเข้าใจความรู้สึกได้

ญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งมีเรื่องผู้สูงวัยเสียชีวิตจากไปแล้วไม่มีคนรู้ กว่าเจ้าหน้าที่จะไปเจอก็หลายเดือน นี่เป็นเรื่องที่เกิดมาได้พักใหญ่ แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

เคยมีการประเมินว่าผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 8.42 ล้านคนภายใน 12 ปี หรือประมาณปี 2035 มากกว่าเดิม 1.3 เท่า แน่นอนว่าด้วยจำนวนเท่านี้ ย่อมทำให้พบเจอสถานการณ์ที่คนสูงวัยอยู่ลำพังจะเสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้อีกจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นวัตกรรมจำนวนมากที่ภาคเอกชนพยายามคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมา มักจะเป็นมาตรการที่ช่วยให้เกิดการสังเกต สังเกตความผิดปกติของบ้านที่มีความไม่เคลื่อนไหว ไม่มีผู้คนเนิ่นนานอาจมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น มีแต่มาตรการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อให้ความช่วยเหลือทัน

แต่ไม่มีการ Track ให้รู้ล่วงหน้าว่าอาจเริ่มมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ไม่มีการเตือนภัยใดๆ ที่ทำให้รู้ว่าจะมีคนเสียชีวิตล่วงหน้า เช่น อายุระดับนี้ใกล้ถึงความเสี่ยงแล้ว ต้องระวัง โดยปกติเราย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าใครจะเสียชีวิตวันไหนล่วงหน้า แม้ผู้เสียชีวิตเองก็ไม่อาจรู้ตัวได้ แม้จะมีความป่วยกระเสาะกระแสะติดตัว แต่ถ้าวันไหนวูบล้มลง ก็ไม่อาจใช้ปุ่มฉุกเฉินได้ทันท่วงที

นี่จึงเป็นปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ เว้นแต่จะมีผู้คนคอยเยี่ยมเยือนทุกวัน หรือมีระบบ Track ที่ต้องทำให้รู้ว่าบุคคลนั้นๆ เริ่มมีความผิดปกติแล้ว เช่น วันนี้ไม่ทักมา วันนี้ไม่พูดคุยเหมือนเดิม อาจมีเหตุผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ หากไม่มีญาติมิตรที่สนิทกันมากพอ ก็ไม่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ เว้นแต่รัฐจะออกแบบระบบให้สามารถดูแลคนได้ทั่วถึงมากขึ้น คล้าย Telemedicine ที่ต้องมีแพทย์คอยทักทายติดตามชีวิตผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตลำพังทุกวันและสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ ก็อาจจะพอทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายได้บ้างไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ การสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติเผยให้เห็นว่า ปี 2020 มีครัวเรือนที่มีประชากรอาศัยอยู่คนเดียว 21.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2015 อยู่ที่ 14.8% จากการสำรวจพบว่า มีผู้สูงวัยเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของกลุ่มประชากรที่อยู่คนเดียว หรือประมาณ 6.72 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกัน จำนวนการแต่งงานในปี 2022 อยู่ที่ 519,823 ราย มีอัตราที่ลดลงจากปี 2000 อยู่ที่ 35%

รัฐบาลได้สำรวจจากปี 2021 พบว่า มีผู้ชายราว 17.3% และผู้หญิงราว 14.6% ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีถึง 34 ปี ไม่ได้มีความต้องการที่จะแต่งงาน ซึ่งก็ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีครัวเรือนที่จะมีประชากรอาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ปีงบประมาณ 2021 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับทรัพย์สินที่ถูกทอดทิ้งจากผู้เสียชีวิตที่ไร้ทายาทมากเป็นประวัติการณ์ถึง 6.47 หมื่นล้านเยนหรือประมาณ 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.8% เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเทียบจาก 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตามกฎหมาย เมื่อมีผู้เสียชีวิตและไม่มีพินัยกรรม ญาติหรือลูกหลานห่างๆ ก็สามารถได้รับการพิจารณาให้เป็นทายาทรับมรดกได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ไม่มีทายาทและไม่มีการเตรียมการด้านพินัยกรรมไว้ ศาลครอบครัวก็สามารถแต่งตั้งผู้ดูแลมรดก เพื่อจัดการทรัพย์สินได้ หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร้องขอไว้

Japan

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ที่ต้องการดูแลมรดกต่อจากผู้เสียชีวิต ก็จะต้องชำระเงินล่วงหน้าแก่ศาลราว 1 ล้านเยน หรือประมาณ 2.47 แสนบาท ซึ่งตามปกติแล้วก็จะเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์โดยเฉพาะ ผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องจากผลประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มาก เช่น บัญชีเงินฝากที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมานานเป็นสิบปีหรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งในแต่ละปีนั้น มีบัญชีธนาคารที่มีมูลค่าราว 1.2 แสนล้านเยนหรือประมาณ 2.96 หมื่นล้านบาทที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งรัฐก็มีการออกกฎหมายใหม่ให้สามารถใช้เงินส่วนนี้เพื่อเป็นทุนในการสนับสนุนองค์การที่ทำกิจการแบบไม่แสวงผลกำไรได้

Kodokushi หรือ การตายอย่างโดดเดี่ยวในญี่ปุ่น

เรื่องการตายอย่างโดดเดี่ยวนี้ รายงานจาก Japan Times ยกตัวอย่างถึงตึกที่เป็นอาคารเคหะของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Danchi” ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนช่วงนั้นที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนบ้าน

จากนั้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มเกิดภาวะฟองสบู่ ทำให้สถานที่แห่งนี้มีไว้เพื่อรองรับคนสูงวัย คนรายได้น้อย และคนทุพพลภาพ

ที่อยู่อาศัยแห่งนี้มีประมาณ 251,000 ยูนิต ด้าน Yoshio Nakagawa ผู้อำนวยการด้านการจัดการการเคหะของเมืองหลวง ระบุว่า จำนวนคนสูงวัยเพิ่มขึ้นในย่านนี้อย่างมาก

  • ปลายเดือนมีนาคมปี 2022 ที่ผ่านมา มีผู้สูงวัยอยู่ราว 52,886 ราย หรือประมาณ 24.9% ของครัวเรือนทั้งหมด เป็นผู้เช่าที่ที่อายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง อัตราดังกล่าว ถือว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อ
  • ปี 2021 ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 24.2%
  • ส่วนปี 2020 อยู่ที่ 23.6%

ผู้อำนวยการ Nakagawa กล่าวว่า Kodokushi หรือการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในญี่ปุ่น ส่วนมากมักจะเกิดกับคนสูงวัยที่อายุ 76 ปีขึ้นไป

เราจะพบว่าพวกเขามักจะเสียชีวิตในบ้านพักของตัวเอง หรือพบว่าไม่มีการเคลื่อนไหวนานเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ซึ่งในปีงบประมาณ 2019 ญี่ปุ่นพบผู้สูงวัยเสียชีวิตเพียงลำพัง 580 ราย ขณะที่ปี 2021 มีผู้เสียชีวิตราว 675 ราย

นั่นหมายความว่า ในทุกๆ วันจะมีผู้สูงวัยเสียชีวิตอย่างน้อยราว 2 คนในอพาร์ทเมนท์ของตัวเอง

หลังพบว่าผู้เช่าห้องเสียชีวิต และทางการไม่สามารถติดต่อญาติได้ รัฐจะติดประกาศที่ประตูและเฝ้ารออย่างน้อย 1-2 เดือนเพื่อให้ญาติผู้ใกล้ชิดติดต่อกลับมา เมื่อไม่มีการตอบสนองใดๆ กลับมา ทางการจะเปลี่ยนกุญแจห้องพักนั้นและติดป้ายแจ้งเตือนเป็นเวลา 3 เดือนก่อนจะเคลื่อนย้ายสิ่งของของผู้เสียชีวิตออกไปโดยผู้เชี่ยวชาญในการทำความสะอาด จากนั้นจึงย้ายสิ่งของไปจัดเก็บ

ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 6 เดือน ก่อนที่จะปล่อยให้ผู้เช่ารายใหม่เข้าพักต่อได้

แน่นอนว่ากำหนดการอาจไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวมาทั้งหมด หมายความว่าอาจล่าช้ากว่า 6 เดือนบ้าง ดังนั้นสังคมจึงได้พบเห็น Akiya หรือบ้านที่ถูกทิ้งร้างเกลื่อนญี่ปุ่นไปหมด เมื่อผู้สูงวัยเสียชีวิตจากไปเงียบๆ โดยที่ญาติไม่รับรู้หรือติดต่อญาติไม่ได้

ยังไม่จบแค่นี้ บ้านที่ถูกทิ้งร้างทั้งหลายจะถูกปกคลุมด้วยพืชไม้เลื้อย สัตว์บางชนิด จนถูกขนานนามว่าเป็นบ้านของสัตว์หรือที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ที่มาอยู่แทนหลังจากไม่มีคนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแมว แรคคูน หมา หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ที่เลื้อยปกคลุมบ้าน จากผลสำรวจในปี 2018 พบว่า Akiya หรือบ้านที่ถูกทิ้งร้างมีจำนวนมากราว 50,250 หลัง ในที่นี้หมายรวมถึงอพาร์ทเมนท์ด้วย

Japan
Photo by Claudio Guglieri on Unsplash

“บ้านของเหล่าสรรพสัตว์”

คือบ้านที่ถูกทิ้งไว้กลางย่านที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มั่งคั่งในญี่ปุ่น ไม่มีใครรู้เหตุผลแน่ชัดว่าทำไม เจ้าของทรัพย์สินถึงไม่ขายออกไป เพราะนี่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เป็นทำเลชั้นดีซึ่งห่างออกมาจากมหาวิทยาลัย Komazawa ในโตเกียวไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งการรื้อบ้านนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แม้จะมีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีมานานหลายทศวรรษเพื่อส่งเสริมให้มีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาษีทรัพย์สินสำหรับพื้นที่ว่างเปล่านี้สูงราวหกเท่าของจากระดับราคาอาคารที่ไม่สนับสนุนให้มีการรื้อถอน

นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรการอีกมากที่รัฐพยายามสนับสนุนเพื่อให้จัดการกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น เงินอุดหนุนสำหรับเจ้าบ้านที่ยินดีรื้อบ้านที่ทรุดโทรมทิ้งไป ซึ่งแน่นอนว่าความพยายามรื้อบ้านก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหามากมายจากการตายโดยญาติไม่รับรู้ บ้านถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นบ้านแห่งสรรพสัตว์นั้น ทางการได้ประเมินออกเป็น 4 ประเภทเพื่อประเมินสภาพบ้าน  เช่น บ้านที่มีความเสียหายอย่างหนัก หรือบ้านที่อยู่ในสภาพอันตราย หมายความว่าอาจจะพร้อมถล่มลงมาเมื่อไรก็ได้ที่อาจสร้างความอันตรายต่อผู้อื่นได้ เหล่านี้จะถูกระบุว่าเป็น “บ้านว่าง” หรือ “บ้านว่างที่ถูกระบุไว้” (Specified vacant houses) ตามกฎหมายปี 2015

ข้อกำหนดดังกล่าวอาจนำไปสู่การที่รัฐสามารถออกคำแนะนำและคำสั่งแก่ผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ หากพบว่าไม่มีการปรับปรุง ก็อาจถูกปรับ ซึ่งก็เป็นไปตามคำสั่งจากการบังคับทางปกครอง หลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นพบว่า เจ้าของบ้านเสียชีวิตไปแล้วแต่ครอบครัวหรือญาติไม่รับรู้ว่าพวกเขาจะได้มรดกดังกล่าวตกเป็นทรัพย์สินของตนเอง และการสำรวจสิทธิอันชอบธรรมที่ทายาทพึงได้ก็เป็นเรื่องที่มีกระบวนการซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก

บ้านที่ถูกทิ้งร้าง คงสภาพเดิม = รักษาคุณค่าบางอย่างทางจิตใจ

นอกจากการหาเหตุผลเพื่อตอบคำถามที่ชัดเจนไม่ได้ว่า ทำไมเจ้าของถึงไม่ขายบ้านทิ้งหรือปล่อยเช่า ก็คือเหตุผลทางจิตวิทยาที่รัฐได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2015 นั้น พบว่า ราว 1 ใน 3 ของเจ้าของบ้านตั้งใจจะเก็บรักษาบ้านนั้นๆ ไว้ในสภาพเดิม นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาต้องการเก็บบ้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ความสัมพันธ์ ภาพจำของเหล่าสมาชิกในครอบครัวไว้ให้เป็นแบบเดิม คงเดิมไว้เช่นนั้น

ที่มา – Japan Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา