ธปท. ชี้แจงเกณฑ์ Virsual Bank หวังเพิ่มการแข่งขัน-เจาะกลุ่ม Unserved คาดเปิดบริการรายแรก มิ.ย. 69

หลังจากต้นสัปดาห์นี้ กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศเรื่อง ขอใบอนุญาตจัดตั้ง ‘ธนาคารไร้สาขา’ หรือ Virtual Bank ล่าสุด ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาใบอนุญาตนี้จึงได้ออกมาชี้แจงรายละเอียด และหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการให้ฟังกัน 

สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าถึง Virsual Bank ว่า เป็นหนึ่งในแนวนโยบายด้านดิจิทัลที่สนับสนุนให้ภาคการเงิน โดยคาดหวังสิ่งที่อยากเห็นใน 3 ด้านหลัก 

  1. ต้องมีบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม (ต้องรู้จักลูกค้าและมีฐานลูกค้า)
  2. สามารถใช้เทคโนโลยีมาสร้างบริการทางการเงินที่ดีให้ลูกค้า
  3. ช่วยสร้างการแข่งขันในตลาดอย่างเหมาะสม

ขณะที่ วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเข้ามาของ Virsual Bank เราอยากเห็นบริการที่แปลกใหม่ เข้าถึงและตอบโจทย์กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) อย่าง SME รายเล็ก และรายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่มีประวัติกับสถาบันการเงินยาวนานพอ ให้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม กรณีรายย่อยที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ บางครั้งมีสาเหตุมาจากรายได้ หรือความรู้ทางการเงิน ดังนั้น Virsual Bank จะช่วยได้บางส่วน 

ทั้งนี้ กรณีศึกษาในต่างประเทศเรื่อง Virsual Bank พบว่า เข้ามาช่วยกระตุ้นการแข่งขัน เช่น ช่วยให้บริการดีขึ้น บางประเทศเห็นการลดค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชีเงินฝากให้ต่ำลง เช่น ในบราซิล และจีน Virsual Bank ค่อนข้างช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการเงินในกลุ่ม Underserverd ดีขึ้น ในเกาหลี พบว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดี และเข้ามาช่วยกลุ่มที่มีคะแนนด้านเครดิตต่ำได้อย่างมีนัยยะ
(ตัวอย่าง Virsual Bank ในบราซิล เช่น Nubank, ในจีน เช่น WeBank)

อย่างไรก็ตาม กรณี Virsual Bank ที่ต้องปิดกิจการ พบว่ามีที่อังกฤษและออสเตรเลีย ซึ่งเปิดให้อย่างไม่จำกัด ทำให้มีรายเล็กๆ เข้ามาสมัครด้วย แต่สุดท้ายหลายรายไปไม่ไหวต้องปิดกิจการ ซึ่งหลังจากที่ ธปท. พูดคุยกับผู้กำกับใน 2 ประเทศนี้ จึงออกมาเป็นเรื่องเกณฑ์ Exit plan ทั้งการดูแลลูกค้า การเตรียมการและมี Trigger ตั้งแต่แรกๆ เพื่อจัดการปัญหาที่ไม่คาดคิด (ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ของธปท. เกิดจากประมาณการข้อมูลธุรกิจ Virsual Bank ในต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงต้นทุน การลงทุน เงินกองทุน และอื่นๆ)

“ด้านต้นทุนคาดว่า ในระยะยาวหลังลงทุนระบบ เทคโนโลยีต่างๆ ต้นทุนของ Virsual Bank น่าจะต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไปเพราะไม่มีต้นทุนสาขา ไม่มีต้นทุนบุคลากรมากนัก เราหวังว่าสิ่งเหล่านี้ (ต้นทุนที่ลดลง) นี้จะถูกส่งผ่านไปให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน” วิภาวิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมองว่าจำนวนใบอนุญาต Virsual Bank ที่เหมาะสมคือ 3 ราย แต่อนาคตต้องรอดูความเหมาะสม

ทั้งนี้ ธปท.​ยังระบุว่าจะพิจารณาการให้ใบอนุญาตจากคุณลักษณะ Virsual Bank ใน 7 ด้าน ได้แก่

  1. ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ได้ตาม Green Line โดยไม่เกิด Red Line
  2. การเข้าถึง บริหารจัดการ และใฃ้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย
  3. ความสามารถในการประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล
  4. การใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และให้บริการได้ต่อเนื่อง
  5. ความรู้ความสามารถและธรรมาภิบาล ของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ
  6. ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงินและ Risk Culture ที่ดี
  7. ฐานะและการสนับสนุนทางการเงินของผู้ถือหุ้น

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ธปท. จะเปิดรับสมัครใบอนุญาตจัดตั้ง Virsual Bank ในช่วง 20 มี.ค. – 19 ก.ย. 2567 จากนั้นธปท. และกระทรวงการคลังจะพิจารณาร่วมกัน คาดว่าภายในช่วง มิ.ย. 2568 กระทรวงการคลังจะประกาศผลผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virsual Bank และคาดว่าจะมี Virsual Bank  เริ่มเปิดดำเนินการรายแรกในช่วง มิ.ย. 2569

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา