ชำแหละสวัสดิการไทย v.s. ต่างประเทศ จ่ายภาษีกันหนักแค่ไหน ได้อะไรกลับมาบ้าง?

ส่องระบบสวัสดิการไทย v.s. ต่างประเทศ จ่ายภาษีกันแค่ไหน ให้อะไรกลับมาบ้าง คำตอบอาจช่วยคลี่คลายความสงสัยว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงอยาก #ย้ายประเทศ

ก่อนหน้านี้มีกระแส #ย้ายประเทศ เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกว่าประเทศไทยคือประเทศที่สามารถมอบโอกาสในการเติบโต ความมั่นคงในชีวิต และการเดินตามเส้นทางของตัวเองเพื่อทำตามความฝันได้มากเพียงพอ 

“สวัสดิการ” ที่เป็นเสมือนตาข่ายนิรภัยของชีวิตอย่างทั้งสวัสดิการการว่างงาน เงินบำนาญ ยังครอบคลุมคนแค่บางกลุ่ม เช่น ข้าราชการ พนักงานในระบบประกันสังคม

และถึงสวัสดิการบางชนิดจะครอบคลุมแต่ก็ยังมีปัญหาในแง่คุณภาพ เช่น โครงการเรียบฟรีที่ครอบคลุมนักเรียนในโรงเรียนรัฐทุกคน แต่ก็นับเป็นจำนวนไม่มาก เช่น ครอบคลุมค่าเล่าเรียนแค่ 3,800 บาท สำหรับชั้น ม.ปลาย 

คำถามก็คือแล้วสวัสดิการเท่านี้มอบเงื่อนไขในการดำรงชีวิตให้คนๆ หนึ่งมากแค่ไหน?

ลองมาหาคำตอบด้วยการเปรียบเทียบกันว่าในแต่ละปี แต่ละคนประเทศต้องจ่ายภาษีกันมากแค่ไหน สวัสดิการที่ได้กลับมาแตกต่างกันมากแค่ไหนไปพร้อมๆ กัน

 

คนไทยไม่ได้จ่ายภาษีกันน้อยๆ

หลายคนอาจจะบอกว่า ถ้าอยากได้สวัสดิการที่ดีต้องจ่ายภาษีให้มาก ซึ่งนี่คือเรื่องจริงเพราะสวัสดิการก็คือการบริการของภาครัฐ และการให้บริการก็ต้องใช้งบประมาณ แต่ถ้าเราลองมากางดูอัตราภาษีเงินได้ จะพบว่าเราเสียภาษีกันไม่น้อยเลยเทียบกับต่างชาติ

จากข้อมูลของ KPMG บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลกแจกแจงอัตราภาษีเงินได้ของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ดังนี้

  • ฟินแลนด์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด 56.95%
  • เดนมาร์ก เสียภาษีเงินได้สูงสุด 56.5%
  • ญี่ปุ่น เสียภาษีเงินได้สูงสุด 55.97%
  • ไทย เสียภาษีเงินได้สูงสุด 35%
  • นิวซีแลนด์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด 33%
  • สิงคโปร์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด 22%

อัตราภาษีของไทยอยู่ในช่วงระหว่าง 0%-35% โดยผู้ที่ต้องเสียตั้งแต่ 5%-35% คือผู้ที่มีรายได้ 150,000 บาท/ปี ไปจนถึงผู้ที่มีรายได้ 5,000,000 บาท/ปี ขึ้นไป

จากการวิเคราะห์ของ itax.in.th ในปี 2019 สัดส่วนผู้เสียภาษีในไทยอยู่ที่ 16.8% หรือประมาณ 11 ล้านคน เก็บภาษีได้ 3 แสนล้านบาท เท่ากับว่าผู้ที่ต้องจ่ายภาษีจะต้องจ่ายกันอยู่ที่ 29,002.82 บาท/คน/ปี

เอาเข้าจริง เราเสียภาษีกันตามมาตรฐาน หากจะพูดให้เห็นภาพ ผู้ที่มีรายได้/ปี 595,000 บาท ในไทยเสียภาษีเงินได้ที่ 15% แต่ถ้าอยู่ในญี่ปุ่นจะเสีย 20% หรือหากมีรายได้เกิน 1,000,000 ก็จะเสียภาษีในไทยและญี่ปุ่นที่ 25% และ 30% ตามลำดับ เห็นได้ว่ายังอยู่ในระดับไม่ห่างกันมาก แต่คุณภาพของสวัสดิการที่ได้กลับมาอาจยังเป็นคำถาม

สวัสดิการไทยอาจยังไม่ครอบคลุมและมากเพียงพอ

ประเด็นก็คือสวัสดิการของไทยตั้งแต่เกิดจนโตยังไม่ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม กลุ่มคนที่ได้สวัสดิการที่ดีคือกลุ่มข้าราชการและพนักงานในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการเท่านั้น ส่วนแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมกลับถูกละเลย และแม้สวัสดิการบางอย่างอาจครอบคลุมแต่ในแง่คุณภาพก็อาจไม่เพียงพอ

bangkok vaccination กรุงเทพ วัคซีน vaccine

ยกตัวอย่างสวัสดิการของไทย เช่น

  • สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร: ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี ได้เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท/เดือน จนบุตรอายุ 6 ปี และผู้ประกันตนม.33 ได้รับเงินเลี้ยงดูบุตร 800 บาท/เดือน จนบุตรอายุ 6 ปี 
  • สวัสดิการการศึกษา: ค่าเล่าเรียน 1,100-11,900 บาท/คน/ปี (ม.ปลาย ได้รับเงินสนับสนุน 3,800 บาท)
  • สวัสดิการด้านสาธารณสุข: โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
  • สวัสดิการแรงงาน: เงินทดแทนการว่างงาน 30%-50% ของเงินเดือน (แต่มีเพดานฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท) เป็นเวลา 90-180 วัน ครอบคลุมเฉพาะผู้ประกันตนม.33
  • สวัสดิการวัยเกษียณ: เงินบำนาญ 20% ของเงินเดือน (แต่มีเพดานฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 สำหรับผู้ประกันตนม.33 และ 4,800 สำหรับผู้ประกันตนม.39) หากถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี บวกให้เพิ่มอีกปีละ 1.5% 

จะเห็นได้ว่าสวัสดิการต่างๆ ยังครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีประมาณ 16 ล้านคน เป็นหลัก และที่สำคัญถ้าเรามองไปถึงประสิทธิภาพของระบบจะพบว่าระบบสวัสดิการสังคมของไทยแย่ไปกว่านั้น

เช่น ในกรณีของการจ่ายเงินประกันสังคมให้กับแรงงานในระบบล่าช้าในช่วงโควิด หรือในกรณีที่โรงพยาบาลแต่ละที่มีความเหลื่อมล้ำสูงทำให้แม้ทุกคนจะรับบริการในราคาถูก แต่กลับได้บริการที่มีคุณภาพแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

สวัสดิการไทย ดี-แย่ แค่ไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

เราจะยิ่งเห็นคุณภาพของระบบสวัสดิการของไทยชัดเจนเมื่อลองมองเทียบกับสวัสดิการจากประเทศอื่นๆ 

ภาพจาก pixabay.com

สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรและการศึกษาในหลายๆ ประเทศจะครอบคลุมกลุ่มคนมากกว่า ครอบคลุมอายุเด็กมากกว่า และให้การสนับสนุนที่เหมาะสมเพียงพอในการพัฒนามนุษย์ในฐานะทรัพยากรอันมีค่าของประเทศมากกว่า

  • ฟินแลนด์ มอบค่าเลี้ยงดูบุตร 3,700 บาท/คน/เดือน จนบุตรอายุ 17 ปี และมอบการศึกษาฟรี ถึงอายุ 17 ปี
  • เดนมาร์ก มอบค่าเลี้ยงดูบุตร 5,000 บาท/คน/เดือน จนบุตรอายุ 17 ปี และมอบการศึกษาฟรี ถึงอายุ 16 ปี 
  • สิงคโปร์ มอบค่าเลี้ยงดูบุตร 190,000-240,000 บาท/คน ผู้ปกครองสามารถบัญชีเงินออมบุตรโดยรัฐมอบเงินให้ก้อนแรกเพิ่มเติม 74,000 บาท และสมทบเงินเพิ่มเท่าที่ผู้ปกครองฝาก (สูงสุดไม่เกิน 370,000 บาท)

ระบบสาธารณสุข ถือเป็นสวัสดิการหนึ่งที่ไทยพอจะเทียบกับประเทศอื่นได้อยู่บ้าง อย่างน้อยก็ในแง่หลักการ เพราะเป็นระบบที่ครอบคลุมประชากรอย่างกว้าง

แต่ประเด็นก็คือถึงแม้เราสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ “ฟรี” จริงๆ แต่ความเหลื่อมล้ำทำให้โรงพยาบาลโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีคุณภาพไม่เท่ากัน ที่สำคัญไม่ใช่แค่ต่างกันธรรมดา แต่ยังต่างกันราวฟ้ากับเหว

สวัสดิการแรงงาน คือสิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าระบบดูแลครอบคลุมเพียงแค่แรงงานในระบบประกันสังคม (ผู้ประกันตนตาม ม.33 39 40) จำนวนเพียง 16 ล้านคน เสียเป็นส่วนใหญ่ และละเลยความเป็นอยู่ของคนกลุ่มที่เหลือในสังคม ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่มักจะดูแลครอบคลุมแบบ “ถ้วนหน้า” และให้ในจำนวนที่สามารถเอาตัวรอดในช่วงการว่างงานได้

  • ญี่ปุ่น สนับสนุนเงินว่างงาน 50%-80% ของเงินเดือน เป็นเวลา 90-360 วัน แล้วแต่เงื่อนไข
  • นิวซีแลนด์ สนับสนุนเงินเยียวยาตกงาน 4,250-6,000 บาท/สัปดาห์ ไม่รวมเงินสนับสนุนด้านที่พักอาศัย

เห็นได้ว่าสวัสดิการไม่ใช่แค่การให้บริการแบบเปล่าๆ ของรัฐที่ไม่ได้อะไรตอบแทน แต่ถ้าลองไตร่ตรองดูดีๆ ว่าสวัสดิการให้อะไรกับสังคมได้บ้างเราจะพบว่านี่คือระบบ support ทรัพยากรมนุษย์ของภาครัฐที่จะพัฒนามนุษย์คนหนึ่งๆ ให้เติบโต มีชีวิตมั่นคงไม่ต้องพะวงความไม่แน่นอนอย่าง การมีบุตร การตกงาน หรือการเจ็บป่วย

เมื่อไม่มีปัจจัยเหนี่ยวรั้งก็ยิ่งส่งเสริมให้มนุษย์คนหนึ่งๆ กล้าได้กล้าเสีย กล้าเรียนรู้ กล้าลงทุน กล้าทำตามความฝัน ส่วนรัฐก็จะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพกลับมาพัฒนาประเทศต่อไปเป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบ และเรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยในรัฐที่หลับหูหลับตาทิ้งคนจำนวนมากเอาไว้ข้างหลัง

ที่มา – KPMG, Numbeo, Worlddata 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา