หรือ Biden จะเป็น Trump V.2 เมื่อ Buy American เป็นกำแพงการค้าต่อประเทศอื่น | BI Opinion

Biden Trump Buy American

Joe Biden ก็คือ Donald Trump ในเวอร์ชั่น ‘ละมุน’ ขึ้น?

คำถามที่นี้เกิดขึ้นหลังจาก Joe Biden ประกาศนโยบาย Buy American เน้นให้ภาครัฐสนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ เช่น กำหนดให้รัฐบาลต้องซื้อสินค้าที่ผลิตในอเมริกาอย่างน้อย 50% หรือ ลงทุนเปลี่ยนรถยนต์ของรัฐบาลทุกคันเป็นรถไฟฟ้าที่ผลิตในอเมริกาทั้งหมด 

นโยบายของ Joe Biden นัยหนึ่ง จึงเป็นการกีดกันทางการค้า เช่น บริษัทเหล็กจากแคนาดาค้าขายกับบริษัทรถยนต์สหรัฐฯ ได้ยากขึ้นเพราะบริษัทรถยนต์ต้องลดการใช้เหล็กที่มาจากต่างชาติลงเพื่อบรรลุกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้

จะว่าไปแล้ว นโยบายเศรษฐกิจของ Biden มีหน้าตาละม้ายคล้ายกับกำแพงภาษีของ Trump อยู่ไม่น้อย

คำถามคือ เราสามารถเปรียบเทียบด้วยแง่มุมทางการค้าอย่างเดียว แล้วสรุปคำตอบออกมาได้หรือไม่? 

คำตอบคือ ไม่ได้

แม้นโยบาย Biden และ Trump จะดู “คล้ายกัน” เพราะมาจากสาเหตุเดียวกันคือ ชนชั้นกลางอเมริกันเสียประโยชน์จากการค้าการลงทุนโลกมากขึ้นทุกวัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว นโยบายทั้งสองต่างกันอย่างมาก

Trump ผู้ไม่แคร์สายตาโลก กับ Biden ที่โอบรับความร่วมมือจากนานาชาติ

สิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างนโยบายของ Trump และ Biden คือหัวใจของนโยบาย สิ่งที่มาพร้อมกับนโยบาย Trump เสมอคือสำนวนคำพูดแบบชาตินิยม บั่นทอนคุณค่าความร่วมมือระหว่างประเทศ และต่อต้านโลกาภิวัตน์

Trump ไม่เคยลังเลที่จะพูดถึงประเทศอื่นว่าเป็นผู้ร้ายต่อแรงงานอเมริกัน นั่นนำมาสู่นโยบายแนวปกป้องทางการค้าที่มีกลิ่นอายความเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศอื่นไม่เว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตรของตัวเอง

เราจึงได้เห็นนโยบายกำแพงทางการค้าสูงตระหง่านที่ไม่เพียงถูกตั้งต่ออริอย่างจีนเท่านั้น แต่พันธมิตรดั้งเดิมอย่างแคนาดาและสหภาพยุโรปก็โดนหางเลขไปด้วย นี่ยังไม่รวมการสร้างกำแพงจริงๆ ต่อเม็กซิโก 

แม้เขาจะพูดถึงชนชั้นแรงงานอยู่เสมอ แต่เขาไม่ได้ออกนโยบายอื่นๆ สนับสนุนแรงงานอย่างแท้จริง เห็นได้จากการเป็นห่วงการขาดดุลงบประมาณ ไม่ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ที่ทะเยอทะยานเพียงพอ เพื่ออุ้มชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

NASHVILLE, TENNESSEE – OCTOBER 22: U.S. President Donald Trump and Democratic presidential nominee Joe Biden participate in the final presidential debate at Belmont University on October 22, 2020 in Nashville, Tennessee. This is the last debate between the two candidates before the election on November 3. (Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

ในทางกลับกัน Biden ไม่ได้ต่อต้านโลกาภิวัตน์ แถมยังมุ่งมั่นร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ท่าทีของ Biden คือการสนับสนุนชนชั้นกลาง ซึ่งผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้โดยเนื้อแท้แล้ว “ขัดกับ” บริษัทข้ามชาติที่เป็นหัวจักรและผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากโลกาภิวัตน์ 

นโยบายที่มุ่งฟื้นฟูชนชั้นกลางจึงไปขัดกับนโยบายการค้าเสรีในด้านหนึ่ง แต่โดยเนื้อในแล้ว Biden ศรัทธาต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ เขาต้องการคงความร่วมมือในระดับสากลเอาไว้ แต่นั่นต้องเป็นไปโดยให้ชนชั้นกลางซึ่งก็เป็นหน่วยหนึ่งของเศรษฐกิจโลกได้ประโยชน์มากขึ้น 

นโยบายการค้าระหว่างประเทศในยุค Biden จึงมาในรูปโฉมใหม่ ไม่เหมือนกับทั้ง Trump และไม่เหมือนกับนโยบายการค้าเสรีดั้งเดิม ที่มักสานประโยชน์ให้กับแค่บริษัทข้ามชาติเป็นหลัก

ภาพโดย Jonathan Riley จาก Unsplash

รูปโฉมของการค้าระหว่างประเทศของ Biden จะเน้นการยกระดับมาตรฐานในการค้าเพิ่มขึ้น เช่น มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน ในแง่หนึ่งมันอาจสร้างต้นทุน แต่นั่นคือมาตรฐานความเป็นอยู่ของชนชั้นกลางที่ดีขึ้นแบบจับต้องได้ มากกว่า “ตัวเลขทางการค้า” ที่เป็นสิ่งที่ดีต่อบริษัทใหญ่มากกว่าตัวละครทางเศรษฐกิจอื่นๆ

ตรงข้ามกับนโยบายกำแพงภาษีที่กีดกันประเทศอื่นและสร้างความเป็นปฏิปักษ์ขึ้นแบบ Trump

นโยบายแบบ Biden จริงๆ แล้ว เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไปจากทั้ง ญี่ปุ่น จีน และ สหภาพยุโรป หรือก็คือประเทศหัวจักรของการค้าระดับโลก ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น มีกำแพงที่สูงชันในเรื่องข้าวที่หากมีเรื่องนี้อยูบนโต๊ะเจรจาการค้ากับญี่ปุ่นเมื่อไหร่ก็ไม่มีวันที่จะพูดคุยกับญี่ปุ่นได้สำเร็จ   

ส่วนสหภาพยุโรปเองก็มีทั้งกำแพงในเรื่องการเกษตร การประมง ที่มีการอุดหนุนจากบรัสเซลส์มหาศาล นี่ยังไม่รวมถึงการอุดหนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น การอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศสมาชิก และการตั้งมาตรฐานทางการค้าเรื่องสิทธิแรงงาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นอีก 

เห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้ล้วนตั้ง “มาตรฐาน” อื่นๆ เพื่อสานประโยชน์ให้กับคนหลากหลายชนชั้นมากขึ้น เช่น มาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือมาตรฐานแรงงานเพื่อลดการกดขี่แรงงานและผลักดันให้เกิดสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับมากขึ้น

แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังเป็นผู้เล่นที่ดีการค้าการลงทุนระดับโลก ไม่สร้างความเป็นปฏิปักษ์และใส่ร้ายป้ายสีประเทศอื่นๆ ให้เป็นตัวร้ายของคนในประเทศ และนี่ก็เป็นหนังคนละม้วนกับ Trump โดยสิ้นเชิง

Buy American in action

หันกลับมาคิดเรื่อง Buy American ในทางปฏิบัติ ถึงนโยบายนี้จะผลักดันให้ภาครัฐหันมาสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในอเมริกามากขึ้น แต่ความเป็นจริงนโยบายนี้กระทบคู่ค้าต่างประเทศน้อยมาก

Government Accountability Office ที่เป็นสำนักงานตรวจสอบสูงสุดของรัฐบาลกลางรายงานว่า ในปี 2017 มีการจัดซื้อภาครัฐเพียง 7.8 พันล้านดอลลาร์ เท่านั้น ที่เกิดขึ้นกับคู่ค้าต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด 6 ประเทศ จากตัวเลขการจัดซื้อภาครัฐทั้งหมดทั้งหมด 5.08 แสนล้านดอลลาร์

ข้อมูลจากสื่ออย่าง Wall Street Journal และ Washington Post รายงานตรงกันว่า สัดส่วนสินค้าจากต่างประเทศคิดเป็นเพียง 5% ของการจัดซื้อภาครัฐเท่านั้น ส่วนข้อมูลจากหอการค้าอเมริกันเผยว่าการจัดซื้อภาครัฐ 97% เกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกัน (แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงเรื่องห่วงโซ่การผลิตที่มีความเป็นนานาชาติ)

ตามข้อตกลงการจัดซื้อจัดจ้างตามกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่สหรัฐฯ เข้าร่วมกับอีก 47 ประเทศ ก็มีข้อระบุชัดเจนว่ารายการการจัดซื้อที่มีมูลค่าเกิน 182,000 เหรียญสหรัฐฯ จะต้องเปิดให้บริษัทจากประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงเข้ามามีส่วนร่วมได้เสรี ซึ่งทำให้ Buy American ไม่กระทบการค้าหากเป็นไปตามเงื่อนไขนี้

ที่น่าสนใจที่สุดคือ Joe Biden เคยมีประสบการณ์การจัดการกับเรื่องราวแบบนี้มาก่อน ในปี 2008 ในสมัยรัฐบาล Barack Obama ที่เกิดวิกฤติการเงินขึ้นจนภาครัฐต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในขนานใหญ่ และบางมาตรการณ์ก็คล้ายกับ Buy American ที่ Biden เสนอในปี 2020 

นโยบายกระตุ้นมีการส่งเสริมให้ใช้เหล็กในโครงการของรัฐ แต่ท้ายที่สุดก็มีการเจรจายกเว้นให้กับเหล็กของ Canada และสินค้าอื่นๆ ของคู่ค้ารายสำคัญที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงการจัดซื้อภาครัฐของ WTO เพราะเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกันแน่น นี่แสดงให้เห็นว่ามีช่องว่าให้เจรจากับพันธมิตรอยู่เสมอในตำราของ Biden

Jean Heilman Grier ที่ปรึกษาด้านการค้าจาก Djaghe LLC บริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศ ผู้เคยมีบทบาทช่วยเจรจาต่อรองกฎเกณฑ์ด้านการจัดซื้อภาครัฐใน WTO กล่าวว่านโยบาย Buy American ของ Biden น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวแบบนั้น และจะสอดคล้องกับข้อบังคับทางการค้าที่มีอยู่ 

Buy American จะเหมือนกัน Make America Great Again V.2 หรือไม่ เรื่องนี้ต้องถามทีมของ Biden

WASHINGTON, DC – April 11: Federal Reserve Chair, Janet Yellen, look on as the group of 20 nations (G- 20), finance ministers and central bankers prepare for the International Monetary and Financial Committee (IMFC) family photo at the IMF/World Bank Spring meetings on April 11, 2014 in Washington, DC. (Photo by Pete Marovich/Getty Images)

Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เคยพูดถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศไว้ว่า Joe Biden มีท่าทีชัดเจนที่จะไม่เซ็นข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ๆ ก่อนสหรัฐฯ จะได้ลงทุนขนานใหญ่เพื่อแรงงานในสหรัฐฯ และโครงสร้างพื้นฐานภายใน เธอย้ำว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของรัฐบาลนี้ 

คำกล่าวของเธอ อาจสร้างความตกใจให้กับมิตรประเทศพอสมควร

แต่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาโควิด-19 อย่างหนักหน่วง มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก จำนวนกว่า 27 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 4 แสนคน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเจอกับความแตกแยกทางการเมืองภายในประเทศครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง นำมาสู่การบุกรัฐสภา U.S. Capitol ในวันที่ 6 มกราคม ก็ไม่แปลกที่สหรัฐฯ จะเร่งซ่อมบ้านโดยด่วน

แต่เธอได้กล่าวต่อสภาสูงสหรัฐฯ ในการรับฟังเพื่อยืนยันการแต่งตั้งว่า ฝ่ายบริหารมีความมุ่งมั่นแรงกล้าในนโยบายด้านการค้า เธอจะทำงานใกล้ชิดกับ Biden ในการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรอีกครั้ง และจะมีการทำข้อตกลงทางการค้าที่สร้างความมั่งคั่งให้กับแรงงานอเมริกัน

เมื่อพิจารณาคำพูดของเธอ ชัดเจนว่า รัฐบาลของ Biden มองการซ่อมบ้านครั้งใหญ่ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้เพื่อการกลับไปมีบทบาทในความร่วมมือระหว่างประเทศที่มั่นคงมากขึ้น

ในอีกฟากหนึ่ง Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า แม้ Biden จะยังมีท่าทีไม่แน่นอนเรื่องการยกเลิกกำแพงภาษีกับจีนลง และสหรัฐฯ ก็มีท่าทีต่อต้านจีนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากสมัยของ Trump

แต่นโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีน เป็นแค่นโยบายต่อคู่แข่งทางยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านท่าที่อำนาจนิยม การทูตที่ก้าวร้าว การแทรกแซงทางเศรษฐกิจของทางการจีน และการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา 

นี่ไม่ใช่นโยบายที่สหรัฐฯ จะมีต่อประเทศพันธมิตรซึ่งเป็นผู้นิยมชมชอบประชาธิปไตยเหมือนกัน ในทางกลับกัน พันธมิตรจะร่วมมือกันเพื่อกดดันให้จีนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่นับวันยิ่งแข็งกร้าวขึ้น

Sullivan ยังมีแนวทางด้านเศรษฐกิจไม่ต่างไปจากคนอื่นในรัฐบาลคือการมองแรงงานเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการค้า เขากล่าวว่า “จุดประสงค์ของการเจรจาการค้าไม่ได้เป็นไปเพื่อทำให้โลกเป็นสถานที่ที่น่าลงทุนสำหรับบริษัทข้ามชาติมากขึ้น แต่เป็นไปเพื่องานและค่าจ้างที่ยกระดับชีวิตชนชั้นกลางได้”

นี่ไม่ใช่การปฏิเสธการค้าเสรีแน่นอน เพราะ Biden มีความตั้งใจอีกหลายอย่างที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอย่างโควิด การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการสร้างพันธมิตรต้านจีน

อาจพูดได้ว่า Biden อยากจะปรับปรุงให้การค้าเสรีทำงานได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

การค้าระหว่างประเทศยุค Biden สามารถสรุปได้ด้วยคำพูดของ Eswar Prasad ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการค้าจาก Cornell University ที่ว่า “Biden จะนำมาสู่ยุคใหม่ของการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ตัดสินใจลดการโฟกัสเรื่องดั้งเดิมอย่างราคาและประสิทธิภาพ และหันมาสนใจสภาพความเป็นอยู่จริงๆ ของผู้คนมากขึ้น”

การมุ่งสนใจประสิทธิภาพทางราคา แต่เดิมก็เป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ของผู้คน แต่เมื่อวิธีการดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ให้ผลประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของคนทั่วไปเท่าที่ควร นโยบายการค้าก็ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีการใหม่ๆ

ทิ้งท้าย

มีการวิพากษ์นโยบาย Biden จากอีกฟากว่า แม้เขาจะยังมีท่าทีสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศก็จริง แต่การยกมาตรฐานทางการค้าเพิ่มขึ้นคือการสร้างกำแพงทางการค้าที่ขัดขวางการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้ผู้จ่ายภาษีต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นในสินค้าที่มีคุณภาพลดลง

ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่า สหรัฐฯ กำลังตั้งกำแพงกับประเทศอื่นๆ 

ในตอนนี้ งานของ Biden คือ การประเมินผลในทางปฏิบัติ ว่านโยบายของเขาต่อไปจะกระทบการค้าการลงทุนแค่ไหนเพื่อกำหนดรายละเอียดนโยบายให้มีความสมดุลระหว่างการยกระดับเศรษฐกิจภายใน และความสัมพันธ์ทางการค้ากับภายนอก

นอกจากนี้ Biden ยังต้องสื่อสารกับนานาชาติถึงจุดยืนให้ชัดเจน ว่า Buy American ไม่ใช่กำแพงทางการค้า ยืนยันความมุ่งมั่นในเวทีโลก ในตอนนี้การกลับเข้าไปเป็นมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาระดับโลก ทั้งในองค์การอนามัยโลก ข้อตกลงปารีส และอื่นๆ ตั้งแต่วันแรกของการดำรงตำแหน่งก็พอสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

นโยบาย Buy American ยังคงเป็นสิ่งที่ยังประเมินได้ยากในเร็ววัน แต่ที่แน่ๆ คือ Biden จะไม่เดินตามรอย Trump ในนโยบายการค้า แต่ในเมื่อยังมีเรื่องให้พิจารณาอีกมากทั้งผลในเชิงปฏิบัติ และการสื่อสารกับนานาชาติ เรื่องนี้จึงยังต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างรอบด้าน

อ้างอิง – Foreign Affairs (1) (2), WSJ (1) (2) (3), Washington Post (1) (2) (3), FT, NYT, Mint, Economist, Bloomberg, Independent, CFR, Vox, NPR

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน