ครม. เคาะลดภาษีสุราพื้นบ้าน, ไวน์นำเข้า พร้อมลดอัตราภาษีสถานบันเทิง

คณะรัฐมนตรีมีมติจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงการคลังในมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ด้วยการลดภาษีสุราพื้นบ้านของไทย และภาษีนำเข้าไวน์

กรณีของไวน์หรือสปาล์คกลิ้งไวน์จากองุ่น จะมีการยกเลิกการแบ่งชั้นราคา (price tier) จากเดิมที่ราคาของไวน์มากกว่า 1,000 บาทและต่ำกว่า 1,000 บาท อัตราการเก็บภาษีจะต่างกัน ให้กลายเป็นอัตราเดียว คือภาษี 5% บวกกับภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร เช่นเดียวกับฟรุ๊ตตี้ไวน์ ที่อัตราภาษีจะเหลือ 0% และภาษีตามปริมาณอยู่ที่ 900 บาทต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร

ด้านสุราแช่ชนิดอื่นๆ มีการกำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้

  • สุราพื้นบ้าน อาทิ สาโท, อุ หรือสุราที่มีข้าวเป็นวัตถุดิบและมีความแรงไม่เกิน 7 ดีกรี อัตราภาษีอยู่ที่ 0% (เดิมอัตราภาษี 10%) และภาษีตามปริมาณอยู่ที่ 150 บาท ต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร 
  • สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีความแรงมากกว่า 7 ดีกรี อัตราภาษี 10% และภาษีตามปริมาณอยู่ที่ 255 บาท ต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร (เดิมภาษีตามปริมาณอยู่ที่ 150 บาทต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร)
  • สุราแช่อื่นๆ อัตราภาษี 10% และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร (เท่าเดิม)

ขณะที่อัตราภาษีสถานบันเทิง เพื่อช่วยผู้ประกอบการจากปัญหาโควิด และกระตุ้นการท่องเที่ยว ไปจนถึงขยายฐานภาษี โดยปรับลดอัตราภาษีจาก 10% ของรายรับ เหลือเพียง 5% โดยกรณีของสถานบันเทิง จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ธันวาคม 2567

การปรับอัตราภาษีดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ที่มา – สรุปการประชุม ครม.

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา