ทำไม dtac ถึงยกเลิกการวัดผล KPI ในองค์กร แล้วหลังจากนี้ dtac จะวัดผลคนในองค์กรอย่างไร?

dtac ประกาศยกเลิกวัดผลคนในองค์กรด้วย KPI หันมาใช้การวัดผลรูปแบบใหม่ เน้นดึงจุดแข็งของพนักงานมาใช้ทำงาน เพื่อสานต่อแผนแบรนด์ดิจิทัลเบอร์ 1 ของไทยในปี 2020

dtac ยกเลิก KPI

dtac แถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนว่า dtac ได้ยกเลิกการวัดผลการทำงานแบบ KPI (Key Performance Indicator) มาตั้งแต่ต้นปี 2018 แล้ว โดยถือเป็นหนึ่งในแผนของ dtac ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งด้านดิจิทัลในประเทศไทยในปี 2020

คำถามก็คือ ทำไม dtac ถึงยกเลิกการวัดผล KPI

นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ของดีแทค บอกว่า “KPI เป็นนวัตกรรมการวัดผลการทำงานของศตวรรษที่แล้ว” 

KPI คือการตั้งเป้าการทำงาน และคาดหวังว่าพนักงานต้องทำงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านปริมาณ และ performance ยกตัวอย่างเช่น ในระยะเวลา 1 ชั่วโมง พนักงานทำงานได้ 1 ชิ้น ตามหลักการของ KPI จะคาดหวังว่าพนักงานควรจะทำงานได้ไวขึ้น และรวดเร็วขึ้น ดังนั้น จาก 1 ชิ้นต่อ 1 ชั่วโมง จึงต้องกลายเป็น 2-3 ชิ้นต่อ 1 ชั่วโมง

นาฏฤดี เรียกการวัดผลการทำงานแบบนี้ว่าเป็นการ “เน้นผลของปริมาณ” ในงานเดิมๆ วิธีการแบบนี้ไม่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และที่สำคัญ ไม่ตอบโจทย์องค์กรในยุคดิจิทัลที่มีความต้องการความสร้างสรรค์สูงมาก

นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ของดีแทค
นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ของดีแทค

นาฏฤดี ยกงานวิจัยของ Gallup บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาองค์กร โดยศึกษาถึงความพึงพอใจของพนักงานในสหรัฐอเมริกาต่อการวัดผลแบบ KPI ในที่ทำงาน พบว่า มีพนักงานเพียง 14% เท่านั้นที่พึงพอใจกับการวัดผลแบบ KPI ส่วนที่เหลือกว่า 86% ไม่พอใจ

นอกจากปัญหาเชิงบุคคลแล้ว การวัดผลแบบ KPI ยังส่งผลโดยตรงในเชิงโครงสร้างขององค์กรด้วย เพราะการวัดผลแบบ KPI จะทำให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในระดับกลางๆ เนื่องจาก KPI จะทำให้ผลลัพธ์ของการวัดผลออกมาเป็นรูประฆังคว่ำ หมายความว่า คนที่ทำงานด้อยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนที่ทำงานได้ดีจะไปได้ไกลกว่าคนอื่นๆ และพนักงานส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในพื้นที่กลางๆ

  • ถ้ามองในภาพรวมขององค์กรแล้ว จะเหมือนการย่ำอยู่กับที่ เพราะทุกคนในองค์กรจะสนใจทำงานในพื้นที่ของตัวเอง แต่ที่น่าเศร้าคือ ไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ ไร้นวัตกรรม และแน่นอนต่อไปจะไม่สามารถแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลที่ต้องการความสร้างสรรค์ได้

ยกเลิก KPI แล้ว dtac จะใช้อะไรวัดผลคนในองค์กร?

เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในยุคดิจิทัล การที่ dtac ประกาศยกเลิก KPI จึงสมเหตุสมผล และได้หันมาใช้การวัดผลที่ “จุดแข็ง” ของพนักงานแต่ละคนแทน

นาฏฤดี เสนอทางออกในการวัดผลแบบใหม่ โดยอ้างอิงจากงานของ CliftonStrengths ที่ค้นพบว่า คนที่รู้จุดแข็งของตัวเองจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่ไม่รู้ถึง 3 เท่า และมากกว่านั้นคนที่รู้จุดแข็งของตัวเอง ถ้าได้เอามาใช้ในการทำงาน จะรู้สึกมีความผูกพันธ์กับงานมากกว่าคนที่ไม่รู้ถึง 6 เท่า

การวัดผลแบบใช้จุดแข็งของพนักงานแต่ละคนอาจเรียกได้ว่าเป็นการวัดผลแบบ OKR (Objectives and Key Results) โดยวิธีการวัดผลแบบใหม่นี้ dtac จะทำให้พนักงานรู้จุดแข็งของตัวเองว่าคืออะไร และวัดผลการทำงานจากจุดแข็งนั้นๆ รวมถึงจะมีการรับ feedback จากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานในระยะสั้นเป็นประจำ จะไม่ทำเป็นรายปีเหมือน KPI อย่างที่เคยเป็นมา

dtac เชื่อว่า วิธีการนี้จะทำให้พนักงานทำงานที่ตอบโจทย์เรื่อง Impact มากขึ้น เนื่องจากพนักงานจะได้ใช้จุดแข็งของตัวเองมาทำตามเป้าหมายของทีมและองค์กรได้อย่างเต็มศักยภาพ ยกตัวอย่างเช่น ทำงานสาย HR แต่มีความสามารถด้านกราฟิก ก็สามารถใช้ความสามารถนั้นมาทำให้งานที่ทำประจำอยู่ดีขึ้น และแน่นอนทักษะเสริมเหล่านี้จะมีผลต่อการวัดผลเงินเดือน โบนัส หรือตำแหน่งของพนักงานคนนั้นด้วย

ตารางเปรียบเทียบการวัดผลการทำงานด้วย KPI (ด้านซ้าย) และการวัดผลแบบใหม่ OKR (ด้านขวา)
ตารางเปรียบเทียบการวัดผลการทำงานด้วย KPI (ด้านซ้าย) และการวัดผลแบบใหม่ OKR (ด้านขวา)

นาฏฤดี ทิ้งท้ายไว้ว่าถ้าเรายังใช้ KPI วัดผลแบบเดิม เราจะไม่มี LINE MOBILE แบบวันนี้”

สรุป

dtac ยกเลิกการวัดผลแบบ KPI ในการทำงาน ถือเป็นองค์กรใหญ่ในไทยที่ออกมาทำเรื่องนี้ แต่ทั้งหมดนี้เข้าใจได้ เพราะ dtac ต้องการเดินตามเป้าหมายการเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งด้านดิจิทัลในประเทศไทยภายในปี 2020

ต้องดูต่อว่า ความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการวัดผลแบบใหม่ขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง dtac ที่มีพนักงานกว่า 4,700 คนจะเป็นอะไร และที่สำคัญ เราจะได้เห็นองค์กรในไทยขนาดใหญ่รายใดยกเลิกการวัดผล KPI แล้วนำระบบแบบใหม่มาใช้อีกบ้าง น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา