ช่วงนี้สำหรับการลงทุนในตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Markets อาจไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจมากนัก เนื่องจากหลายๆ ปัจจัยรุมเร้าในช่วงนี้
ดัชนี MSCI Emerging Markets ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนที่ -9.85% ทำให้นักลงทุนที่ซื้อกองทุน (ซึ่งในไทยมีหลายกองทุนที่อิงดัชนีตัวนี้ หรือใช้ดัชนีตัวนี้ในการลงทุน) หรือแม้แต่นักลงทุนที่เน้นในตลาดเกิดใหม่ต่างปวดหัวกันไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ต่างมีผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมาถือว่าสวยงาม โดยปีที่แล้วดัชนีนี้ได้ให้ผลตอบแทนถึง 37.28%
Brand Inside สรุปประเด็นสำคัญๆ ว่านักลงทุนกังวลอะไรในตลาด Emerging Markets ในขณะนี้ และปัจจัยที่ว่านี้ทำให้ผลตอบแทนของดัชนีนั้นดูแย่ในช่วงที่ผ่านมา
1. สงครามการค้าที่ยังไม่จบไม่สิ้น
ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญในปีนี้หนีไม่พ้นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ยังไม่มีวี่แววคลี่คลายลง ถึงแม้ว่าจะมีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับล่างแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีประธานาธิบดีทรัมป์ยังพยายามที่จะเจรจาให้ได้ตามข้อกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำแพงภาษีที่จีนยังตั้งสูง ทำให้เกิดความได้เปรียบ ฯลฯ
มาทำความเข้าใจเรื่องสงครามการค้าได้จากหัวข้อเหล่านี้
- บทวิเคราะห์ สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน เกมนี้จะจบอย่างไร
- สงครามการค้า บาดลึก จีน-ผู้ส่งออกกลุ่มประเทศเกิดใหม่
- UBS วิเคราะห์ผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อาจพาให้ดัชนีหุ้นในเอเชียลงได้ถึง 30%
- จีนและ EU เตือนสหรัฐเรื่องสงครามการค้าว่าอาจพาให้เศรษฐกิจโลกถดถอย
- IMF เตือนสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อาจทำให้ GDP โลกลดลง 0.5% ใน 2 ปีข้างหน้า
- สหรัฐและจีนอาจกลับมาเจรจาแก้ไขปัญหาสงครามการค้าอีกครั้ง
2. วิกฤติค่าเงินในตุรกี
อีกหนึ่งวิกฤติที่ทำให้เกิดความกังวลในกลุ่ม Emerging Markets คือเรื่องของค่าเงินในตุรกี ที่เกิดจากปัญหาหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมูลค่ามากถึง 466,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (78% ของหนี้เป็นสกุลดอลลาร์) และ 1/3 ของหนี้คือต้องจ่ายในปีนี้อีกด้วย นอกจากนี้แล้วตุรกียังเป็นประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ทำให้เพิ่มความย่ำแย่ให้ค่าเงิน Lira เข้าไปอีก
สำหรับวิกฤตการเงินของตุรกี สามารถอ่านทำความเข้าใจได้ที่นี่
- มาทำความเข้าใจวิกฤติค่าเงิน Lira ของตุรกี อีกหนึ่งวิกฤติที่ควรจับตา
- ภาคต่อ : วิกฤตตุรกีกระทบตลาดหุ้นไทยลบ 19 จุด แล้วเราจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้
ทำไมวิกฤติตุรกีถึงมีความสำคัญ เพราะว่าประเทศในกลุ่ม Emerging Markets หลายๆ ประเทศมีดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย โคลอมเบีย อินเดีย แอฟริกาใต้ ซึ่งบางประเทศอย่างแอฟริกาใต้ ค่าเงินในช่วงที่ผ่านมาได้อ่อนค่าลงมาเกิน 10% ทำให้เกิดความกังวลว่าวิกฤติตุรกีที่เกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ และหนี้ต่างประเทศมีจำนวนมาก อาจพาทำให้เกิดวิกฤติลามไปประเทศอื่นๆ ด้วย หรือ Contagion Effect
3. เมื่อบริษัทเทคโนโลยีในจีนไม่ Outperform ในช่วงนี้
อีกปัจจัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมาที่ทำให้ดัชนี MSCI Emerging Markets ไม่สามารถทำผลงานได้ดีคือกลุ่มเทคโนโลยีในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น Baidu Alibaba และโดยเฉพาะ Tencent ที่หุ้นนั้นตกตั้งแต่ต้นปีมาแล้วกว่า 13.65% Market cap หายไปเกินกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัญหาใหญ่ของ Tencent ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายบริษัทในอนาคตด้วยอ่านต่อได้ที่นี่
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีนมีน้ำหนักถ่วงอยู่ในดัชนีเกือบ 10% ฉะนั้นถ้าหากเกิดแรงเทขายจากนักลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ETF หรือกองทุนอื่นๆ ที่ใช้ดัชนีของ MSCI Emerging Markets อ้างอิง ย่อมทำให้หุ้นกลุ่มนี้ตกหนักและพาดัชนีตกลงไปอีก
4. เรื่องอื่นๆ ที่ยังรอสมทบ
นอกจากประเด็นสำคัญ 3 เรื่องในช่วงนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่พร้อมเข้ามาสมทบทำให้ตลาด Emerging Markets นั้นไม่น่าสนใจหนักกว่าเดิมอีก ประกอบไปด้วย
- ธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังจะขึ้นดอกเบี้ยอีกในช่วงที่จะถึงนี้ และรวมไปถึงธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ก็ทยอยขึ้นดอกเบี้ย
- ราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงเรื่อยๆ ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อใน Emerging Markets อาจตามมา
ซึ่งประเด็นเหล่านี้พร้อมที่จะซ้ำเติมทำให้ Sentiment ของ MSCI Emerging Markets ที่แย่อยู่แล้วทำให้แย่เข้าไปอีก แต่ถ้านักลงทุนมองว่านี่เป็นโอกาสก็อาจลงทุนเพิ่มเติมในเหล่าประเทศเกิดใหม่ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา