เทรนด์ขายของออนไลน์ 2021 สู้โควิด-19 อย่าพึ่งพาแพลตฟอร์มเดียว-เจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

ขายของออนไลน์ 2021 สู้วิกฤตโควิด กูรู แนะอย่าเพิ่งพาแพลตฟอร์มเพียงอันเดียว ใช้ LINE-Facebook เจาะกลุ่มลูกค้าโดยตรง ด้าน Google ใช้การทำ Remarketing ตามติดลูกค้าไปทุกที่

shopping online

พิจิตรา เรืองวัฒนไพศาล ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม SMEsGoPro ผู้จัดงานสัมมนา SMEsGoPro กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อทุกภาคธุรกิจไม่ว่าเล็กใหญ่ จนถึงส่งผลกระทบให้คนไทยว่างงานจำนวนมาก ธุรกิจออนไลน์จึงกลายเป็นทางเลือกทางรอดของการสร้างรายได้ รวมถึงกลายเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการยุคนี้ จากประสบการณ์คลุกคลีในวงการค้าปลีกประเทศไทย ตั้งแต่ระบบออฟไลน์ดั้งเดิมมาสู่ยุคออนไลน์ มากว่า 15 ปี จึงเข้าใจดีถึงอุปสรรคของผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายกลาง หรือรายย่อยที่เริ่มเข้ามาจับธุรกิจออนไลน์ มักเจอปัญหาคลาสสิคตั้งแต่ไม่รู้จะขายอะไร ไปจนถึงไม่รู้จะเริ่มขายอย่างไร

SMEsGoPro คืออีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ของคนทำธุรกิจออนไลน์ที่ครบวงจร โดยทุกโซลูชั่นของแพลตฟอร์มล้วนมาแก้ไขทุกปัญหาที่คนทำธุรกิจออนไลน์ต้องเจอ จุดเด่น คือการคัดสรรพันธมิตรมืออาชีพในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้ผู้ค้าได้เข้าถึงผู้ผลิตสินค้า องค์ความรู้ และระบบหลังบ้านที่มีคุณภาพ ด้วยบริการ 4 โซลูชั่นหลัก

  1. แหล่งรวมสินค้าราคาผู้ผลิตเพื่อการขายของออนไลน์โดยเฉพาะ (Super Source)
  2. กองทัพนักขายออนไลน์ที่ต้องการเข้าถึงสินค้าราคาผู้ผลิต (Power Seller)
  3. แหล่งรวมความรู้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Power Knowledge) ที่จะคัดโปรตัวจริงผู้เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มนั้นๆ มาให้ความรู้จากประสบการณ์จริง
  4. ผู้ช่วยระบบบริหารจัดการหลังบ้านครบวงจร (Power Support) 

smesgopro, online trend

เทรนด์ขายของออนไลน์ อย่าพึ่งพาแพลตฟอร์มเดียว

ทั้งนี้หนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ การรวมสุดยอดเทคนิคการขายผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์มปี 2021 จากเหล่า Power Knowledge โปรตัวจริงแต่ละแพลตฟอร์ม เริ่มต้นที่ “โปรไหม” พิจิตรา เรืองวัฒนไพศาล นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์การขายสินค้าผ่าน EMarketplace ทุกแพลตฟอร์ม ที่เผยกุญแจสำคัญของการขายของบน EMarketplace (Shopee, Lazada) ด้วยแนวคิดสั้นๆ ว่า “อย่าสร้างสนามบินหลักเพียงสนามบินเดียว” หมายถึง อย่าใช้แพลตฟอร์มเดียวในการขายสินค้าออนไลน์ 

“หัวใจสำคัญการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม EMarketplace (Shopee, Lazada) คือ 1.ให้ลูกค้าหาเราให้เจอบนแพลตฟอร์ม 2.ชวนให้ซื้อ 3.ซื้อให้มากขึ้น 4.ดูแลลูกค้าเก่า ซึ่งทุกขั้นตอนมีวิธีการที่หลากหลายและแตกต่างกันไป”

ทั้งนี้กลยุทธ์การเพิ่มยอดขายแบบทวีคูณที่โปรไหมแนะไว้ได้อย่างน่าสนใจ คือ การสร้างร้านค้าใหม่ (บน Shopee, Lazada) แต่ขายสินค้าเดิม เนื่องจาก Shopee, Lazada ไม่มีค่าธรรมเนียนในการสร้างร้านค้าใหม่บนแพลตฟอร์ม ดังนั้นประโยชน์ของกลยุทธ์นี้ จะช่วยสร้างการแข่งขันกับดีลเลอร์, สร้าง Defend Market Share, สร้างมาตรฐานเชิงราคา, สร้างตัวเทียบเคียงในแพลตฟอร์ม เพราะบน EMarketplace จะมีอัลกอริทึ่มแนะนำสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกันให้ลูกค้าเปรียบเทียบ ทำให้ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อร้านไหน รายได้ก็เข้าร้านเหมือนกัน

นอกจากนี้พิจิตรายังชี้เทคนิคการสู้กับสินค้าจีนที่เข้ามารุก EMarketplace ว่า เน้นการสร้างแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Product Brand, Shop Brand หรือ Personal Brand โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านค้าออนไลน์เติบโตยั่งยืน คือ ความน่าเชื่อ บริการหลังการขายที่ดี เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคการช้อปปิ้งบน EMarketplace เมื่อเชื่อถือช้อปแบรนด์ใดแล้ว ไม่ว่านำสินค้าอะไรมาขายก็ขายได้ ซึ่งการสร้างความต่างให้การแบรนด์เหล่านี้ มาจากการสร้างคอนเทนต์, แพ็คเกจจิ้ง, ข้อเสนอพิเศษต่างๆ และบริการที่แตกต่างกัน

“หมดยุคกับการตั้งราคาสินค้าราคาเดียว (One Price Poicy) เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์จะหมั่นเปรียบเทียบราคาสินค้าอยู่เสมอ ดังนั้นสินค้าแบบเดียว ผู้ขายควรตั้งช่วงราคาที่มีหลายราคา (Dynamic price) และเลือกใช้แต่ละราคาให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากคู่แข่ง, ฤดูกาล และภาวการณ์แข่งขัน”

smesgopro, online trend

กฤษฎา โรจนโสภณดิษฐ์ LINE Certified Coach Thailand เผยว่า ปัจจุบัน LINE มีบัญชีผู้ใช้มากกว่า 47 ล้านบัญชี โตจากปีที่แล้วจาก 3 ล้านบัญชีเป็น 4 ล้านบัญชี โดยเฉพาะเมื่อ LINE มีบริการใหม่เอื้อการขายของออนไลน์ อย่าง LINEMYSHOP ที่สร้างร้านค้าออนไลน์ผ่าน LINE ฟรี และ LINE Ads Platform สามารถลงโฆษณาผ่าน LINE ได้ด้วยตัวเองจากในอดีตที่ต้องผ่านเอเจนซี่ ทำให้การขายสินค้าผ่าน Line มีโอกาสเติบโตอีกมาก

“สำหรับผู้คิดจะทำธุรกิจผ่าน LINE ควรเลือกใช้ Line OA เท่านั้น แต่เรื่องที่นักขายออนไลน์มักมองข้าม คือ หัวใจสำคัญของ LINE คือ การเป็นพื้นที่ของลูกค้าประจำ ดังนั้นถ้าอยากให้เกิดการรักษาลูกค้าประจำและเกิดการซื้อซ้ำควรใช้ LINE ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคนติดตามมากมายเหมือนเฟซบุ๊กหรือไอจี แต่คิดเสมอว่าการเพิ่มคนติดตามใน LINE คือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ประโยชน์จากการติดตามเรา และเขาจะกลายเป็นลูกค้าประจำของเราตลอด”

ชาญชัย แทนนิ่ม ที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์ เจ้าของเพจชีวิตติดจรวด Facebook ที่มาสรุปเทคนิคเฟซบุ๊กเพื่อการขายของออนไลน์ยุคนี้ว่า 1.เน้น CRM การดูแลลูกค้า 2.ยืดหยุ่น อย่ายึดติดกับวิธีการเดิมๆ เช่น เคยยิงโฆษณาแบบนี้แล้วได้ลูกค้า อาจทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว แต่แนะให้ใช้วิธีทดสอบดีกว่าว่าโฆษณาแบบไหนเข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่ากัน 3.สร้างอีโคซีเต็มในช่องทางการขายออนไลน์ที่ผู้ขายมี เช่น ติด Facebook pixel ให้โฆษณาที่ติดตามลูกค้า และท้ายสุด 4.ไม่มีแพลตฟอร์มใดที่ดีสุด จึงควรใช้หลากหลายช่องทางในการโปรโมทและขายสินค้าออนไลน์

“เคล็ดลับที่ทำให้โดดเด่น คือ การสร้างแบรนด์ ซึ่งเฟซบุ๊กที่ดีควรมีคาแรคเตอร์ มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค ที่สำคัญต้องรู้ว่าลูกค้าของเราอยู่ที่ไหน เป็นใคร ใช้แพลตฟอร์มอะไร ใช้เมื่อไร เพราะนี่คือหลักสำคัญในการเลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้า รวมถึงเฟซบุ๊กด้วย เพราะในปี 2021 โฆษณาเฟซบุ๊กจะให้ความสำคัญกับ Custom Audience (กลุ่มเป้าหมายที่เจาะจง) มากขึ้น”

smesgopro, online trend

ด้าน ชาคริต บุญประกอบศักดิ์ ที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์ เจ้าของเพจเสี่ยออนไลน์ Instagram เผยว่า ปี 2021 จะเป็นยุคทองของ IG เนื่องจากจะมียอดผู้ใช้ IG ขายสินค้ามากขึ้น อีกทั้ง IG จะพัฒนาฟังก์ชั่นให้ใกล้เคียงกับเฟซบุ๊ก โดยหัวใจสำคัญของ IG คือ การเสพรสนิยม และเทรนด์ IG ที่กำลังมาแรง คือ วิดีโอ ประเภท How to

“IG เป็นโซเชียลมีเดียที่ถ้าใช้ถูกทาง จะมีต้นทุนการยิงแอดที่น้อยมาก ทั้งนี้ IG อาจไม่ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำเท่ากับ FB แต่ที่ตรงเป๊ะ คือ รูปภาพ โดยประชากรใน IG เป็นผู้หญิง 80% และผู้ชาย 20% แม้ผู้ชายจะน้อย แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมากๆ และเป็นพลังเงียบ ดังนั้นการยิงโฆษณากลุ่มเป้าหมายใน IG แนะนำเลือกอายุ 20-40 ปี เพราะถ้าต่ำกว่านี้จะได้ฐานเด็กกลับมา และถ้ามากกว่า 45 ปี กลุ่มนี้จะเล่น IG น้อย”

ปิดท้ายที่ ณัฐพงศ์ วุฒิกร Google Specialist เผยถึงเทรนด์สำคัญของ Google 2021 ว่า Google จะลดการให้ความสำคัญกับ Keyword ในการโฆษณาน้อยลง แต่ไปเน้น Audiences Target (การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์) มากขึ้น ดังนั้นการทำ Remarketing จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างยอดขาย อีกทั้งประโยชน์ของ Remarketing นอกจากจะช่วยสร้างยอดการมองเห็นที่เยอะกว่าแล้ว ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีแนวโน้มในการซื้อสินค้าด้วย เพราะ 99% ของผู้ที่เข้ามาในเว็บไซต์ ยังไม่เกิดการซื้อ พูดง่ายๆ คือ Google จะหลอนโฆษณามากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา