ศึกครั้งนี้ไม่ธรรมดา Alibaba และ Tencent ห้าม VC ลงทุนในบริษัทลูกจากทั้ง 2 แห่งพร้อมกัน

สงครามระหว่าง Alibaba และ Tencent อาจลุกลามไปถึงเรื่องของเงื่อนไขการลงทุนในบริษัทลูก โดย Venture Capital ไม่สามารถลงทุนในบริษัทลูกทั้ง 2 แห่งได้อีกต่อไป

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากทาง Ant Financial ได้เปิดให้นักลงทุนผู้สนใจลงทุนในรอบสุดท้าย ซึ่งได้เงินไปไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแหล่งข่าวไม่ระบุชื่อได้กล่าวว่าเรื่องนี้อาจสร้างความหนักใจให้กับเหล่า Venture Capital รายใหญ่ๆ หรือแม้แต่กองทุนความมั่งคั่งของหลายๆ ประเทศ ที่ชื่นชอบบริษัทจีน 2 รายนี้ อาจต้องเลือกเพียงรายใดรายหนึ่งเท่านั้น

เลือกเราหรือจะเลือกเขา

เงื่อนไขดังกล่าวสำหรับผู้ลงทุน Ant Financial ในรอบสุดท้ายคือ ห้ามลงทุนหรือเพิ่มสัดส่วนหุ้นในบริษัทลูกของคู่แข่ง คือ Tencent หรือ JD.com โดยเด็ดขาด ซึ่งทำให้ Venture Capital อย่าง Tiger Global Management ถึงกับรับไม่ได้ในเงื่อนไขนี้

ทางด้าน Tencent และ JD.com ก็แก้เผ็ดคืนโดยผู้ที่ลงทุนใน Ant Financial ห้ามลงทุนหรือเพิ่มสัดส่วนหุ้นในรอบสุดท้ายของ Meituan-Dianping และรวมไปถึง E-commerce ดาวรุ่งอย่าง Pinduoduo ที่กำลังจะ IPO เหมือนกัน

โดยก่อนหน้านั้น ในสหรัฐเคยมีกรณีเช่นกันคือ Uber กับ Lyft ในปี 2015 ก็มีเงื่อนไขห้ามผู้ลงทุน ทำการลงทุนในคู่แข่งเป็นระยะเวลาหนึ่ง

ทั้งสตาร์ทอัพและสถาบันการเงินโดนหางเลขไปด้วย

Wall Street Journal รายงานว่าสตาร์ทอัพในจีนที่อาศัยเงินลงทุนจากทาง Tencent ก็โดนเงื่อนไขนี้ไปด้วยเช่นกัน โดยเงื่อนไขมีอยู่ว่าถ้าหากรับเงินลงทุนมาจากทางบริษัทแล้ว ห้ามรับเงินลงทุนหรือแม้แต่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับทาง Alibaba

ถึงแม้ว่าตัวแทนของทาง Tencent เองจะออกมากล่าวว่า บริษัทไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ ให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในบริษัทลูก เพราะว่าเงื่อนไขเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับทางตัวบริษัทที่เหล่านักลงทุนสนใจเองและทำให้กระทบถึงนักลงทุนด้วย

แม้แต่สถาบันการเงินก็โดนในเรื่องนี้ อาทิเช่น วาณิชธนกิจของจีนอย่าง CICC ตอนแรกได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของ Meituan-Dianping ในช่วงที่จะเข้า IPO แต่หลังจากที่ทาง CICC ดูแลเรื่องของทาง Alibaba จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จีนโดยใช้ CDR ทาง Meituan-Dianping เลยเปลี่ยนใช้บริการของทาง Bank Of America Merrill Lynch ทันที

ที่มาWall Street Journal

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ