กสทช. เอไอเอส-ทรู พัฒนาระบบเตือนภัยผ่านมือถือ Cell Broadcast Service แจ้งทันทีหากเกิดเหตุร้ายแรงอันตราย

กสทช. AIS และ True เดินหน้าพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ Cell Broadcast Service หวังเปิดระบบให้คนไทยได้รับทราบข้อมูลเหตุฉุกเฉิน 5 ระดับทุกพื้นที่ทั่วไทย แบบเจาะจงพื้นที่เกิดภัยพิบัติเพื่อความปลอดภัย อาทิ ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม เป็นต้น เป้าหมายเพื่อป้องกันอันตรายความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้ใช้งานคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast คือระบบแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความบนหน้าจอมือถือ จากเสามือถือทุกพื้นที่ทั่วไทย และสามารถเจาะจงพื้นที่เฉพาะที่เกิดเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งจะส่งข้อความเตือนไปยังมือถือทุกเครื่องในพื้นที่ต้องการแจ้งเหตุซึ่งต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะระบบจะแจ้งเตือนทันทีแม้ปิดเครื่อง โดยจะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายให้ทราบพร้อมกันแบบรอบเดียว ทำให้ผู้ใช้งานมือถือทุกท่านทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ แค่มีมือถือเท่านั้นไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ สามารถได้รับการแจ้งเหตุทันที

True ระบุว่า มีการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้ใช้งานมือถือทรูและดีแทคทั่วประเทศไทย โดยข้อความแจ้งเหตุที่ทำการทดสอบสามารถรองรับ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ด้วยการแจ้งเหตุเพียงครั้งเดียว

เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast Service สามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย

  1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert)การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
  2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert)  การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น
  3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย
  4. การแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
  5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

โดยโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา