Reuters รายงาน: สยามกลการ เจรจาความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์จากจีนเพิ่มเติม เดินหน้า EV เต็มตัว

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สยามกลการ อยู่ระหว่างเจรจากับแบรนด์รถยนต์จีนรายอื่น ๆ เพื่อหาโอกาสธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะกับรถยนต์ไฟฟ้าเทคโนโลยีสูง

Nissan Leaf
Nissan Leaf

สยามกลการ กับการมองหาความร่วมมือแบรนด์จีน

Sebastien Dupuy รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด แจ้งกับสำนักข่าว Reuters ว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน โดยเฉพาะกับกลุ่มพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเทคโนโลยีสูง และตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเติบโตนี้

ปัจจุบัน สยามกลการ คือหนึ่งในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของไทย มีรายได้ต่อปีกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ Nissan ในประเทศไทย และตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ Nissan ในปี 1962 ซึ่งเวลานั้นผลิตได้แค่ 4 คัน/วัน เท่านั้น

การเคลื่อนไหวของ สยามกลการ ล้อไปกับการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องของแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีน โดยนับตั้งแต่ปี 2020 มีการลงทุนในไทยรวมแล้วกว่า 1,440 ล้านดอลลาร์ จากแบรนด์ BYD และ Great Wall Motor เพื่อขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และมีเป้าหมายสำคัญคือเขย่าตลาดรถยนต์ที่นี่ที่ถูกแบรนด์ญี่ปุ่นครองมานาน

แบรนด์ญี่ปุ่นกับความล่าช้าในการบุกรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหายอดขายลดลงในประเทศจีน และกำลังถูกแบรนด์รถยนต์จากจีนเขย่าตลาดต่าง ๆ ในพื้นที่เอเชีย ซึ่งตลาดนี้แบรนด์ญี่ปุ่นครองอันดับ 1 มาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะในไทยที่ดีลเลอร์ และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เริ่มหันไปร่วมมือกับแบรนด์รถยนต์จากจีนเพิ่มเติม แทนที่จะอยู่กับแบรนด์ญี่ปุ่นเท่านั้น

แม้แบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นจะทำตลาดในไทยมานาน และให้ความสำคัญกับประเทศไทยเหมือนเป็นส่วนขยายของตลาดในประเทศญี่ปุ่น จนไทยเป็นเบอร์ 1 ในจำนวนการผลิต และส่งออกรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน และมีตลาดรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคนี้ เป็นรองแค่อินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า

อย่างไรก็ตามหากวัดจากการลงทุน กลุ่มทุนจากจีนได้แซงกลุ่มทุนญี่ปุ่นขึ้นไปเป็นกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดในไทยปี 2022 โดยมีปัจจัยสำคัญคือการลงทุนโรงงานของ BYD ในไทยที่จะเริ่มขึ้นไลน์ผลิตในปี 2024 และได้รับการสนับสนุนการลงทุนในแง่มุมต่าง ๆ จากภาครัฐ

เจาะตัวเลขตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ในปี 2022 มีจำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในประเทศไทยราว 8.5 แสนคัน โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเพียง 1% แต่ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2023 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าล้วนกลับเพิ่มขึ้นมาเป็นสัดส่วนมากกว่า 6% มี BYD เป็นผู้นำตลาด ผ่านจำนวนจดทะเบียน 7,300 คัน รองลงมาเป็นแบรนด์ MG และ Neta

ส่วน Tesla มีการจดทะเบียนราว 18,481 คัน ในช่วงเวลานั้น ในทางกลับกันมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบรนด์ Toyota เพียง 11 คัน เท่านั้น ซึ่งสวนทางกับความเป็นผู้ครองตลาดรถยนต์ในประเทศไทยที่หากรวมแบรนด์ Isuzu กับ Honda จะกินสัดส่วนกว่า 70% ของตลาด

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Toyota และบริษัทในเครือมีการลงทุนในไทยกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ จ้างงานกว่า 2.75 แสนคน และแจ้งว่ามีความสนใจในการขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในไทย รวมถึงมีการรายงานยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่น bZ4X ในไทยกว่า 3,356 คัน ใน 24 ชม. หลังจากเริ่มจำหน่ายในไทยช่วงสิ้นปี 2022

BOI ติดสปีดเร่งการลงทุนในประเทศไทย

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรกของปี 2023 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้น 18% และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางล้อ เพลาล้อ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลังแบบ Hybrid และสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV

ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี ประกอบด้วย เช่น BYD, Great Wall Motor, SAIC (MG), Mercedes Benz และ Horizon Plus ยังมีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในไทยแล้ว เช่น Changan Automobile และ GAC AION ซึ่งคาดว่าจะทยอยยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

อ้างอิง // Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา