สหรัฐอเมริกาเตรียมแบนการทำสัญญาจ้างงาน ที่ห้ามไม่ให้พนักงานไปทำบริษัทคู่แข่ง ฝั่งธุรกิจขู่ฟ้อง

คณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC) โหวตเห็นชอบให้มีการแบนสัญญาการจ้างที่ห้ามไม่ให้ลูกจ้างไปทำงานบริษัทคู่แข่งหรือก่อตั้งธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับนายจ้าง (non-compete)

FTC ประมาณการณ์ว่า มีพนักงานราว 30 ล้านคนหรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของพนักงานทั้งหมดตั้งแต่ระดับที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำไปจนถึงระดับซีอีโอที่ต้องทำตามเงื่อนไขของสัญญาในลักษณะนี้ นโยบายการแบนอาจช่วยทำให้ค่าแรงโดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 3 แสนล้านเหรียญหรือราว 11 ล้านล้านบาทต่อปีจากการที่พนักงานเปลี่ยนงานได้อย่างอิสระ

ก่อนที่จะมีหารลงความเห็น มีผู้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ต่อ FTC กว่า 26,000 ความเห็น บางคนมองว่าสัญญาจ้างงานในลักษณะนี้ทำให้พนักงานต้องติดอยู่กับสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี อย่างเช่น มีผู้ที่บริษัทของตนเองควบรวมกับองค์กรที่มีแนวคิดทางด้านศาสนาขัดกับความเชื่อส่วนตัว แต่ก็ไม่สามารถย้ายที่ทำงานได้เพราะติดสัญญาจ้างที่ห้ามไม่ให้ไปทำงานในบริษัทคู่แข่งที่อาจจะมีแนวคิดทางศาสนาตรงกัน

Lina Khan ประธาน FTC มองว่า ความเห็นเหล่านี้สะท้อนว่า การที่พนักงานไม่มีอิสระทางการเงินกระทบต่ออิสระในด้านอื่น ๆ ไปด้วย

การแบนที่จะมีผลปลายปีนี้มีข้อยกเว้นให้กับสัญญาระหว่างบริษัทกับผู้บริหารระดับอาวุโสที่ได้ตกลงทำสัญญากันไปแล้ว จากเหตุผลที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่สัญญาจะเกิดจากการเจรจาต่อรองกัน ทั้งนี้ บริษัทไม่ควรจะใช้สัญญาลักษณะนี้ฉบับอื่น ๆ ที่มีอยู่

คะแนนเสียงจากการโหวตอยู่ที่ 3:2 โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนให้เหตุผลว่า FTC กำลังใช้อำนาจเกินขอบเขต มีการคาดการณ์ว่าการแบนจะถูกนำขึ้นศาลและต้องล้มเลิกนโยบายไปในที่สุด นอกจากนี้ ภายหลังจากการออกเสียงไม่นาน สมาคมการค้าของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า จะฟ้องร้อง FTC เพื่อขัดขวางกฎนี้เพราะมองว่าการแบนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ผิดกฎหมาย และเป็นการใช้อำนาจมากเกินไป

สมาคมการค้าของสหรัฐอเมริกาได้พยายามต่อต้านการแบนสัญญาจ้างที่ห้ามพนักงานไม่ให้ทำงานในบริษัทคู่แข่งมาเป็นปีแล้ว โดยอ้างว่าสัญญาลักษณะนี้สำคัญต่อบริษัทในการเก็บความลับทางธุรกิจและรักษาพนักงานไว้ รวมทั้งช่วยสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างลงทุนกับการพัฒนาบุคลากร

ที่มา – NPR

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา