นายกคุยไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเป้า 2 เท่า แต่ดองกฎหมายแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมระดับผู้นำเรื่องสภาพอากาศ COP 26 คุยว่าไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเป้าถึง 2 เท่า ก่อนถึงกำหนดเวลา 1 ปี แต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังไม่เคยแก้ หลายเมืองค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน WHO และไทยติดอันดับโลกเรื่องฝุ่นควันอยู่เนืองๆ

PM 2.5

พลเอกประยุทธ์คุยไทยลดก๊าซเรือนกระจกเกินเป้า ให้ความสำคัญกับสภาพอากาศ

นายกรัฐมนตรีขึ้นแถลงเป็นภาษาไทยในการประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่สหราชอาณาจักร ระบุว่าไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งได้ร้อยละ 17 ในปี 2019 ซึ่งสูงกว่า 2 เท่า จากเป้าที่ตั้งไว้ในกรอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ร้อยละ 7 ภายในปี 2020

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังแสดงเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ซึ่งจะยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) กับ UNFCC ที่จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้ภายใน 2050

PM 2.5
ภาพจาก Shutterstock

แต่การแก้ปัญหา PM 2.5 แทบเป็นศูนย์

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจจะช่วยภาพรวมของประเทศและโลกในระยะกลางหรือระยะยาว แต่ระยะสั้น ปัญหาที่คนไทยเผชิญอยู่เป็นประจำคือฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐเลย

ตัวเลขปริมาณฝุ่น PM 2.5 จาก IQAir ชี้ว่าค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของกรุงเทพเมื่อปี 2020 อยู่ที่ 20.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดใหญ่ที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 21-29 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร ซึ่งแม้จะเป็นค่ากลางๆ (สีเหลือง) แต่ก็สูงกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดเอาไว้ว่าไม่ควร 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร

ในแง่การแก้ปัญหา แม้รัฐบาลจะกำหนดให้การแก้ปัญหาฝุ่นควันเป็นวาระแห่งชาติ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีมาตรการการแก้ปัญหาใดๆ ที่ออกมาเป็นรูปธรรม ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ-อากาศสะอาด 4 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหานี้ ก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากพลเอกประยุทธ์ เพื่อผลักดันเข้าสู่สภา

เช่นเดียวกับร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อสารมลพิษจากแหล่งต่างๆ ที่ UN กำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมต้องประกาศใช้ ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และรัฐบาลก็หลีกเลี่ยงที่จะผลักดันมาตลอด

อ้างอิง – ThaiGov, IQAir, iLaw, The Active

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา