เหตุผลที่คนรุ่นใหม่มีชีวิตที่ย่ำแย่กว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ มันก็แค่เศรษฐกิจไม่ดี? I BI Opinion

โลกหมุนไปข้างหน้าจริงหรือ นี่คือหนึ่งในคำถามของคนรุ่นใหม่จากหลายพื้นที่ทั่วโลก 

เทคโนโลยีก้าวหน้า การแพทย์ดีขึ้น แต่ทำไมภาพรวมชีวิตไม่ได้ดีขึ้นเลย หรือจะเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี

ผลวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนรุ่น 40s (ปัจจุบันอายุ 80 ปี) จำนวนกว่า 80% สามารถหาเงินได้มากกว่าพ่อแม่ของตัวเองในช่วงอายุที่ไล่เลี่ยกัน ส่วนคนรุ่น 60s (ปัจจุบันอายุ 60 ปี) มีเพียง 50% เท่านั้นที่สามารถหาเงินได้มากกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ 

ในปัจจุบัน ถ้าถามคนรุ่นใหม่ดูว่า มีกี่เปอร์เซ็นต์กันที่มีรายได้มากกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของตัวเอง

คำตอบที่ได้ดูเหมือนจะต่ำเตี้ยลงไปมาก

Group of people wearing protective face masks on the street during the global coronavirus epidemic.

สำนักข่าวระดับโลก Financial Times ทำแบบสอบถามช่วงต้นปี 2021 สัมภาษณ์คนทั่วโลกจำนวน 1,700 คน อายุ 16-35 ปี พบว่า คนยุคนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

คน 60% ทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถาม มองว่า แม้พวกเขาจะมีงานทำ แต่งานที่มีก็มั่นคงน้อยกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

ในประเทศฮังการี คนรุ่นใหม่กว่า 75% บอกว่า เขาจะมีชีวิตหลังเกษียณที่ย่ำแย่กว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

“ฉันทำงานที่มีความเป็นมืออาชีพ (professional) มากกว่าพ่อแม่ของฉัน แต่ถ้าถามว่า ลูกของฉันจะมีอนาคตที่ดีกว่าฉันไหม … ก็ไม่เท่าไหร่” คนทำงานด้านกฎหมายรายหนึ่งในลอนดอนให้สัมภาษณ์

คนจีนวัยประมาณ 20 ปี ทำงานที่เซี่ยงไฮ้ บอกว่า แม้เขาจะมีชีวิตในจีนยุคที่เศรษฐกิจดีกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่เขาต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ รับเอาวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 เพื่อสร้างโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งก็มาพร้อมกับค่าที่พัก ค่าที่อยู่อาศัย และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมาก

ใช่, คำตอบใหญ่คือ “เศรษฐกิจ”

แต่คำว่าเศรษฐกิจในที่นี้ไม่ได้มีแค่การเติบโต เพราะมันพ่วงมาด้วยการพัฒนาที่หลงลืมหลายสิ่งอย่างระหว่างทาง ที่หนักที่สุดคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่พุ่งขึ้นมาพร้อมการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากนั้นก็ตามมาด้วยการสะสมความมั่งคั่งของคนรุ่นก่อน ซึ่งไม่ได้กระจายสู่ทั้งสังคมอย่างเท่าเทียม

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เป็นตัวอย่างอันดี คืองานวิจัยที่ศึกษาในสหราชอาณาจักรโดย Institute for Fiscal Studies (IFS) ตีพิมพ์เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2021 ศึกษารายได้ตลอดชีพของคนที่มาจากครอบครัวที่รวยสุด 5% และจนที่สุด 5% ของสังคม พบว่า ช่องว่างรายได้ของที่เกิดในช่วงปี 60s แคบกว่าคนที่เกิดในช่วงปี 80s อยู่เป็นเท่าตัว

พูดเป็นภาษาคนคือ งานวิจัยพบว่า กลุ่มผู้สูงวัยในยุคนี้ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ก่อร่างสร้างตัว และหาเงินทั้งชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มวัยกลางคนในยุคนี้ (ช่วงอายุประมาณ 40 ปี) ไม่ว่าจะเป็นคนรวยที่สุดหรือจนที่สุดในสังคมก็ตาม

งานวิจัยนี้สอดคล้องกับอีกหนึ่งผลลัพธ์จากแบบสำรวจของ FT ที่พบว่า คนรุ่นใหม่ยุคนี้มองว่า การมีโชคดี (luck) สำคัญไม่แพ้ความสามารถ (merit) หรือพูดอีกแบบคือ จะเก่งแค่ไหน จะทำงานหนักแค่ไหน ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิตอีกต่อไป เพราะปัจจัยสำคัญคือโชคในชีวิต เป็นต้นว่า ต้นทุนในชีวิตที่สูงกว่าก็ย่อมประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า

ย้ายประเทศกันเถอะ
ย้ายประเทศกันเถอะ

ปรากฏการณ์ #ย้ายประเทศกันเถอะ

กระแสชวนกันย้ายประเทศที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ไทยช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2021 ไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการสะสมความบีบคั้นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และรวมถึงปัญหาระดับโลกร่วมสมัยอย่าง “โรคระบาด” ที่รัฐไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เพียง 4 วันมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มเกือบ 7 แสนคน, นี่คือปรากฏการณ์

อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องการย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกยุคโลกาภิวัตน์การเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะเป็นเรื่องปกติสามัญ ดาษดื่น

ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่โลกกว้างกว่าเดิม เห็นและสัมผัสว่าชีวิตของตัวเองย่ำแย่กว่าคนรุ่นก่อน แถมยังมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้า ภาพของประเทศไทยไม่ต่างจากพายเรือหมุนวนในอ่าง อยู่กับที่ ไม่ไปไหน ปรากฏการณ์ย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ถ้ามองจากมุมนี้

อย่างน้อยที่สุด ถ้าการเมืองไม่ดี แต่เศรษฐกิจดี คงไม่เกิดปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่จะย้ายหนีออกจากประเทศกันมากมายขนาดนี้

แกนกลางหลักของเรื่องการย้ายประเทศมี 2 เรื่องสำคัญคือ หนึ่งในแง่ปัจเจก มันคือความพยายามในการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า (แต่ในความเป็นจริง จะดีหรือแย่กว่าเดิม เป็นอีกเรื่อง) สองในแง่รัฐ/ประเทศ มันคือการดึงดูดแรงงานมีทักษะเพื่อเข้าไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ

โลกนี้มีคน 2 แบบที่ไปไหนใครๆ ก็ต้อนรับ หนึ่งคือคนเก่ง สองคือคนรวย

หลายประเทศทั่วโลกในยุคนี้กำลังดึงดูดคนเก่งๆ เข้าไปทำงาน ที่มากกว่านั้นคือชวนไปอยู่ยาว เอาครอบครัวไปอยู่ด้วย ว่าง่ายๆ คือชวนไปเป็นพลเมือง ชวนไปเป็นแรงงานสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศ

Sad businessman sitting head in hands on the the modern creative Office, dramatic concept

แต่ทีนี้ ถ้าพูดถึงสังคมไทย มองข้ามช็อตไปจากปรากฏการณ์ย้ายประเทศ มองข้ามช็อตไปจากความบีบคั้นในด้านต่างๆ ความกดดันจากปัญหาการเมือง และการจัดการโรคระบาดในปัจจุบัน 

คำถามใหญ่คือ เรามีอุตสาหกรรมที่เตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคตเพียงพอแล้วหรือยัง? รูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ดีพอจะรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและมีทักษะสูง

ขณะนี้ ประเทศไทยไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ยังไม่มีเศรษฐกิจแห่งอนาคตด้วย เหมือนอย่างที่ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทยพูดเอาไว้ว่า บุญเก่าหมด ไม่รู้ว่าเก่งอะไร ไม่น่าลงทุนตรงไหน ‘เศรษฐกิจไทย’ ในเวลานี้

อ่านแบบสำรวจ-สอบถามของ Financial Times ได้ที่ What problems are young people facing? We asked, you answered

  • มีคนจากหลากหลายประเทศทั่วโลกร่วมตอบแบบสอบถาม เช่น สหราชอาณาจักร, สหรัฐเมริกา, นอร์เวย์, ออสเตรเลีย, บราซิล, อียิปต์, โปรตุเกส, เลบานอน, อเมริกาใต้, มาเลเซีย, กัมพูชา, อินเดีย และจีน
  • ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทำงานอยู่ในหลากหลายวงการ เช่น กฎหมาย, ธนาคาร, สื่อมวลชน, การศึกษา, วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา