ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. 66 ทรงตัว แต่มูลค่าการส่งออกยังลดลง

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย. 2566 โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่กิจกรรมในภาคบริการทรงตัว แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นหลัก


ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิง สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเพราะผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัวตามกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนก่อน 

  • การนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้น เช่น หมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง 
  • ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงโดยเฉพาะรถกระบะบรรทุก 
  • การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับลดลงตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 7.3% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่า รวมทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ยุโรป และสหราชอาณาจักร แต่ในด้านรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง 6.3% จากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง


ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว) ลดลง 0.9% จากเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ติดลบ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัว 43.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นหลักตามการเบิกจ่ายที่ลดลงจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางทรงตัว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงาน ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ระดับราคาอาหารในหมวดพื้นฐานจะยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา