ไทยงามหน้า! 60 ปีที่ผ่านมา ปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก มากกว่าเวียดนาม

ใครไม่ชนะ ไทยชนะ! ปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ 1 อาเซียน ด้านนายกคุย ปี 2019 ลดก๊าซเรือนกระจกได้เกินเป้าเท่าตัว

หลายๆ เรื่อง ไทยไม่ชนะเวียดนาม แต่เรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไทยชนะแล้ว เพราะล่าสุดมีการวิเคราะห์ออกมาว่า ไทยคือประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลังประเทศผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบีย

ตั้งแต่ปี 1959 ถึง 2019 หรือช่วงเวลาประมาณ 60 ปี ประเทศไทยปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 7.43% ตามหลังซาอุดีอาระเบียที่ปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นปีละ 8.65% ส่วนเวียดนามอยู่อันดับ 6 ปล่อย CO2 ปีละ 5.95% จากการวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อย CO2 ของ 92 ประเทศ ย้อนหลัง 60 ปี โดย Utility Bidder

สาเหตุที่ทำให้ไทยอยู่ในลำดับต้นๆ ของการปล่อย CO2 ก็เนื่องมาจากการเร่งพัฒนาประเทศเพื่อไล่หลังชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ ตั้งแต่ปี 1959 ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ประชากรเพิ่มขึ้น มีการใช้ยานพาหนะเพิ่มขึ้น และมีการสร้างโรงงานจำนวนมากในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา

Data from utilitybidder.co.uk, visualised by Brandinside

จากการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่า

  • ในปี 1959 ไทยปล่อย CO2 ปริมาณ 3.7 MtCO2 
  • ในปี 2019 ไทยปล่อย CO2 ปริมาณ 289.5 MtCO2 (ใน 60 ปี เพิ่มปีละ 7.43%)
  • ในปี 2032 คาดว่าไทยจะปล่อย CO2 ปริมาณ 568.9 MtCO2

นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนก็หลุดมาอยู่หัวตารางไม่น้อย เช่น มาเลเซีย (อันดับ 3) เวียดนาม (อันดับ 6) และอินโดนีเซีย (อันดับ 12) ด้วยเหตุผลด้านการพัฒนาเช่นเดียวกัน

ปล่อย CO2 เยอะไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจดี

ถ้าลองเทียบไทยกับ เอสโตเนีย ที่ในปี 1959 เคยปล่อย CO2 มากกว่าไทย (11 MtCO2) แต่ในปี 2019 ปล่อย CO2 น้อยกว่าไทย (14.7 MtCO2) ปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นเพียง 0.47% ต่อปีในช่วง 60 ปี ก็จะพบว่าแม้จะปล่อย CO2 น้อยกว่าแต่ยังมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงกว่า 

ดังนั้นการปล่อย CO2 สูงจึงไม่ใช่ข้อบ่งบอกว่าเศรษฐกิจจะพัฒนาไปได้มากกว่า เพราะแม้ไทยสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนของไทยจะคิดเป็น 16 เท่าของเอสโตเนีย แต่รายได้ต่อหัวของเอสโตเนียกลับคิดเป็น 3 เท่าของไทย 

โดยในปี 2020 รายได้ต่อหัว (GDP per capita) ของไทยอยู่ที่ 7,000 ดอลลาร์ ส่วนเอสโตเนียเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 23,000 ดอลลาร์ แม้ในปี 1995 รายได้ต่อหัวของทั้งสองประเทศจะยังใกล้เคียงกันก็ตาม 

นายกคุย ไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้เกินเป้าเท่าตัว

แม้ไทยจะปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2021 ไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่สหราชอาณาจักร โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขึ้นแถลงเป็นภาษาไทยในการประชุมว่า

ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งได้ร้อยละ 17 ในปี 2019 ซึ่งสูงกว่า 2 เท่า จากเป้าที่ตั้งไว้ในกรอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ร้อยละ 7 ภายในปี 2020

gunkul

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังแสดงเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ซึ่งจะยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) กับ UNFCC ที่จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้ภายใน 2050

ที่มา – Utility Bidder, World Bank Data

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน