งานที่ทำทุกวันนี้ก็เหนื่อยพอแล้ว ผิดไหม ถ้าไม่อยากเติบโตเป็นใหญ่ ในหน้าที่การงาน

“โตขึ้นไปเป็นเจ้าคนนายคนนะ” ประโยคที่ใคร ๆ ก็คงได้ยินในฐานะคำอวยพรจากผู้ใหญ่ เรารู้ดีว่าประโยคเหล่านี้ไม่ได้มีเจตนาจะกดดันให้เราต้องเป็นอันดับหนึ่งในหน้าที่การงาน เพียงแค่เจตนาดีหวังให้เราได้มีตำแหน่งใหญ่ที่สูงขึ้น เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วยเท่านั้นเอง 

แต่เมื่อเข้าสู่โลกการทำงานจริง หลายสิ่งไม่ได้เป็นเหมือนที่เราเคยคิดไว้ บ้างเหน็ดเหนื่อยกับงาน บ้างเหน็ดเหนื่อยกับคน การเดินทางอันเร่งรีบ ชีวิตหลังเลิกงานที่มีเพียงน้อยนิดที่เหลือให้ตัวเอง อาจทำให้เราเหน็ดเหนื่อยมากเสียจนไม่อยากรับผิดชอบอะไรไปมากกว่านี้ หรือบางคนมีความสุขกับงานที่ทำอยู่ มากจนรู้สึกว่าการก้าวไปสูงกว่านี้ อาจทำให้ความสุขเหล่านี้หายไป 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เหล่าคนทำงานไปได้สักระยะ อาจพบเจอกับตัวเอง หรือพบในเพื่อนร่วมงานรอบตัว คือ ความรู้สึกไม่อยากเป็นหัวหน้า ทั้งที่วุฒิภาวะพร้อม ความสามารถพร้อม จนได้รับข้อเสนอให้เลื่อนตำแหน่ง แต่ความต้องการของเราไม่ได้พร้อมตามไปด้วย เพราะการขึ้นเป็นหัวหน้าหรือปรับตำแหน่งสูงขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงบันไดที่เราต้องปีนไปตามอายุงาน แต่ต้องแบกหน้าที่ ความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วย เลยอาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกไม่พร้อมที่จะปีนขึ้นไป

ภาพจาก Shutterstock

Pew Research Center บอกตัวเลขที่น่าสนใจว่าคนที่เป็นหัวหน้านั้น มีความพึงพอใจต่องานถึง 69% ส่วนพนักงานมีความพึงพอใจเพียง 48% เท่านั้น ดูเหมือนว่าการก้าวไปเป็นหัวหน้าจะช่วยให้เรามีความสุขกับงานมากขึ้น รวมถึงชีวิตครอบครัว หัวหน้ามีความพอใจถึง 83% ส่วนพนักงานมีความพึงพอใจน้อยลงมา อยู่ที่ 74% แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ กว่า 43% ของเหล่าคนทำงาน ไม่ได้อยากไปเป็นหัวหน้าหรือเจ้านายในสักวัน 

แม้เราจะรู้ดีว่า การก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีแต่จะเพิ่มประโยชน์ให้กับอาชีพของเราในอนาคต ในอีกแง่ มันก็ต้องแลกมากับหน้าที่ที่มากขึ้น ความรับผิดชอบที่มากขึ้น สิ่งนี้หรือเปล่าที่ทำให้เรารู้สึกยังไม่พร้อม?

ไม่แปลกที่รุ่นพ่อแม่ของเรา มักจะมีไอเดียของ ‘เจ้าคนนายคน’ เป็นเหมือนเป้าหมายในหน้าที่การงาน เพราะพวกเขาเติบโตมาด้วยทัศนคติแบบนั้น เชื่อว่าการเติบโตและขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในงานที่ทำ คือสิ่งที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ จึงไม่นิยมเปลี่ยนงานบ่อยนัก ต่างจากชาวมิลเลนเนียน ที่เปลี่ยนงานบ่อยมากกว่า เพราะเชื่อในสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ว่าทั้งสองสิ่งต้องไปด้วยกันได้ จึงไม่แปลกเช่นกันที่คนรุ่นใหม่จะไม่ได้เชื่อในไอเดีย ‘เจ้าคนนายคน’ มากนัก

ก่อนจะตัดสินใจจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เรามาสำรวจตัวเองกันให้ดีก่อนว่าสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกยังไม่อยากก้าวไปไหน เป็นเพราะเราพอใจกับจุดที่ยืนอยู่ หรือเพราะจุดที่ยืนอยู่มันไม่น่าไปต่อกันแน่ ลองมาจับสัญญาณที่บ่งบอกว่า เราอาจไม่เหมาะกับการเป็นหัวหน้าจริง ๆ ก็ได้ 

  • มองสิ่งนี้เป็นแค่งานไม่ใช่ชีวิต
    อาจด้วยงานที่ทำอยู่ ไม่สามารถเติมเต็มความฝัน ความต้องการ ได้ครบทุกด้าน มุมมองที่มีต่องานนี้ จึงเป็นเพียงงานที่ทำแล้วได้เงิน ไม่ได้เป็นอาชีพที่ช่วยเติมไฟในตัวเรา จนเรามีความทะเยอะทะยานมากพอที่จะก้าวไปข้างหน้า
  • ไม่สามารถทำงานมากกว่านี้ได้
    แค่ทำงาน 9-5 ก็แทบจะธงขาวแล้ว ถ้าต้องทำงานมากขึ้น อาจจะในแง่ของปริมาณหรือความหลากหลายของงาน แล้วรู้ตัวว่าเราไม่สามารถรับมือได้ไหวแน่นอน การเป็นหัวหน้าก็อาจไม่ใช่คำตอบ 
  • กลัวว่าทักษะจะดีพอสำหรับตำแหน่ง
    ตอนนี้เราอาจมีทักษะที่ดี ผลงานเข้าตา จนฝั่งบริหารเห็นแวว จองตัวไว้ให้เลื่อนตำแหน่ง แต่เราที่ยังไม่เคยไปอยู่จุดนั้นจริง ๆ อาจมีความไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวตัวเองเก่งไม่พอ 
  • ไม่อยากรับผิดชอบไปมากกว่านี้
    เช่นเดียวกับเนื้องานที่มากขึ้น ความรับผิดชอบต่องานก็ต้องมากขึ้นด้วยเช่นกัน หรืออาจจะก้าวไปสู่ทักษะด้านที่ไม่ถนัด อย่างการบริหารทีม การสื่อสารกับทุกคนในทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เราอาจยังไม่เคยได้ทำมาก่อน

หากโอกาสมาถึง แต่ใจนึงก็ยังลังเล ลองสำรวจตัวเองดูก่อนว่า มันเป็นเพราะงานนี้ยังไม่ใช่งานที่ใช่ จนเราไม่กล้าไปต่อ หรือในอีกอีกแง่หนึ่ง ก็สามารถพลิกหน้าไพ่ออกมาเป็น เราพอใจกับจุดที่อยู่มาก มากเสียจนไม่อยากก้าวไปทำอย่างอื่น สิ่งนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน และไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด 

แต่การก้าวไปสู่ความยากที่เพิ่มขึ้นอีกระดับ เป็นเหมือนการก้าวออกมาจาก Safe zone ที่เราอยู่กับมันมาตลอด จนรู้สึกว่าแค่นี้ก็พอแล้วหรือเปล่านะ พอใจกับตรงนี้แล้วนี่ จะไปทำงานที่มันหนักทำไม ต้องเจอกับทั้งความเครียด ความกดดัน แต่การไม่ก้าวไปไหนเลยก็อาจทำให้เราอยู่ที่เดิมไปตลอด ไม่มีโอกาสได้พัฒนาตัวเองในสายงานนี้ 

อาจเพราะความยากในด่านต่อไปที่เรายังไม่เคยไปถึง ทำให้เราไม่กล้าเดินออกจาก Safe zone ของตัวเอง แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงค่าตอบแทนที่ได้ ผลประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ใช่แค่แลกกับความยากลำบากของงาน แต่ยังหมายถึงการลับคมตัวเองให้เก่งขึ้นกว่าเดิม ก็อาจช่วยให้เรามีมุมมองต่อการเลื่อนตำแหน่งต่างออกไปได้เช่นกัน

มุมมมองต่อการทำงานจะยังคงเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ตามค่านิยมในสังคม เลือกสิ่งที่เราต้องการและเหมาะกับเรา สุดท้ายแล้ว เราอาจจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่าง ได้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของหน้าที่การงานด้วยจิตวิญญาณที่มอดไหม้ให้กับความรับผิดชอบอันล้นมือ หรือ กลับบ้านไปให้อาหารแมวแล้วเอนหลังบนโซฟาตัวโปรด ความสำเร็จของคุณเป็นหน้าตาแบบไหนกันล่ะ?

 

อ้างอิง

The Muse / business.time.com / Pew Research Center

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา