แบงก์ชาติชี้เงินเฟ้อไทยติดลบเกิดจากมาตรการรัฐ ย้ำ 4 เหตุผลที่ไม่ได้ลดดอกเบี้ย

วันนี้ (15 ม.ค.) ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับลดลงและติดลบเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบนับตั้งแต่ ต.ค. 2566 เห็นได้จากเส้นสีดำในภาพถัดไป) เป็นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้แล้ว โดยสาเหตุมาจากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่ออกมา ขณะเดียวกันหากถ้าหักผลจากมาตรการรัฐออกไปจะพบว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังอยู่ในระดับต่ำและเป็นบวกอยู่ (เส้นสีแดงในภาพถัดไป)

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ตะกร้า CPI พบกว่า 75% ราคาสินค้าและบริการที่กำหนดยังปรับเพิ่มขึ้นอยู่ โดยราว 25% ที่มีการปรับลดลง (5 อันดับที่ปรับลดลงมากที่สุด ได้แก่ เนื้อสัตว์, น้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าไฟฟ้า, ผักสด, เครื่องประกอบอาหาร) ดังนั้นตัวเลข CPI ดดยรวมติดลบ ไม่ได้สะท้อนว่า ราคาลดลงทั้งหมด กำลังซื้อแผ่วลงหรือเงินฝืด ขณะเดียวกัน การที่เงินเฟ้อที่ต่ำหรือติดลบเล็กน้อยนี้สะท้อนว่าระดับราคาไม่ได้เป็นภาระให้กับประชาชน โดยสินค้าบางประเภทที่ในช่วงก่อนหน้าราคาปรับเพิ่มขึ้นเยอะก็ได้คลี่คลายลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เนิ้อสัตว์

ดังนั้น สาเหตุที่ทำไมแม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบ แต่ กนง. เลือกที่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมาจาก 4 เหตุผล ได้แก่

1) ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน (มาตรการรัฐ) 2) เงินเฟ้อที่ลดลงนี้ ไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แผ่วลง ดังนั้นนโยบายการเงินไม่สมารถตอบสนองปัจจัยเหล่านี้ได้ 3) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังคงอยู่ในระดับ 2% และ 4) การลดลงของอัตราเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาด้านการผลิตที่คลี่คลายลงในบางสินค้า ซึ่งถือเป็นข่าวดี

ทั้งนี้ กนง. ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด แต่มองว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะติดลบต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงเดือน ก.พ. 2567 (ทั้งในเดือน ม.ค. และ ก.พ.) แล้วจะทยอยเพิ่มขึ้น โดยปี 2567 นี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ต้องพิจารณาว่า อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปทั้งปีน 2567-2568 จะมีการปรับเปลี่ยนไปแค่ไหน และต้องมองรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงิน

ในส่วนของปีนี้แม้ปีนี้เรามองว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างสมดุลมากขึ้น จากการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกซึ่งช่วยให้การส่งออกมีแรงส่งมากขึ้น แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และมีความเสี่ยงจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมา รวมถึงปัจจัยต่างประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เป็นเหตุผลที่ทำให้ กนง. ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา เพราะนโยบายด้านการเงินไม่อาจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ และต้องพิจารณาถึงระยะกลางด้วย 

ขณะเดียวกันการใช้นโยบายการเงินเช่นการลดดอกเบี้ย ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งมีต้นทุน และมีความเสี่ยงจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช่ดูแค่เรื่องเงินเฟ้อ แต่ อาจเป็นการสร้างปัญหาที่แก้ยากในภายหลัง เช่น การก่อหนี้เกินตัว

ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่สะสมมาและไม่อาจแก้ได้ด้วย นโยบายทางการเงินเพียงอย่างเดียว เช่น 

– การท่องเที่ยวไทยแม้ปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวขึ้น แต่อาจมีความน่าสนใจน้อยลงเพราะ ไทยไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากเท่าที่ควร เมื่อเทียบเท่ากับเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม

– ภาคการส่งออก ในช่วงหลัง COVID-19 ไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะ เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น เห็นได้จากกลุ่มสินค้า Hi-tech ต่างๆ, สินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่า ไทยมีการเติบโตน้อยกว่าประเทศอื่นๆ 

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา