ฟังเสียงพิธา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก่อน กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

“ประชาชนตื่นแล้ว เขาตื่นและเห็นความหวัง
ความเปลี่ยนแปลงที่รอมานาน
ผมมีหน้าที่พิทักษ์และปกป้องเสียงประชาชนที่ได้ออกคะแนนมาแล้ว
ประชาชนไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องผม
ผมมีหน้าที่ปกป้องประชาชน”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่วงที่ถูกตั้งคำถามเรื่องเกี่ยวกับการปลุกพลังมวลชน พิธาระบุว่า “ประชาชนตื่นแล้ว ทำไมใครต้องไปปลุกอีก เขาตื่นและเห็นถึงความหวัง ความเปลี่ยนแปลงที่รอมานาน เขาก็ส่งเสียงมานาน แต่มันยังไม่ถึงฝั่งสักทีหนึ่ง เขาคิดมาแล้ว แต่มันยังไม่ถึง เขาโหวตมาแล้ว แต่มันยังไม่ถึง เพราะฉะนั้นผมก็มีหน้าที่ที่จะลงไปพิทักษ์และก็ปกป้องเสียงของประชาชนที่ได้ออกคะแนนมาแล้ว ประชาชนไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องผม ผมมีหน้าที่ปกป้องประชาชนและคอยอัพเดต”

“อย่างที่ผมพูดไปแล้วช่วงเริ่มรายการ ว่าตอนนี้มันคือสถานการณ์ความกังวลปะทะกับความกังวล ฝั่งหนึ่งก็กังวลว่าผมจะได้เป็นนายกฯ อีกฝั่งหนึ่งก็กังวลว่าลงคะแนนไปแล้ว อาจจะลงคะแนนให้ผมหรือพรรคอื่นแล้วมันไม่เป็นไปตามนั้น

“ผมก็พยายามที่จะลงพื้นที่เพื่อคลายข้อกังวล คลายความตึงเครียด หล่อเลี้ยงความหวังที่มาจากเค้าผ่านการเลือกตั้ง ผมก็พยายามที่จะหล่อเลี้ยงเขาว่า OK ไม่เป็นไร รู้ว่ามันมีขวากหนามเยอะ เมื่อวานไปสมุทรปราการ ทำไมมีปราการก่อนจะเป็นนายกฯ อย่างนู้น อย่างนี้เยอะ เดี๋ยวก็จะแก้ข้อบังคับ เดี๋ยวก็มาเร่งรัด เดี๋ยว กกต. ก็ประชุมกันเยอะแยะ จะเกิดอะไรขึ้นกันแน่เนี่ย”

“ฉันก็เลือกของฉันมาแล้ว ทำไม มันยังไม่จบสักที”

“เลือกไปแล้วยังต้องมาลุ้นอีก”

อันนี้คำพูดคุณยายเมื่อวานนี้ “ฉันเลือกมาแล้ว ทำไมฉันยังต้องมาลุ้นอีก”

“แต่ก็อย่างที่บอกว่าสถานการณ์ผมก็ยังมีความมั่นใจแต่มันประมาทไม่ได้ กระพริบตาไม่ได้จริงๆ ในช่วง 24 ชั่วโมงสุดท้าย ก็ยังยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในช่วง 24 ชั่วโมงสุดท้ายและก็พรุ่งนี้จะใช้เวทีรัฐสภาเป็นเวทีในการพูดคุย”

คำถามเรื่องกระแสต่อต้านจากสมาชิกวุฒิสภา?

พิธากล่าว “ไม่ได้เกินความคาดหมาย และก็ได้พูดคุยกัน ผิดคาดตรงที่ว่าจริงๆ แล้วมันมีอะไรที่เราทำร่วมกันได้เยอะกว่าที่คิด เพราะว่าก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้พูดคุยกันเท่าไร แต่จริงๆ แล้วมันมีเรื่องที่เราเห็นร่วมกันเยอะกว่าที่เราเห็นต่างกัน แล้วท่านเห็นต่างอะไร ท่านถามมา อย่างที่พี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) มีแบ่งแยกดินแดนไหม มีฐานทัพที่เชียงใหม่ไหม ท่านทูตสหรัฐฯ ก็ออกมาพูดแล้วว่ามันไม่ได้เป็นความจริง เขาเป็นกลางทางการเมือง”

“หรือว่าแม้กระทั่งท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ได้อธิบายต่อเขาเหมือนกับที่อธิบายกับพี่ยุทธไปเมื่อกี้ ก็ดูเบาลง เข้าใจกันมากขึ้น พูดคุยกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น”

“แต่ว่าสิ่งที่เห็นว่า มีความพยายามที่จะสกัดกั้นผมทุกวิถีทาง ที่เคยคาดคิดว่าเริ่มที่จะมีการตะลุมบอนใน 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา”

“ผมได้ปราศรัยหลายครั้งๆ ว่าต้องอย่าเหมารวมวุฒิสภาอันที่หนึ่ง อันที่สองต้องชื่นชมและขอบคุณในความกล้าหาญของเขา ว่ามีทั้งพระเดช พระคุณ มีพระคุณคือให้กล้วย ให้สินจ้าง ให้ตำแหน่งก็มี ได้ข่าวมาว่า มีการขู่ มีแบล็คเมล์ เท่าที่ได้ยินมีการขู่ว่า บัญชีทรัพย์สินระวังไว้ให้ดีนะ หลังจากลงจากวุฒิสภา มีทั้งพระเดช พระคุณ”

“แต่ยังมีวุฒิสภาจำนวนมากที่ยังกล้าหาญและออกมาบอกกับประชาชนว่า เขาก็เป็นนักการเมืองของประชาชนเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเขา ที่จะต้องมาตัดสินเรื่องคดีอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเขา ที่จะต้องตัดสินนโยบายอะไรก็แล้วแต่ แต่ในเมื่อประชาชนเสียงข้างมากเลือกมาแล้ว เขาคือวุฒิสภาที่อยู่ข้างประชาชน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่วุฒิสภาต้องใช้ความกล้าหาญอย่างหนัก พวกท่านก็เป็นปัจเจกชนที่มีประสบการณ์ในการทำงาน ท่านอาจจะเป็นอดีตข้าราชการ ท่านอาจจะเป็นอดีตข้าราชการในกองทัพมาก่อน ท่านก็มีความคิดความอ่านของตัวเอง และก็มีหลักการของตัวเองเช่นเดียวกัน”

“ต้องชื่นชมว่าท่านใช้ความกล้าหาญและความอดทนมาก อย่างที่เห็นในไลน์แชทหลุดว่าที่ยืนยันแล้วว่ามีจริงในไลน์กลุ่ม ส.ว. ตามที่คุณสรยุทธได้พูดขึ้นมา แต่เขาก็ยังยืนยันว่า จะโหวตตามเสียงข้างมาก ซึ่งไม่มีชื่อพิธาอยู่ในนั้นเลยนะครับเท่าที่ผมฟัง ไม่มีชื่อพรรคก้าวไกลอยู่ในนั้นเลยนะครับ มีแต่คำว่าประชาชน มีแต่คำว่าเสียงข้างมาก และเมื่อระบบมันเป็นอย่างนั้นเมื่อไรปุ๊บ”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

“ถึงแม้วันนั้นผมเป็นนายกฯ ท่านก็ยังตรวจสอบผมได้ สื่อมวลชนก็ยังตรวจสอบผมได้ อีก 3-4 ปีถ้าผมทำไม่ได้อย่างที่ผมพูด ท่านก็มีสิทธิที่จะโหวตผมออกจากตำแหน่งได้ ระบบมันเป็นอย่างนั้น และก็จะมีคนที่ท่านเห็นว่าดีกว่าขึ้นมาแทน ผมก็ต้องยอมแพ้ ผมก็จะส่งมอบสิ่งที่ผมยังทำไม่ทำสำเร็จให้เขาอย่างดีที่สุด เพราะเราเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง เพราะว่าเราเอาระบบมาเป็นที่ตั้งไง”

“แต่ถ้าเกิดคุณบอกว่าไม่ใช่ ผมหมั่นไส้ อย่างที่พี่สรยุทธ์ถาม คนบอกว่าเป็นสนามเด็กเล่น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ผมอายุ 42 ปีแล้ว เป็นฉันทามติระหว่างคนรุ่นใหญ่กับคนรุ่นใหม่ได้พอดี ก็ ส.ส. อายุน้อยที่สุด 25 ปี ผม 42 ปี ผมก็ไม่ได้เด็กครับ และก็เป็นคนที่อยู่ในจุดที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นใหม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่ว่าอย่างที่บอก มันคือการให้เป็นระบบหลักการเสียงข้างมาก เหมือนที่เขาบอกว่า ก็ปี 62 พลเอกประยุทธ์ รวมเสียงในสภาล่างได้เกินครึ่ง ก็โหวตตามนั้น ปีนี้ พิธาหรือ นาย ก. นาย ข. สามารถที่จะรวมได้ 312 เสียงก็ต้องโหวตตามนั้นเช่นเดียวกัน แค่นั้นเลย”

“ผมก็คิดว่ามันต้องใช้ความกล้าหาญขนาดไหน เพราะว่ามันมีทั้งความกดดันลงมา รวมถึงมีการจูงใจด้วยกล้วย ด้วยตำแหน่ง และมีคดีความมากดดันอีก แต่ท่านก็ยังยืนยันมากมายว่าไม่ ระบบก็คือระบบ มติก็คือประชาชน นี่คือสิ่งที่ต้องยืนยันในหลักการ”

สรยุทธระบุว่า “ใน 48 ชั่วโมงนี้มาเต็มมาก ก่อนจะโหวต โหวตได้ครั้งเดียว โดยอ้างว่า มีข้อบังคับเรื่องญัตติ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งคัดค้านว่ากรณีของการโหวตเรื่องนี้เป็นการโหวตเรื่องนายกฯ กฎหมายไม่เคยห้ามว่าโหวตซ้ำได้ แต่สุดท้ายอาจเป็นการขอมติจากที่ประชุม ขอมติ แปลว่า ที่ประชุม 750 เสียงส่วนใหญ่ว่ายังไง แล้วลงมติ”

“สมมติให้เสนอได้ครั้งเดียว สัญญาณจากรองนายกฯ วิษณุ ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าโหวตกี่ครั้งก็ได้ โหวตทุกวันยังได้เลย แต่ล่าสุดบอกว่าขึ้นอยู่กับประธานสภาและสมาชิกวุฒิสภา ไปตกลงกัน นั่นแปลว่า ถ้าตกลง สมมติในทางร้าย คุณพิธาไม่ได้ จะว่ายังไง”

พิธา กล่าว “อันนี้ก็เป็นหนึ่งในสัญญาณตะลุมบอน ก่อนที่จะตอบชัดๆ อันนี้มีเชิงอรรถให้ท่านผู้ฟังฟังก่อน อันที่หนึ่งคือ เมื่อวานที่มีการประชุมวิปสามฝ่าย ประธานวันนอร์เป็นประธาน บอกว่าพรุ่งนี้ในการอภิปราย จะเน้นที่คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว เรื่องกระบวนการในการโหวต ว่าโหวตกี่ครั้ง มีการเลื่อนประชุม อะไรประมาณนี้ ไม่มี ที่วิปสามฝ่ายคือวุฒิสภา ตัวแทนที่จะเป็นรัฐบาลและตัวแทนที่จะเป็นฝ่ายค้าน ตกลงกันแล้วเมื่อวาน มีการวิปไปแล้ว ว่าสิ่งออกมาเป็นข่าวตรงนี้ จะไม่เกิดขึ้นในการประชุมวันพรุ่งนี้นะ”

“แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามันมีอะไรที่หลุดออกจากในสัญญากันไว้ หรือหลุดออกจากวิปกันไว้ ทางฝั่งเราก็เตรียมพร้อม ถ้ามี ซึ่งจริงๆ เราจะไม่พูดอยู่แล้ว เพราะเราสัญญาไปแล้วว่าคือการอภิปราย คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้มีการอภิปรายกันในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการ”

“สถานการณ์อย่างนี้ ถ้าเป็นภาษารัฐศาสตร์ เขาเรียก Hung Parliament คือแขวนไว้ คือสถานการณ์ที่หาข้อยุติในรัฐสภาไม่ได้ บางประเทศ อย่างเบลเยียมหรือเอสโตเนีย ก็ใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะหาข้อยุติไม่ว่าจะผ่านงบประมาณ หรือได้ตัวนายกฯ หรือได้ตัวประธานสภา แต่เขายึดว่า เจตจำนงของประชาชนต้องการแบบไหน เขาต้องการให้คนนี้เป็นประธานสภา เพราะฉะนั้น โหวตไป วิปไป โหวตไป วิปไป จนกระทั่งได้ประธานสภาคนเดิม 15 ครั้ง”

“สิ่งที่น่าจะอนุมานเปรียบเทียบกันได้ก็คือในเมื่อเขาให้ฉันทานุมัติ พรรคว่าจะเลือกใครเป็นประธานสภา และตามเจตจำนงของประชาชนที่ให้มา และต้องหาข้อตกลง มีการประนีประนอมอะไรก็แล้วแต่ เพื่อที่จะให้ได้คนคนนั้นเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติของเขาให้ได้”

“ฝั่งนี้ก็คงเหมือนกันว่า ประชาชนจำนวนมากรวม 14 ล้านเสียงก็เลือกพรรคก้าวไกลให้มาเป็นอันดับ 1 และเขาก็ให้ฉันทานุมัติผมมา ให้ไปจัดตั้งรัฐบาลมา ผมก็จัดตั้งรัฐบาลมา ดึงมา 8 พรรค ได้มา 312 เสียงจาก 500 เสียง ทั้งหมดประมาณ 25 ล้านเสียง ก็รวม 70% กว่าของคนที่ไปใช้สิทธิทั้งหมดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา”

“อันนี้ก็คือเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นถ้ายึดตรงนี้ไว้ ก็ควรจะยึดโยงกับสิ่งที่ประชาชนได้ส่งเสียงออกมาอย่างสุดความสามารถที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ที่มา – ดูเนื้อหาเต็มจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่นี่ (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา