ภาคต่อ : วิกฤตตุรกีกระทบตลาดหุ้นไทยลบ 19 จุด แล้วเราจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้

เมื่อเกิดวิกฤตค่าเงินของตุรกี ทำให้นักลงทุนทั่วโลกกังวลว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) จะแย่ลงไหม บางรายก็เทขายทรัพย์สินในตรุกีและกลุ่มประเทศนี้ออกไป ก็ยิ่งทำให้ค่าเงินกลุ่มนี้อ่อนค่าลง ว่าแต่วิกฤตที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อไทยไหม ?

ภาพจาก shutterstock

ค่าเงิน Lira อ่อนค่า ฉุดต่างชาติเทขายหุ้นประเทศเกิดใหม่ กระทบไทยระยะสั้น

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เล่าให้ “Brandinside” ฟังว่า Sentiment ของตลาดสำคัญมาก เพราะนักลงทุนค่อนข้างอ่อนไหวกับวิกฤตการเงินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ อย่างตุรกี ที่ค่าเงิน Lira อ่อนค่าลงเกือบ 40% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้คนเลยกังวลว่าการลงทุนในประเทศเกิดใหม่ (EM) จะได้รับผลกระทบ

ดังนั้นเราจะเห็นว่าตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ Sensitive เช่น กลุ่มประเทศเกิดใหม่ จีน ฯลฯ ตลาดหุ้นเลยปรับตัวลงก่อน ส่วนที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น

ภาพจาก shutterstock

ส่วนของไทยเราก็ได้รับผลกระทบ แต่มองว่าจะเป็นระยะสั้น เพราะไทยถือว่าเป็นประเทศผันผวนต่ำ จึงไม่ได้รับผลกระทบมาก อย่างค่าเงินบาทวันนี้ (14 ส.ค.) อ่อนค่าลง 10 สตางค์เท่านั้น จากปกติหากมีวิกฤตการเงินแบบนี้ถ้าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง 30-50 สตางค์ยังถือว่าปกติ ระหว่างวันคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 33.25-33.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

“ตลาดหุ้นไทย ที่เปิดมาติดลบ 19 จุด ก็เพราะว่าต่างชาติเทขายสินทรัพย์ในประเทศ EM เพื่อหลบผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปกติที่นักลงทุนจะไม่ได้ดูแยกเป็นแต่ละประเทศ เวลาเขาจะเทขายเขาจะเลือกขายเป็นกลุ่มก้อน รอบนี้ค่าเงินบาทได้รับผลกระทบน้อยมาก ซึ่งกลุ่มสกุลเงินที่ผันผวนต่ำ ส่วนใหญ่ค่าเงินอ่นค่าไปหมดแล้ว ถ้าไม่มีอะไรเพิ่มเติมก็ไม่น่าจะอ่อนค่าเพิ่ม”

ภาพจาก Shutterstock

วิกฤตตุรกี ปัญหานี้จะอยู่กับเรานานไหม ?

ตอนนี้ตลาดมองว่าทางออกของวิกฤตการเงินฝั่งตุรกี แบ่งเป็น 3 วิธี คือ 1. เบี้ยวไม่จ่ายหนี้ต่างประเทศ ปล่อยให้ Default (ผิดนัดชำระหนี้) ไป 2. กู้เงินทาง IMF มาแก้ปัญหา และ 3. ควบคุมเงินไหลเข้าออกประเทศ (Capital centrol)

ดังนั้นผมมองว่า ปัญหานี้จะอยู่กับโลกเราไปสักพัก เพราะเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

“เรื่องตุรกีคนมองว่ามันเล็กมาก เหมือนเคสกรีซ ถ้ามีคนเล่นไปเรื่อยๆ ก็เป็นปัญหาต่อไป ต่างจากกรณีปัญหาที่เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจ ยังกะได้ว่าระยะเวลาที่จะดีขึ้นได้ ยิ่งตอนนี้ประจวบเหมาะเกิดปัญหาระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ อีก ตอนนี้คนก็รอดูนโยบายของภาครัฐว่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่”

ผมมองว่า ค่าเงิน Lira ปีนี้น่าจะอ่อนค่าที่ระดับ 7 Lira ต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 6.7 Lira ต่อดอลลาร์สหรัฐ (อ่อนค่าลง 43% จากช่วงต้นปีที่อยู่ระดับ 3.72 Lira ต่อดอลลาร์สหรัฐ)

ภาพจาก Shutterstock

ผู้ประกอบการส่งออกทำ Hedge แนะซื้อหุ้นช่วงขาขึ้นยังไม่ต้องรีบ

จากภาวะค่าเงินที่ผันผวน ผู้ประกอบการที่ต้องทำธุรกรรมกับค่าเงินที่มีความผันผวนสูง เช่น รูเบิล (รัสเซีย), Lira, เปโซ (ฟิลิปปินส์) ฯลฯ หากเป็นขานำเข้าอาจจะลุ้นให้ค่าเงินเขาอ่อนค่ามากขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นขาส่งออกแนะนำว่าต้องทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging)

ในช่วงสัปดาห์นี้มองว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีนี้คาดว่าจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ 33.90 บาทต่ออลลาร์สหรัฐ เพราะยังมีปัญหาความไม่แน่นอนเรื่องสงครมมการค้าของจีน

“รอบนี้ค่าเงินอ่อนค่า เพราะเสี่ยงเรื่องการ Default การลงทุนช่วงนี้เลยยังไม่น่าสนใจ ไม่ต้องรีบซื้อหุ้นตอนที่ตก เพราะไม่รู้จะตกลงไปอีกหรือเปล่า แต่มารอซื้อหุ้นตอนเป็นขาขึ้น มีสัญญาณชัดเจนจะดีกว่า อย่างหุ้นจีน หุ้นไทยที่คนลดการถือครองลง แม้จะน่าสนใจ แต่ต้องรอดูปัญหาให้มีทางออกนิดๆ ถึงตอนนั้นก็ซื้อได้”

ผมมองว่า ตลาดหุ้นไทยอาจจะลงไปแตะจุดเดียวกับรอบที่แล้ว ที่ระดับ 1,590-1,600 จุด ดังนั้นค่อยเข้าซื้อเห็นขาขึ้นของหุ้นจะดีกว่า แต่สิ้นปีนี้มองว่าหุ้นไทย น่าจะไม่เกิน 1,700 จุด

สรุป

วิกฤตค่าเงินตุรกี กระทบหุ้นไทยเปิดตลาดลบ 19 จุด เพราะนักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ แต่น่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น เพราะไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีความผันผวนต่ำ ส่วนคนทำการค้าต้องป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ด้านนักลงทุนไม่ต้องรีบซื้อหุ้น รอขาขึ้นค่อยเข้าซื้อทีเดียว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา