WHO แถลง ชีวิตแบบ New Normal คือชีวิตที่ต้องคิดว่า “จะอยู่ร่วมกับไวรัสอย่างไร” 

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลง สถานการณ์ตอนนี้ ยังไม่เข้าใกล้การสิ้นสุดของโรคระบาดเลย สิ่งที่ต้องทำสำหรับชีวิต new normal คือ การเรียนรู้ว่าจะอยู่กับโรคระบาดนี้ อยู่กับโควิด-19 นี้อย่างไร

Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่า การติดตามหากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ (tracing) เป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโควิด-19 ขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยผ่านไปถึง 6 เดือนแล้ว นับตั้งแต่มีการยืนยันการติดเชื้อครั้งแรกกับองค์การอนามัยโลก ไม่มีใครคาดคิดว่าเราจะต้องเผชิญกับความวุ่นวายจากโรคเช่นนี้

โรคระบาดนี้ทำให้เราได้เห็นทั้งส่วนที่ดีที่สุดและส่วนที่เลวร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติ ทั่วโลกพยายามปรับตัว มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการรับมือ สิ่งที่น่ากังวลคือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผิดๆ และการทำให้ประเด็นโรคระบาดกลายเป็นเรื่องการเมือง

คำถามที่สำคัญต่อจากนี้ของหลายประเทศทั่วโลกคือ เราจะใช้ชีวิตร่วมอยู่กับไวรัสอย่างไร นี่คือภาวะปกติใหม่ (New Normal) เราทุกคนอยากให้สถานการณ์เช่นนี้จบลงเสียที แต่ตอนนี้ ภาวะเช่นนี้ยังไม่เข้าใกล้กับคำว่าทุกอย่างสิ้นสุดลงเลย แม้หลายประเทศได้พยายามอย่างเต็มที่ในการรับมือกับโควิด-19 แล้ว หลายแห่งก้าวหน้า หลายแห่งยังล้มเหลวอยู่ ขณะเดียวกันโควิด-19 ก็ยังระบาดไม่หยุด

เราสูญเสียกันมามากแล้ว แต่เราจะไม่สิ้นหวัง

นี่คือเวลาที่เราจะต้องทำให้ชุมชนของเราแข็งแกร่ง หยุดการแพร่ระบาดโควิดให้ได้ รักษาชีวิตให้ได้ เร่งทำวิจัย โดย Tedros ก็ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ขึ้นมาและบอกว่าเดือนกุมภาพันธ์ เกาหลีใต้มีคนติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน จากนั้นทางเกาหลีใต้ก็ได้หารือกับ WHO และก็บอกว่าในที่สุดแล้ว เกาหลีใต้ก็สามารถหยุดการระบาดของโรคได้แม้ยังไม่มีวัคซีนก็ตาม

Tedros กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลพยามอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโรค การติดตามหากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ แยกคนติดเชื้อให้อยู่ลำพัง กักกันโรค เหมือนอย่างที่เกาหลีทำ ในที่สุดแล้วก็น่าจะทำให้โรคระบาดนี้ค่อยๆ บรรเทาลง ซึ่งก็ต้องรวมถึงมาตรการที่ผู้คนต้องดูแลสุขอนามัยของตัวเอง ใส่หน้ากาก และใช้มาตรการ Social Distancing ถึงที่สุดแล้ว เราก็ยังต้องรอการพัฒนาวัคซีนจนกว่าจะสำเร็จต่อไป

ผ่านมาแล้ว 6 เดือน โควิด-19 ระบาดจนทำให้ผู้คนติดเชื้อมากถึง 10,278,458 ล้านคน เสียชีวิตรวม 504,936 คน (ราว 4.91%) รักษาหาย 5,219,513 คน (ราว 50.78%)

จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลก ภาพจาก JHU

อ่านเพิ่ม

ที่มา – WHO, JHU

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา