Travel Bubble โอกาสและทางรอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช่วงโควิดระบาด

โควิด-19 ระบาดจนทำให้หลายประเทศทั่วโลกปิดประเทศ งดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยใช้เหตุผลหลักๆ คือต้องการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศ ดังนั้น เมื่อปิดแหล่งรายได้หลัก ย่อมสร้างผลกระทบหลายภาคส่วน ในห้วงยามวิกฤต ผู้คนย่อมมองหาทางออก และ Travel Bubble คือทางเลือกสำคัญที่หลายประเทศพยายามหยิบมาใช้เพื่อทำให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้

BOURNEMOUTH, ENGLAND – MAY 25: Tourists enjoy the hot weather at Bournemouth beach on May 25, 2020 in Bournemouth, United Kingdom. The British government has started easing the lockdown it imposed two months ago to curb the spread of Covid-19, abandoning its ‘stay at home’ slogan in favour of a message to ‘be alert’, but UK countries have varied in their approaches to relaxing quarantine measures. (Photo by Finnbarr Webster/Getty Images)

Travel Bubble คือการพยายามหาทางออกให้เศรษฐกิจในหลายประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้บ้างในช่วงที่เกิดโรคระบาดและบรรเทาการล่มสลายของธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผูกยึดรายได้และผลกำไรจากนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นหลัก

การหยิบ Travel Bubble มาใช้ คือการที่รัฐบาลยินยอมให้พลเมืองสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้ โดยไม่ต้องถูกกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันก่อนเข้าประเทศ (ในอังกฤษ มีกฎกักกันโรคหลังโควิด-19 ระบาด กล่าวคือ เมื่อคนเดินทางเข้าประเทศ จะต้องถูกกักกันโรคก่อน เป็นระยะเวลา 14 วัน ภาคเอกชนต่างไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎได้) ส่วนใหญ่มักเป็นการจับคู่กันระหว่างประเทศที่เริ่มมีอัตราการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในระดับต่ำ บางแห่งจำกัดไว้เลยว่า ต้องไม่มีคนติดเชื้อยาวนาน 30 วัน เป็นต้น

ประเทศตัวอย่างสำหรับการนำ Travel Bubble มาใช้อันดับแรกๆ ของโลก คือการจับคู่กันระหว่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย นอกจากจะเป็นประเทศที่จัดการโควิด-19 ได้ดีทั้งคู่แล้ว ทั้งสองประเทศยังเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ขณะเดียวกัน ประชาชนของทั้งฝ่ายต่างก็ไปมาหาสู่กันเป็นจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีนด้วย

เรียกได้ว่าเป็นการจับคู่กันอย่างมีกลยุทธ์ เพราะเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ต้องกังวลมาก เป็นเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน และยังมีการเดินทางระหว่างกันจำนวนมาก ปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ไปเยือนออสเตรเลียมากถึง 1.2 ล้านคน ขณะที่ออสเตรเลียก็มาเยือนนิวซีแลนด์มากถึง 1.6 ล้านคน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดของออสเตรเลียอยู่ที่ 8,001 คน เสียชีวิต 104 คน รักษาหาย 7,090 คน ขณะที่นิวซีแลนด์ มีผู้ติดเชื้อรวม 1,530 คน เสียชีวิต 22 คน รักษาหาย 1,490 คน

ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ระบาด ในปี 2017 World Economic Forum ระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้มากเป็น 10% ของ GDP โลก และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้มากถึง 50% ภายในทศวรรษหน้า ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ยากแล้ว เมื่อคำนึงถึงโรคระบาดในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้ และอาจเป็นไปได้ว่าเราต้องใช้ชีวิตแบบที่มีไวรัสระบาดต่อไปจนกว่าจะผลิตวัคซีนได้ ซึ่งก็อาจจะภายใน 2 ปีข้างหน้านี้หรือมากกว่านั้น

แน่นอนว่า การเปิดรับชาวต่างชาติเข้าประเทศอาจสร้างความเสี่ยงในการนำเข้าโควิด-19 มาแพร่ระบาดในไทยบ้างไม่มากก็น้อย การเดินทางออกไปต่างประเทศก็เสี่ยงไม่แพ้กัน แต่การพยายามรักษาสมดุลของเศรษฐกิจให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศหลายๆ แห่ง และประคับประคองธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางไม่ให้ล่มสลายไป ก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลหลายประเทศต้องทบทวนนโยบายในการเปิด-ปิดประเทศ

ขณะนี้ หลายประเทศควมคุมโรคระบาดได้แล้ว ไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ตลอดจนประชาชนดูแลสุขอนามัยตนเอง ใส่หน้ากากป้องกันโรค หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่เสี่ยง เหล่านี้ก็ถือว่าป้องกันโรคระบาดได้ระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งการคัดกรองการเข้าประเทศของคนต่างชาติ การเลือกจับคู่ประเทศที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ในระดับเดียวกันหรือดีกว่าย่อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากขึ้น

การเปรียบเทียบฉากการเดินทางระหว่างประเทศ และการค่อยๆ ลดมาตรการ Lockdown โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
ภาพจาก UNWTO (อ่านเพิ่ม ที่นี่)

หลายๆ ครั้งเราจะเห็นหลายประเทศมีสภาพเศรษฐกิจเสียหายร่อแร่เพราะการที่ผู้นำประเทศตัดสินใจช้าเกินไป ไม่ทันเหตุการณ์ หรือไม่ตัดสินใจ จึงทำให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลงเรื่อยๆ การเห็นปัญหา เห็นทางออก แต่ไม่ตัดสินใจแก้ปัญหา ก็เป็นปัญหาไม่น้อย

ถึงที่สุดแล้ว ผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์ในหลายประเทศจึงตัดสินใจบนพื้นฐานที่คำนึงถึงผลกระทบมหาศาลจากการสูญเสียนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนสูงสุด 1.1 พันล้านคน ผู้คนจะตกงานโดยตรงมากสุด 120 ล้านตำแหน่ง แน่นอนว่า การตกงานของผู้คนจำนวนมากไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคมแต่จะยิ่งแพร่กระจายปัญหาสังคมเป็นลูกโซ่ตามมานับไม่ถ้วน Travel Bubble จึงถือเป็นทางเลือกที่เป็นทางหลักและเป็นช่องทางสำคัญที่จะประคับประคองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ให้แย่ลงกว่าเดิมได้

ที่มา – Asia Nikkei, WEF

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา