เปิดงบ Shopee กับเกมเผาเงินที่ไม่มีใครยอมใครในอาเซียน ระหว่าง Tencent และ Alibaba

Brand Inside พาคุณไปแกะงบของ Sea Group เจ้าของ Shopee โดยเฉพาะงบของ Shopee ที่ยังขาดทุน และมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ Alibaba และ Tencent

ภาพจาก Shutterstock

ถึงจะ IPO ไปในปี 2017 แต่ในช่วงที่ผ่านมา Sea Group หรือที่สมัยก่อนเรารูจักกันดีว่า Garena ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Shopee ก็ลงทุนอย่างหนักกับแพลตฟอร์มนี้ แต่อย่างไรก็ดี Platform อย่าง Shopee ก็ยังขาดทุนอยู่จนถึงปัจจุบัน

ขอเกริ่นเล็กน้อยถึงกำเนิดของ Shopee ว่าเริ่มในปี 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนที่จะขยายธุรกิจทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบัน Shopee ให้บริการในประเทศสิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศแรกนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ไต้หวัน

Brand Inside พามาแกะดูงบคร่าวๆ ของ Sea Group ว่า Shopee ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

มาดูงบกันดีกว่า

เราจะขอข้ามปีที่ Sea Group นำบริษัท IPO ในปี 2017 ซึ่งสำหรับ Shopee ในปี 2017 นั้นมีรายได้ 47.444 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้นทุน 107.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้คิดง่ายๆ ว่า 2017 Shopee ขาดทุนอย่างน้อย 59.81 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,903 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2018 นั้น Shopee งบคร่าวๆ เป็นดังต่อไปนี้

  • ไตรมาส 1/2018 รายได้ 
    • รายได้รวม 34 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ต้นทุนและค่าใช้จ่าย 127 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ขาดทุนจากการดำเนินงาน 184 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • Adjusted EBITDA เท่ากับ ขาดทุน 180 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ไตรมาส 2/2018
    • รายได้รวม 59 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ต้นทุนและค่าใช้จ่าย 138 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ขาดทุนจากการดำเนินงาน 195 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • Adjusted EBITDA เท่ากับ ขาดทุน 188 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ไตรมาส 3/2018
    • รายได้รวม 71 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ต้นทุนและค่าใช้จ่าย 153 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ขาดทุนจากการดำเนินงาน 132 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • Adjusted EBITDA เท่ากับ ขาดทุน 130 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ไตรมาส 4/2018 
    • รายได้รวม 118 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ต้นทุนและค่าใช้จ่าย 184 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ขาดทุนจากการดำเนินงาน 178 ล้านเหรียญสหรัฐ
    • Adjusted EBITDA เท่ากับ ขาดทุน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ 

Note: Adjusted EBITDA เป็นผลกำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย

ถ้าหากคิดเต็มๆ ปีแล้ว ปี 2018 Shopee มีรายได้รวม 292 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 28% ของรายได้ Sea Group ส่วนต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในปี 2018 อยู่ที่ 602 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ขาดทุนจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 290 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผลกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินคือขาดทุน 277 ล้านเหรียญสหรัฐ

นี่คือเกมเผาเงินล้วนๆ

หลังจากเราได้ดูงบการเงินไปคร่าวๆ ของ Shopee ไปแล้ว จะเห็นว่า Sea Group ตั้งใจทุ่มเทกับ Shopee เป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากคู่แข่งของ Shopee ที่ชนกันตรงๆ เลยคือ Lazada จากทาง Alibaba นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนศึกของ 2 บริษัทจีน เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Sea Group คือ Tencent แน่นอนว่าเกมนี้ไม่มีใครยอมใคร

และล่าสุด Sea Group พึ่งเพิ่มทุนไปอีก 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ นำโดย Tencent เพื่อที่จะลงทุนกับ Shopee เพิ่มเติมด้วย แน่นอนว่าเงินเพิ่มทุนที่ได้จาก Tencent ครั้งนี้ เป้าหมายคือบดขยี้ Lazada รวมไปถึงแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับ Shopee เพิ่มเติม

คาดว่าเราจะเห็นงบไตรมาสถัดไปของ Sea Group โดยเฉพาะ Shopee น่าจะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการทำการตลาดใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า Shopee อัดโฆษณาทุกช่องทาง เช่น ทีวี ออนไลน์ ฯลฯ

ตลาดอาเซียนยังดี

ไม่ใช่แค่ Lazada กับ Shopee แค่นั้น แต่โลกของ E-commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีผู้เล่นรายอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น Tokopedia จากประเทศอินโดนีเซีย หรือแม้แต่ผู้เล่นรายอื่นๆ ในประเทศต่างๆ หรือแม้แต่ E-commerce เฉพาะทาง อย่างเช่น Zilingo หรือแม้แต่ Pomelo 

เราจะเห็นในช่วง 1-2 ปีนี้ว่าเม็ดเงินมหาศาลไม่ว่าจะเป็นจาก Venture Capital และรวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีเช่น Tencent และ Alibaba กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เช่น Temasek จากสิงคโปร์ รวมไปถึงยักษ์ใหญ่อย่าง SoftBank Vision Fund ก็ต่างเพิ่มเม็ดเงินลงทุนใน E-commerce เหล่านี้เป็นว่าเล่น

สาเหตุที่เม็ดเงินมหาศาลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีรายใด โดยเฉพาะ “โลกช้อปปิ้งออนไลน์” ที่ยังไม่มีใครสามารถยึดครองอันดับ 1 ได้แบบเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้พลังเศรษฐกิจในอาเซียนที่โตวันโตคืน ยิ่งทำให้ใครๆ ก็อยากมาลงทุน จึงทำให้เกมนี้ยังเป็นสงครามไปอีกยาวๆ

ที่มา –  Sea Group, SEC [1], [2], Crunch Base

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ