เจาะลึกนโยบายสิ่งแวดล้อมอเมริกา ยุคไบเดน เศรษฐกิจเปลี่ยนทิศ ธุรกิจต้องคิดใหม่

โจ ไบเดน Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
Joe Biden ภาพจาก Shutterstock

นโยบายสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จะเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราทำธุรกิจ

ทิศทางนโยบายสิ่งแวดล้อมของอเมริกาในยุคโจ ไบเดน จะเป็นการกลับลำ 180 องศา จากทิศทางนโยบายสิ่งแวดล้อมในยุคของทรัมป์อย่างชัดเจน ไบเดนจะมาพร้อมกับการชูนโยบายสิ่งแวดล้อมเต็มสูบ ตรงข้ามกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนมีอยู่จริงและเป็นวิกฤติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

นโยบายสิ่งแวดล้อมอาจเป็นเรื่องที่ดูไม่หวือหวา ไม่น่าจับตามองเท่ากับนโยบายเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ในปี 2020 จากข้อมูลของ New York Times สหรัฐฯ ต้องสูญเงินกว่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท ไปกับภัยธรรมชาติซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2019 

อีกอย่างที่ทำให้นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่น่าจับตามองคือ การที่สิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นเสมอ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่มันจะไปกำหนดภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม การขนส่งและคมนาคม การทำเกษตร วิธีการใช้งานทรัพยากร ซึ่งหมายความว่าตัวละครทางเศรษฐกิจ เช่น บริษัท ต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอย่างมาก

และนี่คือก้าวย่างของมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายจะกระทบเศรษฐกิจโลกแน่นอน

โจ ไบเดน จัดทีมชุดใหญ่ แก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม

คณะทำงานที่ถูกเติมเต็มไปด้วยผู้มากประสบการณ์ในวงการสิ่งแวดล้อมของ โจ ไบเดน ทั้งในคณะรัฐมนตรี และทีมทำงานของประธานาธิบดีสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก 

คณะทำงานส่วนใหญ่ของไบเดนในด้านสิ่งแวดล้อมมักจะมีภูมิหลังคือ หากไม่เคยเคยทำงานผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมในวาระของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา หรือมีความถนัดเฉพาะทางมาอย่างยาวนาน ก็จะเป็นผู้ที่สนับสนุน Green New Deal ชุดข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทะเยอทะยาน ตัวอย่างเช่น

  • Deb Haaland รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน เป็นตัวแทนผลประโยชน์ในพื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติของคนพื้นเมืองอเมริกัน
  • Gina McCarthy หัวหน้าสำนักงานนโยบายสิ่งแวดล้อมประจำทำเนียบขาว เคยทำงานในสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ในรัฐบาลโอบามา
  • Jennifer Granholm รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยทำงานผลักดันพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมรถในสมัยโอบามา ในฐานะผู้ว่าการรัฐมิชิแกน
  • Michael Raegan หัวหน้าสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ มีประสบการณ์ในการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา
  • Brendy Mallory ประธานสภาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำงานเป็นทนายความด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน
WASHINGTON, DC – DECEMBER 28: U.S. Secretary of State John Kerry delivers a speech on Middle East peace at The U.S. Department of State on December 28, 2016 in Washington, DC. Kerry spoke on the need for a two-state solution and defended the Obama administration’s approach to Israel. (Photo by Zach Gibson/Getty Images)

ที่สำคัญ ไบเดนได้ตั้ง John Kerry อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลโอบามา เป็น ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) เขาเป็นสถาปนิกผู้ให้กำเนิดความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกล่าสุดอย่าง Paris Agreement 2016

ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในรัฐบาลโจ ไบเดน ก็มุ่งมั่นเรื่องวิกฤติภูมิอากาศ

ไบเดนยังตั้งคนที่มีความมุ่งมั่นเรื่องสิ่งแวดล้อมในตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น 

  • Janet Yellen รัฐมนตรีคลัง สนับสนุนนโยบายพลังงานสะอาดมายาวนาน
  • Pete Buttigieg รัฐมนตรีคมนาคม เคยลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีและชูนโยบายสิ่งแวดล้อม
  • Brian Deese ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ เคยมีบทบาทในการเจรจาร่างข้อตกลงปารีส
WASHINGTON, DC – April 11: Federal Reserve Chair, Janet Yellen, look on as the group of 20 nations (G- 20), finance ministers and central bankers prepare for the International Monetary and Financial Committee (IMFC) family photo at the IMF/World Bank Spring meetings on April 11, 2014 in Washington, DC. (Photo by Pete Marovich/Getty Images)

นอกจากนี้ ชัยชนะล่าสุดในจอร์เจีย ทำให้เดโมแครตสามารถส่งสมาชิกวุฒิสภาเข้าสู่สภาซีเนตเพิ่ม 2 คน และได้คุมเสียงข้างมากในสภาสูงสหรัฐฯ นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2011 ที่เดโมแครตมีเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา นั่นหมายความว่า โจ ไบเดน สามารถเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้าและใช้งบประมาณสูงได้มากยิ่งขึ้น

โดยไบเดน จะมาพร้อมแนวทางนโยบายสิ่งแวดล้อม ดังนี้

แก้ไขสิ่งที่ทรัมป์ทำพัง คือภารกิจแรก

Donald Trump โดนัลด์ ทรัมป์
ภาพจาก Shutterstock

จากข้อมูลของ Washington Post โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกหรือผ่อนคลายกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมไปกว่า 125 ฉบับ ซึ่งนั่นทำให้บริษัทเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงอย่างมาก เช่น 

  • ผ่อนคลายกฎหมายปกป้องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์
  • ผ่อนคลายเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
  • ผ่อนคลายกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • อนุญาตให้เข้าไปขุดเจาะน้ำมันในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก ในมลรัฐอลาสก้า
  • ลดมาตรฐานด้านพลังงานของรถยนต์

ภารกิจเร่งด่วนอย่างแรกคือการย้อนคืนกระบวนการที่ทรัมป์ได้ทำตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง และกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ที่เอื้อให้ภารกิจในการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศเป็นไปได้มากขึ้น

กลับมามีบทบาทนำระดับโลกในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

BIARRITZ, FRANCE – AUGUST 25: France’s President Emmanuel Macron and US President Donald Trump pose for the media as they meet for the first working session of the G7 Summit on August 25, 2019 in Biarritz, France. The French southwestern seaside resort of Biarritz is hosting the 45th G7 summit from August 24 to 26. High on the agenda will be the climate emergency, the US-China trade war, Britain’s departure from the EU, and emergency talks on the Amazon wildfire crisis. (Photo by Jeff J Mitchell – Pool /Getty Images)

นอกจากเรื่องระดับชาติแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ยังนำอเมริกาออกจากความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศระดับโลกอย่างข้อตกลงปารีส ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะเป็นต้นทุนต่อการพัฒนาของประชาชนอเมริกัน 

ภารกิจเร่งด่วนที่สุดของไบเดนคือ การนำอเมริกากลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสอีกครั้ง และแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศพันธมิตรอย่างประเทศในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกระดับโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่อย่างวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การแต่งตั้ง John Kerry ผู้มากประสบการด้านการทูตและการระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ก่อให้เกิดข้อตกลงปารีส ให้มาช่วยเหลือไบเดนในตำแหน่งผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) ก็สะท้อนให้เห็นว่าไบเดนจริงจังเรื่องความร่วมมือระดับโลก โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม

การปฏิวัติพลังงานสะอาด

Tesla
Supercharge ของ Tesla – ภาพจาก Pixabay

โจ ไบเดน มีแผนที่จะ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือ 0 ภายในปี 2035 จึงมีแผนที่จะจัดทำนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากมาย เช่น

  • ออกนโยบายทางภาษีที่สร้างแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
  • เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด 
  • สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับแบตเตอรี่
  • วางแผนจะสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะทุ่มเงินกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ปรับให้ภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด ส่วนก่อสร้างของภาครัฐจะต้องมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การหันหน้าหาพลังงานสะอาดของรัฐบาลใหม่ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน เช่น Tesla ที่เติบโตขึ้นอย่างมากในปี 2020 จนทำให้ Elon Musk ขึ้นเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก (ก่อนจะถูก Jeff Bezos แซงอีกครั้ง)

สรุป

ต่อจากนี้ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอเมริกาจะถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อตอบรับนโยบายของโจ ไบเดน ธุรกิจของสหรัฐฯ จะมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น และด้วยการลงทุนทั่วโลกของบริษัทสหรัฐฯ นั่นจึงบีบบังคับให้บริษัทที่ข้องเกี่ยวกันในสายพานการผลิตปรับตัว 

ผนวกกับการที่สหรัฐฯ กลับเข้ามาผลักดันการต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศในเวทีโลกอีกครั้ง จึงทำให้รัฐบาลจากประเทศต่างๆ และบริษัทจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ที่มา – NYTimes, Washington Post (1) (2) (3), Quartz (1) (2), MSNBC, Vox

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน