รู้หรือไม่? 16 ปีที่แล้ว “การบินไทย” เคยเป็นสายการบินที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลก ก่อนจะตกอันดับมาอยู่ที่ 40 ในปีนี้

ปี 2023 Skytrax เว็บไซต์เจ้าประจำผู้จัดอันดับสายการบินที่ดีที่สุดในโลกได้จัดให้การบินไทยเป็นสายการบินที่ดีที่สุดอันดับที่ 40 จากสายการบินทั่วโลก แต่เมื่อ 16 ปีที่แล้ว การบินไทยเคยทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นสายการบินอันดับ 2 ของโลกมาแล้ว

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2007 เว็บไซต์ Skytrax เคยจัดอันดับให้การบินไทยเป็นสายการบินที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลังแค่ Singapore Airlines ของประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ขึ้นมาจากปี 2006 ที่อยู่ในอันดับที่ 4 มาก่อน แม้ว่าในปี 2008 การบินไทยจะหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 4 เหมือนเดิมแต่ก็เรียกได้ว่าในช่วงหลายปีนั้น การบินไทยเป็นสายการบินที่ดีที่สุดติด Top 10 ของโลก

สายการบิน 10 อันดับที่ดีที่สุดในโลกปี 2007ดังนี้

#1 Singapore Airlines
#2 Thai Airways
#3 Cathay Pacific
#4 Qatar Airways
#5 Qantas
#6 Malaysia Airlines
#7 Air New Zealand
#8 China Airlines
#9 Emirates
#10 British Airways

นอกจากการจัดอันดับสายการบินที่ดีที่สุดในโลกหรือ Best Airlines แล้ว Skytrax ยังได้จัดอันดับสายการบินแยกเป็นด้านต่าง ๆ ด้วย สิ่งที่โดดเด่นของการบินไทยอยู่ที่การบริการชั้น First Class ได้รับการจัดอันดับเป็น Best First Class อันดับที่ 5 ของโลก โดยรางวัลนี้วัดจากการให้บริการในห้องโดยสารชัั้นหนึ่ง ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการของพนักงาน ขณะที่ในปีนั้น Qatar Airways อยู่ในอันดับที่ 1 จากการพัฒนาเครื่องอำนวยความสะดวกแบบพรีเมียมในเมืองโดฮา การ์ตาร์ ซึ่งเป็นฮับของสายการบิน

การบินไทยยังถูกจัดอันดับให้ห้องรับรองผู้โดยสาร ถือเป็น  Best First Class Lounge เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการบินไทยโดดเด่นเรื่องความพรีเมียมและการบริการเพราะถูกจัดให้เป็นอันดับ 1 ในเรื่องห้องรับรอง Royal First Class Lounge ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรายได้ของการบินไทยเองก็เฟื่องฟูไปในทิศทางเดียวกับการจัดอันดับด้วย

เรื่องรายได้

ในปีงบประมาณ 2550 การบินไทยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,342.07 ล้านบาท เมื่อลองเทียบกับปี 2562 และ 2563 การบินไทยเจอวิกฤติเรื่องรายได้ สายการบินขาดทุนอยู่ที่ 12,042.41 ล้านบาท (1.2 หมื่นล้านบาท) และในปี 2563 ที่เริ่มเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในช่วงแรก ขาดทุนอยู่ที่ 141,170.74 ล้านบาท (1.4 แสนล้านบาท)

การบินไทยเริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่จะขาดทุนต่อเนื่องกัน 3 ปีในช่วง 2556-2558 

สาเหตุที่การบินไทยหลุดจาก Top 10 ของโลกสู่การเป็นสายการบินที่เกือบจะไปไม่รอดมีอยู่หลายข้อไม่ว่าจะเป็นต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าเสื่อมของเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้รอการขาย การขาดทุนของสายการบิน Thai Smile ที่ฉุดผลประกอบการของการบินไทยไปด้วย

การติดหล่มทางการเมือง ส่งผลให้รายได้หดหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Baker Tilly บริษัทที่ปรึกษาด้านภาษีและการเงินได้วิเคราะห์ความล้มเหลวของการบินไทยไว้ได้น่าสนใจว่า การเมืองมีส่วนสำคัญที่ทำให้การบินไทยมีผลประกอบการต่ำลง หลังจากเกิดวิกฤติการเมืองในปี 2556-2557 ที่กลุ่มกปปปส. ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ในขณะนั้นประเทศไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจน้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย) โดยเติบโตเพียง 1% ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบที่เห็นได้จากเศรษฐกิจที่หดตัวในครึ่งปีแรกของปี 2557 ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับที่มีการรัฐประหารโดยคณะรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปัจจัยที่พาไปสู่ความล้มเหลวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การบริการภายในสายการบินเอง ในปี 2558 การบินไทยมีสมาชิกบอร์ดบริหารมากถึง 15 คน ขณะที่สายการบินคู่แข่งมีอยู่ 8-10 คนเท่านั้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานของบอร์ดบริหารและกระบวนการการตัดสินใจ 

สมาชิกในทีมบริหารยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์น้อยหรือไม่ก็ขาดประสบการณ์การบริหารสายการบิน การสรรหาบุคลากรและการเลื่อนตำแหน่งก็ยังอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่าผลงาน ปกติประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่สำหรับการบินไทยนั้น นับตั้งแต่จดทะเบียนในปี 2535 จนถึงปี 2564 การบินไทยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทมาแล้ว 19 คน เฉลี่ยแล้วแต่ละคนดำรงตำแหน่งเพียง 1.2 ปีเท่านั้น สะท้อนการบริหารที่ขาดความต่อเนื่อง

การที่การบินไทยเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจยิ่งทำให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เข้มงวดทั้งจากฝั่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องอาศัยคนกลางในการจัดซื้อจัดจ้างทำให้เกิดช่องโหว่เกิดการทุจริตได้

Baker Tilly ยังวิเคราะห์ว่า ภาพลักษณ์ของการบินไทยในหมู่คนไทยเองก็ไม่ค่อยจะดีนัก ความต้องการที่จะใช้บริการสายการบินจากคนไทยก็ไม่ได้มากเท่ากับที่รัฐบาลคาดไว้

นอกจากการเมืองและการบริหาร เส้นทางที่ขรุขระของการบินไทยยังมาจากส่วนแบ่งการตลาดที่ถดถอยลงจากการแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างสายการบิน Low Cost ทั้งจากสายการบินของฝั่งตะวันออกกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของบริษัทร่วมทุนที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินนานาชาติในตลาดการบิน ทำให้การบินไทยมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก 36.7% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 31.6% ในปี 2557 บวกกับต้นทุนที่สูงทั้งจากการมีเครื่องบินและพนักงานมากเกินไป ประกอบกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ

แม้ในปัจจุบัน การบินไทยจะลงมาอยู่ในอันดับที่ 40 แต่ก็ยังถูกจัดอันดับให้เป็นสายการบินอันดับที่ 8 ที่มีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก (Best Airline Cabin Crew) รวมทั้งเป็นสายการบินอันดับ 9 ที่มีพนักงานให้บริการดีที่สุดของเอเชียด้วย (Best Airline Staff in Asia) 

พูดได้ว่าการบินไทยเคยผ่านช่วงที่รุ่งเรืองสูงที่สุดทั้งด้านผลประกอบการและการจัดอันดับกับสายการบินทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Best First Class และ Best First Class Lounge ใน Top 10 ของโลก ไปจนถึงรางวัลสูงสุดอย่างการเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 แม้ในปัจจุบันจะไม่ได้เป็นสายการบิน Top 10 ของโลกแล้ว แต่ในด้านดีที่ยังทำได้สม่ำเสมอคือการบริการของพนักงาน การบินไทยก็ยังคงทำได้ดี เห็นได้จากรางวัล Best Airline Cabin Crew และ Best Airline Staff in Asia ที่เพิ่งได้รับมาในปี 2023

ที่มา – Skytrax, New York Times, Sydney Morning Herald, การบินไทย, Reuters, งบการเงิน 2007, Baker Tilly

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา