ผลวิจัยชี้ นโยบายต่างประเทศยุคไบเดน เป็นมิตร ไม่ทะเยอทะยาน ส่งผลดีต่อคนชั้นกลาง

รายงานล่าสุดจากสถาบันคลังสมอง Carnegie ระบุว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของ Joe Biden จะส่งผลดีต่อคนชั้นกลาง ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดงบประมาณด้านความมั่นคง นโยบายต่างประเทศยุคไบเดนจะมีลักษณะถ่อมตัวมากยิ่งขึ้น ทะเยอทะยานน้อยลง ซึ่งบุคคลสำคัญที่รายงานพูดถึงนอกจากไบเดน คือการเลือกคนมาไว้เป็นมือขวาคู่ใจ 

Biden เลือกมือขวาแต่ละคน น่าสนใจทั้งนั้น

คนแรกคือ Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ คนนี้คือผู้ช่วยเขียนรายงานและเป็นที่ปรึกษาให้ไบเดนตลอดการทำแคมเปญเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยฮิลลารี คลินตันเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย เขาเลือกเจคเพราะต้องการนำความคิดที่สดใหม่ปรับทิศทางนโยบายด้านการต่างประเทศ

ไบเดนบอกว่า เจคเข้าใจวิสัยทัศน์ของเขา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงของชาติ เจคจะมาช่วยชี้แนะในการดำเนินนโยบายต่างประเทศสำหรับคนชนชั้นกลางมากขึ้น ครอบครัวของเจคสอนให้เขารู้คุณค่าของการทำงานหนัก การประพฤติตัวที่เหมาะสม การบริการและการเคารพต่อผู้อื่น 

คนที่สองคือ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ Susan Rice เธอเชี่ยวชาญนโยบายต่างประเทศมายาวนาน เป็นผู้อำนวยการสภานโยบายแห่งทำเนียบขาว เป็นผู้เชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างทีมความมั่นคงแห่งชาติและทีมเศรษฐกิจ ไรซ์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจคและ Brian Deese ผู้ที่ไบเดนเลือกให้เป็นผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ 

ไบเดนกล่าวว่า ทั้งนโยบายภายในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายความมั่นคงจะทำงานสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ใช่เพียงเท่านี้ที่ไบเดนให้ความสำคัญ แต่เขายังมีกลยุทธ์ใหม่ในการเลือกผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ เขาเลือก Katherine Tai อัยการสาวผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า จบมาจากมหาวิทยาลัย Yale และ Harvard แถมยังมีพ่อแม่ที่เป็นคนจีนอพยพไปไต้หวันและมาตั้งรกรากที่อเมริกาด้วย การแต่งตั้ง Tai เป็นที่โจษก์จันกันมากว่าตั้งใจเลือกเพื่อมาต่อกรกับจีน 

ไบเดนกล่าวว่า การค้าเป็นเสาหลักสำคัญที่จะทำให้ศักยภาพด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เป็นนโยบายต่างประเทศเพื่อคนชั้นกลาง (ไบเดนกล่าวย้ำถึงคนชั้นกลางซ้ำอีกครา) มีการคาดการณ์ว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไบเดนนี้จะแตกต่างทั้งจากสมัยทรัมป์และโอบามา 

เอ็ดเวิร์ด อัลเดน นักวิจัยอาวุโสจาก CFR ระบุว่า การเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่การสร้างโอกาสที่ปลอดภัยแก่ธุรกิจที่ดำเนินโดยบริษัทสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องที่จะทำให้ราคาสินค้าถูกลงเพื่อผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งรายงานจากคาร์เนกี้นี้ สัมภาษณ์จากผู้คนนับร้อยรายจากเจ้าของธุรกิจ เกษตรกร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในเมืองโอไฮโอ เนบราสก้า และโคโลราโด ซักถามเกี่ยวกับความคิดของพวกเขาที่มีต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา 

สหรัฐฯ ต้องแข็งแกร่งขึ้น ใช้นโยบายทั้งสายเหยี่ยวและพิราบควบคู่กัน

หลังจากที่สหรัฐฯ มีความสำคัญเหนือใครราวสามทศวรรษแล้ว ชนชั้นกลางอเมริกันพบว่า ชนชั้นตนเองเปราะบางที่สุด โลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดความไม่สมส่วนจากการได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นชนชั้นนำระดับบนที่มีเพียง 1% ของประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์มหาศาล ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น  

รายงานดังกล่าวของคาร์เนกี้ไม่ได้แนะนำว่า ไบเดน ควรจะเข้าร่วมวงเจรจาภาคีทางเศรษฐกิจ TPP หรือไม่ แต่คนอเมริกันทั้งหลายที่เป็นทั้งคนชนบท คนเมือง ล้วนเป็นกังวลว่า สหรัฐฯ จะบริหารนโยบายต่างประเทศอย่างไรที่ทำให้ชีวิตคนชั้นกลางดีขึ้น 

สถาบันคาร์เนกี้มองว่า สหรัฐฯ จะต้องแข็งแกร่งทั้งในบ้านและนอกบ้านตัวเอง ต้องบริหารทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราบ และต้องสามารถโดดเดี่ยวตัวเองได้ มีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยมใหม่ ใช้ทุกด้านที่เป็นเสาหลักของสหรัฐฯ เอง อย่างมีพลวัตร มีประสิทธิภาพ สร้างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และต้องสร้างแรงดึงดูดจากประเทศต่างๆ ด้วย จากนั้นก็เสนอข้อแนะนำ 5 ข้อสำหรับสหรัฐฯ ดังนี้

อเมริกา America
Photo by Christopher Skor on Unsplash

ข้อแรก ภาคการผลิตเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับคนชั้นกลางที่ไร้วุฒิการศึกษา และมันยังทำให้เศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ตอนกลางของประเทศ (Midwest) ที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศดีขึ้นด้วย การที่สหรัฐฯ มีบทบาทในการค้าโลกลดลงส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เสื่อมถอยลงตามไปด้วย ผลกระทบจากบทบาทที่หายไปทำให้แรงงานภาคการผลิตหายไปนับล้านตำแหน่ง ดังนั้น การเพิ่มบทบาทและเข้ามาร่วมปรับทิศทางการค้าโลกผ่านองค์การระหว่างประเทศ จะช่วยรักษาตำแหน่งงานในสหรัฐฯ อีกทาง

นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนชาวอเมริกันส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่ทำงานอยู่นอกภาคการผลิต โดยมากอยู่ในภาคบริการที่สหรัฐฯ ค่อนข้างได้เปรียบประเทศอื่น ทศวรรษที่ผ่านมา คนอเมริกันจำนวนมากสนับสนุนนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพราะมันสนับสนุนความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา ผลสำรวจจาก Gallap พบว่าคนอเมริกันราว 79% เห็นด้วยกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่มันจะช่วยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวยิ่งขึ้น 

Joe Biden โจ ไบเดน
ภาพจาก Shutterstock

เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สร้างนโยบายต่างประเทศใหม่
เป็นมิตรมากขึ้น เน้นร่วมมือ อย่าถอยหลังเหมือนยุคทรัมป์

ข้อแนะนำข้อที่สอง แก้ปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระแสโลภาภิวัตน์ทำให้การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่สมส่วน โดยมากมักเป็นผู้บริษัทข้ามชาติและผู้ที่หารายได้อันดับต้นๆ อยู่แล้วที่ได้รับส่วนแบ่งนี้ไป ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากยิ่งขึ้นและไม่ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ได้ทำให้การลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว 

ขณะเดียวกัน ครอบครัวคนชั้นกลางต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข บ้าน การศึกษา และการดูแลเด็ก ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยอุตสาหกรรมต่างๆ ในการรับมือกับการดิสรัปทางเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะต้องส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน มีการลงทุนพิ่มขึ้น ต้องมีกลไกที่ต่อต้านการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบเสียหายต่อวิสาหกิจ SMEs และแรงงานมากขึ้น 

ข้อสาม นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ มีลักษณะโดดเดี่ยวตัวเองมาราวทศวรรษแล้ว ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายต่างประเทศต้องกำหนดโดยสร้างผลประโยชน์ด้วย โดยเฉพาะการแข่งขันในแง่ภูมิรัฐศาสตร์กับมหาอำนาจที่กำลังทะยานขึ้นอย่างจีนและรัสเซีย คนอเมริกันจำนวนมากยังติดอยู่กับสถานะคนชั้นกลาง รัฐบาลต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจภายในประเทศและประเด็นสังคมที่มันมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนนี้ให้ได้เพื่อจะกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ 

นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่การให้ความร่วมมือระหว่างองค์กรโดยใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายจะทำให้มันออกแบบนโยบายได้ง่ายขึ้นและแตกต่างกว่าช่วงสมัยสงครามเย็น 

ข้อสี่ จงขับพิษร้ายจากหลักการนโยบายต่างประเทศเสีย 

นโยบายต่างประเทศควรประคับประคองความสัมพันธ์กับพันธมิตรใกล้ชิด เพื่อสร้างเครือข่ายทางการทูต ที่สามารถจัดการกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หายนะที่สหรัฐฯ เผชิญจากโรคระบาด การโจมตีทางไซเบอร์ อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้คนชั้นกลางตกอยู่ในอันตรายทั้งในแง่ของความมั่นคงและความมั่งคั่ง

นโยบายดังกล่าวอาจทำให้เห็นว่ามีแนวทางที่ไม่ทะเยอทะยานเหมือนก่อนหน้า แต่ก็เป็นนโยบายที่ผสมผสานกันระหว่างสมัยจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และบารัค โอบามา สหรัฐฯ ต้องแก้ไขนโยบายที่แสดงท่าทีมากเกินไปในเวทีโลก สหรัฐฯ ต้องมีท่าทีที่สร้างผลบวกและสร้างสรรค์ให้กับโลกมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่สามารถสานประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ในระยะเวลาอันสั้น สหรัฐฯ ต้องมีท่าทีที่ตอบสนองต่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่านั้น 

สหรัฐฯ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาแรงงาน ความมั่นคงไซเบอร์ การวิจัยและการพัฒนาเหล่านี้จะช่วยขยายศักยภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้เติบโต รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์หลัก ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด ต้องมีการปรับซัพพลายเชนให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น 

สหรัฐอเมริกา America
Photo by Ferdinand Stöhr on Unsplash

ข้อห้า สหรัฐฯ ต้องสร้างฉันทามติทางการเมืองที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศใหม่ เพื่อให้ตอบสนองผลประโยชน์สำหรับคนชั้นกลางอเมริกันมากขึ้น ผลสำรวจจาก Gallap เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 สะท้อนว่า คนอเมริกัน 69% คิดว่าสหรัฐฯ ควรมีบทบาทนำในเวทีโลกเพราะมันสัมพันธ์กับเสถียรภาพของสหรัฐฯ มานานนับทศวรรษแล้ว 

สรุป

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์เป็นการหมุนทวนเข็มนาฬิกาที่กำลังเดินหน้าแบบถอยหลังกลับ นโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคไบเดนจึงต้องปรับสมดุลเอื้อให้คนชั้นกลางทำงานได้ดีขึ้น สร้างผลประโยชน์ต่อธุรกิจต่างๆ และเปิดกว้างด้านการค้า เพิ่มการลงทุน ยืดหยุ่น และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น 

ข้อเสนอที่ว่ามานี้ สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันคลังสมองคาร์เนกี้พยายามจะผลักดันให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ การค้าที่มีแนวโน้มปกป้องอุตสาหกรรม ธุรกิจและแรงงานภายในประเทศมากขึ้น เน้นการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน และหันมาช่วยธุรกิจภายในประเทศให้รอดพ้นจากการดิสรัปมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็จะเดินเกมที่เป็นมิตรกับนานาประเทศมากขึ้น ท่าทีที่เป็นตำรวจโลก แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น อาจจะไม่เข้มข้นเท่ายุคที่ผ่านๆ มา เว้นแต่ว่า การกระทำนั้นๆ ของประเทศอื่นส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เอง  

ที่มา – Nikkei Asia, Carnegie

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา